ช็อกคนไทย 24 ล้านคนเป็นพาหะ ธาลัสซีเมีย

ภาพประกอบอินเตอร์เน็ต

เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 20 เมษายน นายมานิต นพอมรบดี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) กล่าวในงานแถลงข่าว “การจัดประชุมสัมมนาวิชาการธาลัสซีเมียแห่งชาติ ครั้งที่ 15 ประจำปี 2552 : Good will Hope-Best Practice : ตั้งใจงาม ความหวังดี วิธีเลิศ”  ซึ่งจะจัดขึ้นในระหว่างวันที่ 22-24 เมษายนนี้ ที่จ.อุดรธานี ว่า  โรคธาลัสซีเมียเป็นโรคเลือดจางที่มีการถ่ายทอดทางพันธุกรรม เกิดจากความผิดปกติของยีนที่ควบคุมการสร้างฮีโมโกลบินในเม็ดเลือดแดง ผู้ที่มียีนธาลัสซีเมียมีทั้งผู้ที่เป็นโรคและไม่เป็นโรคหรือพาหะ โดยผู้ที่เป็นโรคจะมีอาการแตกต่างกัน ส่วนผู้ที่เป็นพาหะจะมีสุขภาพปกติเหมือนคนทั่วไป  โรคธาลัสซีเมียที่พบบ่อยในประเทศไทยมี 3 ชนิด คือ โรคฮีโมโกลบินบาร์ท ไฮดรอพส์ฟิทัลลิส มีความรุนแรงที่สุดผู้ป่วยจะเสียชีวิตในครรภ์ หรือหลังคลอดภายใน 24 ชั่วโมง รองลงมาคือโรคโฮโมซัยกัสเบต้าธาลัสซีเมีย ต้องรักษาด้วยการให้เลือด และยาขับเหล็ก และโรคเบต้าธาลัสซีเมีย/ฮีโมโกลบินอี ซึ่งแต่ละชนิดมีอาการแตกต่างกัน ผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการน้อยมากจนไม่ต้องให้การรักษา

นายมานิต กล่าว่า สำหรับประเทศไทยพบว่า มีผู้ป่วยโรคธาลัสซีเมียทั่วประเทศประมาณ 630,000 คน คิดเป็นร้อยละ 1  และมีผู้ที่เป็นพาหะประมาณ 18-24 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 30-40 โดยในปีที่ผ่านมีรายงานเด็กเกิดใหม่ป่วยเป็นโรคธาลัสซีเมีย ประมาณ 5,000 ราย และยังมีเด็กที่ป่วยเป็นธาลัสซีเมียชนิดรุนแรง แพทย์ต้องทำแท้งให้อีกประมาณ 300 ราย ทั้งนี้จาการคาดการณ์เฉลี่ยแต่ละปีมีเด็กเกิดใหม่ป่วยเป็นโรคธาลัสซีเมียประมาณ 12,000 คน ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการรักษารายละ 6 ล้านบาทตลอดอายุขัย 30 ปี

รศ.นพ.ธันยชัย สุระ ผู้แทนมูลนิธิโรคโลหิตจางธาลัสซีเมียแห่งประเทศไทย กล่าวว่า โรคธาลัสซีเมียพบได้ทั่วประเทศไทย แต่พบมากที่สุดคือภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีผู้ป่วยประมาณ ร้อยละ 40 แต่มีผู้ป่วยแฝงหรือพาหะ มากถึงร้อยละ 80 ซึ่งจนถึงขณะนี้ยังไม่ทราบสาเหตุของการแพร่ระบาดของโรค ดังนั้นการลดการระบาดของโรคทำได้ด้วยการป้องกัน คือ คู่สมรสต้องวางแผนครอบครัว วางแผนการมีบุตร ด้วยการตรวจคัดกรองเลือด หากพบว่าป่วยเป็นธาลัสซีเมียทั้งคู่ ก็ไม่ควรมีบุตร แต่หากป่วยเพียงฝ่ายเดียวก็ไม่เป็นไร รวมทั้งสามารถตรวจวินิจฉัยทารกในครรภ์ว่าป่วยได้หรือไม่

“ปัญหาที่พบคือ หญิงตั้งครรภ์มักจะฝากครรภ์กับแพทย์ เมื่ออายุครรภ์มากแล้วคือเกิน 5 เดือนขึ้นไป ซึ่งเมื่อตรวจพบว่าแม่หรือพ่อป่วยเป็นธาลัสซีเมียก็สายเกินไปแพทย์ไม่สามารถช่วยเหลือได้ ต้องยอมให้เด็กคลอดออกมา แต่หากฝากครรภ์ตั้งแต่อายุครรภ์น้อยๆ  แพทย์สามารถตรวจคัดกรองได้เร็ว แพทย์จะให้ความช่วยเหลือโดยแนะนำให้ยุติการตั้งครรภ์ทันที” รศ.นพ.ธันยชัย กล่าว

รศ.นพ.ธันยชัย กล่าวว่า สำหรับผู้ป่วยโรคธาลัสซีเมีย ที่ต้องรักษาด้วยการให้เลือดเป็นประจำ ซึ่งส่งผลให้เกิดภาวะเหล็กเกินเหล็กไปตะค้างสะสมตามอวัยวะต่างๆ ทำให้อวัยวะทำงานผิดปกติ แพทย์ต้องให้ยาขับเหล็กซึ่งปัจจุบันองค์การเภสัชกรรม(อภ.) ประสบความสำเร็จผลิตยาขับเหล็กชนิดรับประทาน(GPO-L1) สำเร็จ โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการทดลอง กับกลุ่มตัวอย่างในกรุงเทพฯ และจังหวัดใกล้เคียง จำนวน 300 คน ผลการทดลอง 7 เดือนแรก พบว่า สามารถลดธาตุเหล็กได้ผลเป็นที่น่าพอใจ แต่มีผลข้างเคียงคือ ทำให้เม็ดเลือดขาวลดลงตามไปด้วย ซึ่งหมายถึงทำให้ภูมิคุ้มกันในร่างกายลดลง อย่างไรก็ตาม โครงการทดลองนาน 1 ปี หากจบโครงการจึงจะสรุปผลอีกครั้งหนึ่ง เพื่อสามารถแจกจ่ายยาดังกล่าวไปให้ผู้ป่วยทั่วไปรับทานได้ ช่วยให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตดีขึ้น จากเดิมที่ใช้ยาขับเหล็กชนิดฉีด ต้องฉีดสัปดาห์ละ 4-5 ครั้ง ๆ ละ 8 ชั่วโมง

ทั้งนี้ การประชุมสัมมนาวิชาการครั้งนี้จึงเป็นการรวบรวมความรู้และเทคโนโลยีทางด้านธาลัสซีเมียที่มีความก้าวหน้ามาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ รวมทั้งเป็นการบูรณาการในการตรวจวิเคราะห์ทางห้องปฏิบัติการให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน นอกจากนี้จะมีการโชว์ผลงานการรักษาโรคธาลัสซีเมียด้วยวิธีการปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิด และการโชว์ชุดทดสอบธาลัสซีเมียซึ่งเป็นนวัตกรรมครั้งแรกของโลกอีกด้วย



เครดิต :
เครดิต :เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์มติชน


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์