กรุงเทพฯ 19 เม.ย.-นายนพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเอแบคนวัตกรรมทางสังคม การจัดการและธุรกิจ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ
เปิดเผยผลสำรวจ “เอแบคเรียลไทม์โพลล์ (ABAC Real-Time Survey)” ที่เป็นการสำรวจจากครัวเรือนที่สุ่มตัวอย่างได้ทั่วประเทศตามหลักสถิติก่อน จากนั้นได้ติดตั้งโทรศัพท์ให้กับครัวเรือนที่เป็นตัวอย่างเพื่อทำการสัมภาษณ์ได้อย่างรวดเร็วฉับไวภายในระยะเวลาประมาณ 24 ชั่วโมง และนำมาประมวลผลด้วยระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์
อย่างไรก็ตาม ในครั้งนี้ได้ทำการสำรวจเรื่อง ความหวังและความเชื่อมั่นต่อสภาวะเศรษฐกิจและการปรับเปลี่ยนรายจ่ายของผู้บริโภคระดับครัวเรือน
กรณีศึกษาตัวอย่างประชาชนใน 17 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร เชียงใหม่ อุตรดิตถ์ สุโขทัย เพชรบูรณ์ ปทุมธานี ชลบุรี ฉะเชิงเทรา กาญจนบุรี เพชรบุรี หนองบัวลำภู สกลนคร ศรีสะเกษ ขอนแก่น พัทลุง ระนอง และสุราษฎร์ธานี จำนวนทั้งสิ้น 1,200 ครัวเรือน ในวันที่ 18 เมษายน 2552 พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่หรือกว่าร้อยละ 90 ติดตามข่าวสารผ่านสื่อมวลชนเป็นประจำทุกสัปดาห์
ทั้งนี้ เมื่อถามความคิดเห็นต่อสภาวะเศรษฐกิจของประเทศในช่วงเดือน มีนาคมที่ผ่านมา
พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 94.4 ระบุว่าเศรษฐกิจแย่ ในขณะที่ร้อยละ 5.6 เท่านั้น ระบุว่า เศรษฐกิจดี และเมื่อถามถึงสภาวะเศรษฐกิจของผู้ตอบแบบสอบถามเองในช่วงเดือน มีนาคมที่ผ่านมา พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 78.1 ระบุรายได้ไม่ดี ในขณะที่ร้อยละ 21.9 ระบุรายได้ดี นอกจากนี้เมื่อถามถึงสภาวะเศรษฐกิจของสมาชิกในครอบครัวช่วงเดือนมีนาคมที่ผ่านมา พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 76.1 ระบุรายได้ของสมาชิกในครอบครัวก็ไม่ดี ในขณะที่ร้อยละ 23.9 ระบุรายได้ดี
นอกจากนี้ เมื่อถามถึงการพบเห็นหรือรับรู้เกี่ยวกับตำแหน่งงานที่เปิดรอรับคนสมัครในช่วง 30 วันที่ผ่านมา พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 57.3
รับรู้ว่ามีตำแหน่งงานว่างเพียงเล็กน้อย ในขณะที่ร้อยละ 32.7 รับรู้ว่าไม่มีการเปิดรับสมัครเลย และร้อยละ 10.0 พบว่ามีตำแหน่งงานว่างจำนวนมาก อย่างไรก็ตามเมื่อถามถึงความรู้สึกมั่นคงในหน้าที่การงานของตนเองในปัจจุบัน พบว่าประมาณครึ่งหนึ่งหรือร้อยละ 49.5 ยังรู้สึกมั่นคง ในขณะที่ร้อยละ 33.5 รู้สึกไม่มั่นคง และที่น่าเป็นห่วงมากกว่าคือร้อยละ 17.0 ไม่ได้ทำงาน
ที่น่าพิจารณาคือ เมื่อถามถึงการปรับลดค่าใช้จ่ายของผู้ตอบแบบสอบถามในด้านต่างๆ เมื่อเปรียบเทียบกับช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา
พบว่าส่วนใหญ่หรือร้อยละ 71.2 ได้ปรับลดค่าใช้จ่ายเรื่องเสื้อผ้า เครื่องแต่งกาย ที่น่าเป็นห่วงอย่างยิ่งคือ แม้แต่ค่าใช้จ่ายด้านการรับประทานอาหาร พบว่าส่วนใหญ่หรือร้อยละ 70 ปรับลดค่าใช้จ่ายในหมวดอาหาร ร้อยละ 64.2 ปรับลดค่าใช้จ่ายด้านการเดินทาง ร้อยละ 54.7 ปรับลดเรื่องค่าไฟฟ้า ค่าน้ำ ร้อยละ 54.2 ปรับลดเรื่องการท่องเที่ยว ร้อยละ 46.0 ปรับลดเรื่องเครื่องสำอาง และร้อยละ 43.2 ปรับลดเรื่องสลากกินแบ่งรัฐบาล และการเล่นหวย แต่ที่ปรับลดน้อยที่สุดคือ ร้อยละ 32.4 ปรับลดด้านการศึกษา
ทั้งนี้ ยังได้ถามถึงการวางแผนจะซื้อสินค้าขนาดใหญ่ในอีก 6 เดือนข้างหน้า พบว่า ร้อยละ 13.1 มีแผนจะซื้อเครื่องใช้ไฟฟ้า
เช่น ตู้เย็น โทรทัศน์ แต่ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 86.9 ไม่มีแผนการจะซื้อ ในขณะที่ร้อยละ 6.6 มีแผนจะซื้อบ้านหลังใหม่ แต่ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 93.4 ไม่มีแผนจะซื้อ และร้อยละ 6.5 มีแผนจะซื้อรถยนต์คันใหม่ในอีก 6 เดือนข้างหน้า แต่ร้อยละ 93.5 ไม่มีแผนจะซื้อ ที่น่าพิจารณาคือ ประชาชนส่วนใหญ่หรือร้อยละ 62.8 หวังพึ่งตนเองเพื่อให้ตนเองอยู่รอดต่อไปได้ ในขณะที่เพียงร้อยละ 5.9 เท่านั้นที่หวังพึ่งรัฐบาล และร้อยละ 31.3 หวังพึ่งทั้งรัฐบาลและตนเอง และได้ชี้แนะรัฐบาลและประชาชนในการแก้วิกฤติทางเศรษฐกิจของประเทศและสภาวะเศรษฐกิจระดับครัวเรือนของประชาชน ผลที่จะตามมาคือการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนที่จะช่วยประคับประคองให้ประเทศชาติและประชาชนทุกหมู่เหล่าอยู่รอดต่อไปได้ และทุกคนทุกฝ่ายจะได้รับชัยชนะด้วยกัน ไม่มีใครเป็นผู้แพ้. -สำนักข่าวไทย