โรงเรียนแพทย์ระส่ำ เจอวิกฤต"อาจารย์ใหญ่"ขาดแคลน กระทบนักศึกษา-แพทย์ฝึกหัด-จบใหม่ หวั่นหมอใหม่ฝึกฝนทักษะน้อย เสี่ยงโดนฟ้องร้องหากผ่าตัดผิดพลาด เผยแม้มีคนแจ้งบริจาคนับพันแต่ได้ร่างจริงแค่ร้อยกว่าร่างต่อปี "มหิดล"มีน้อยสุดเพียง 5 ร่างต่อปี
ขณะนี้ได้เกิดวิกฤต "อาจารย์ใหญ่" ขาดแคลน
อันเนื่องมาจากตัวเลขการบริจาคร่างไร้วิญญาณที่พร้อมจะให้นิสิต นักศึกษาแพทย์ แพทย์ฝึกหัด รวมทั้งอาจารย์แพทย์ใช้เป็นตำราเรียนเริ่มลดน้อยลงทุกๆ ปี จนไม่เพียงพอต่อความต้องการ ส่งผลกระทบกับการเรียนการสอนวิชาแพทย์หลายสถาบัน ซึ่งนับเป็นเรื่องที่น่าห่วงอย่างมาก ผู้สื่อข่าว "มติชน" ได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงไปยังภาควิชากายวิภาคศาสตร์ มหาวิทยาลัยต่างๆ พบว่า สภาพดังกล่าวเกิดขึ้นจริง บางสถาบันมีตัวเลขการบริจาคร่างไร้วิญญาณเป็นอาจารย์ใหญ่เหลือเพียงร่างเดียว
จากข้อมูลของคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย พบว่าตัวเลขการบริจาคร่างกายของผู้มีจิตศรัทธามีจำนวนมากพอสมควร เมื่อปี 2549
มีถึง 4,454 ราย ในปี 2550 จำนวน 3,238 ราย ปี 2551 จำนวน 7,462 ราย และปี 2552 และตั้งแต่เดือนมกราคมถึงเมษายน จำนวน 1,031 ราย แต่ตรงกันข้ามร่างอาจารย์ใหญ่จริงๆ กลับไม่มากเท่าที่ควร เพราะผู้แสดงความจำนงบริจาคส่วนใหญ่เป็นคนวัยหนุ่มสาว และอีกส่วนหนึ่งยังไม่ถึงอายุขัย ทำให้ปี 2549 ได้รับร่างเพียง 171 ร่าง ปี 2550 ได้รับ 212 ร่าง และปี 2551 ได้รับเพียง 185 ร่าง
วงการแพทย์วิกฤต อาจารย์ใหญ่ ขาดแคลน หวั่นหมอมือใหม่ได้ฝึกฝนน้อย
รศ.นพ.ธันวา ตันสถิตย์ หัวหน้าภาควิชากายวิภาคศาสตร์ ผู้อำนวยการศูนย์การฝึกผ่าตัด คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ เปิดเผยว่า จำนวนร่างอาจารย์ใหญ่ที่ได้รับบริจาคในแต่ละปีนั้น ไม่เพียงพอต่อความต้องการ
ถ้าคำนวณความต้องการจริงๆแล้วแต่ละปีใช้ไม่ต่ำกว่า 200 ร่างทีเดียว ปีที่แล้วจุฬาฯรับนิสิตแพทย์ 290 คน ปีนี้เพื่อสนองความต้องการของประเทศชาติจึงเพิ่มขึ้นเป็น 310 คน นอกจากนี้ ยังมีแพทย์ประจำบ้าน แพทย์เฉพาะทาง และอาจารย์แพทย์ที่ต้องการใช้อาจารย์ใหญ่ โดยแต่ละปีนิสิตแพทย์ปี 2 จะเรียนวิชากายวิภาคศาสตร์กับอาจารย์ใหญ่ประมาณ 50 ร่าง ส่วนแพทย์อื่นๆ ต้องใช้อีกประมาณ 150 ร่าง คณะพยายามบริหารจัดการการเรียนจากอาจารย์ใหญ่ที่มีอย่างจำกัดให้เพียงพอ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด อย่างนิสิตแพทย์ จากเดิม 4 คนต่อ 1 ร่าง แต่เมื่อรับเพิ่มขึ้นก็เป็นนิสิต 6 คนต่อ 1 ร่าง ส่วนแพทย์กลุ่มอื่นๆ พยายามนำอาจารย์ใหญ่ส่วนของร่างกายที่ยังไม่ได้เรียน กลับมาใช้ซ้ำ ทำให้สามารถนำมาเรียนได้หลายครั้ง
"ถ้ายังปล่อยให้สถานการณ์เป็นเช่นนี้ ไม่แน่ใจว่าในปีต่อๆ ไปร่างที่ใช้ฝึกทักษะการผ่าตัดด้วยเทคโนโลยีใหม่ๆ จะพอหรือไม่ ในอนาคตอันใกล้ผมเชื่อว่าความต้องการอาจารย์ใหญ่จะเพิ่มขึ้นจากเดิมถึง 300% ถ้าต่อไปไม่เพียงพอ หรือไม่มีให้แพทย์ได้ฝึกทักษะการผ่าตัดก่อน ผลที่จะตามมาคืออาจทำให้การรักษาผิดพลาดได้ซึ่งเรื่องนี้เป็นสิ่งที่สำคัญมาก" รศ.นพ.ธันวากล่าว และว่า ผู้ต้องการอุทิศร่างกายเป็นอาจารย์ใหญ่ติดต่อได้ที่แผนกอุทิศร่างกายเพื่อการศึกษา "ศาลาฑินทัต" โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ หรือสอบถามโทร. 0-2256-4628 และ 0-2256-4281
ด้าน รศ.พรจันทร์ สายทองดี อาจารย์ประจำภาควิชากายวิภาคศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
กล่าวถึงปัญหาในทำนองเดียวกันว่า ตัวเลขผู้แจ้งความจำนงค์บริจาคแต่ละปี ให้คณะแพทยศาสตร์ รามาธิบดีอยู่ระหว่าง 800-900 ราย แต่จำนวนที่ได้รับมาจริงนั้นเฉลี่ยปีละ 80-90 ร่าง ส่งผลให้ต้องเพิ่มนักศึกษาแพทย์ 6-7 คนต่ออาจารย์ใหญ่ 1 ร่าง และใช้เรียนตลอดทั้งปี ตรงนี้ยังถือว่าพอรับได้ ไม่เป็นปัญหาเท่าไร แต่ที่น่าเป็นห่วงและเป็นปัญหามาก คือร่างอาจารย์ใหญ่ที่ใช้สำหรับแพทย์จบใหม่ และแพทย์เฉพาะทางได้ฝึกหัดก่อนออกไปรักษาคนไข้จริงนั้น จำนวนผู้บริจาคเข้ามาน้อยมาก อย่างในปี 2551 มีผู้บริจาคเพียง 5 ร่าง ซึ่งเป็นจำนวนน้อย แพทย์ทุกคนต้องใช้ร่างของอาจารย์ใหญ่ที่มีอยู่อย่างจำกัดให้มีประโยชน์มากที่สุด
รศ.พรจันทร์กล่าวด้วยว่า สาเหตุที่มีผู้บริจาคร่างอาจารย์ใหญ่สำหรับให้แพทย์ฝึกใช้ผ่าตัดน้อย เพราะจำเป็นต้องได้ร่างอาจารย์ใหญ่หลังจากเสียชีวิตในทันที
เพื่ออวัยวะต่างๆ เป็นธรรมชาติมากที่สุด แต่ส่วนใหญ่ญาติจะไม่ยอม เพราะต้องการนำร่างไปประกอบพิธีกรรมทางศาสนาก่อน อย่างต่ำประมาณ 3 วัน ซึ่งร่างที่ผ่านการฉีดน้ำยามาแล้วนั้น เส้นเอ็น ข้อต่างๆ จะตึงแข็ง อวัยวะต่างๆ ไม่เป็นธรรมชาติเหมือนตอนเสียชีวิตใหม่ๆ ทำให้การศึกษาฝึกผ่าตัดของแพทย์ไม่ได้ผลเท่าที่ควร ทางแก้ปัญหาแพทย์จึงต้องทำความเข้าใจกับญาติถึงประโยชน์และความสำคัญของการบริจาคร่างภายหลังเสียชีวิตทันที
"หากจำนวนอาจารย์ใหญ่ยังขาดแคลน ผลกระทบโดยตรงคือ ความเสี่ยงในการผ่าตัดรักษาคนไข้ที่อาจเกิดการผิดพลาดขึ้นได้ เพราะแพทย์จะไม่ได้ฝึกฝนทักษะการผ่าตัดหรือวิธีการรักษาจากร่างของอาจารย์ใหญ่ก่อนที่จะมารักษาคนไข้จริง แพทย์อาจมีความเสี่ยงที่จะถูกฟ้องร้องมากขึ้นหากรักษาผิดพลาด รวมทั้งเป็นอุปสรรคต่อการวิจัยและพัฒนาทางการแพทย์ในรูปแบบใหม่ตามความก้าวหน้าของเทคโนโลยี" รศ.พรจันทร์กล่าว