ฉลากคาร์บอน สัญลักษณ์หยุดโลกร้อน

ปัญหา "โลกร้อน" เป็นวิกฤตที่ผู้คนทั่วโลกให้ความสนใจในวงกว้าง สาเหตุหลักเกิดจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่ชั้นบรรยากาศ ทำให้ประเทศต่างๆ เริ่มให้ความสนใจและหาแนวทางร่วมกันเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

ทั้งภาคอุตสาหกรรม ภาคเกษตรกรรม และภาคบริการต่างให้ความร่วมมือในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และในปัจจุบันเริ่มให้ความสำคัญกับกลุ่มผู้บริโภคมากขึ้น ผ่านช่องทางการใช้สินค้าที่ได้รับสัญลักษณ์ "ฉลากคาร์บอน"

"ฉลากคาร์บอน" เป็นเครื่องหมายที่จะติดกับสินค้าให้ประชาชนผู้บริโภคทราบว่าสินค้านั้นมาจากกระบวนการผลิตที่ช่วยลดก๊าซเรือนกระจกหรือมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในปริมาณต่ำ เพื่อเป็นแนวทางในการเลือกซื้อสินค้าที่จะช่วยลดโลกร้อน

การพิจารณาขึ้นทะเบียนให้ "ฉลากคาร์บอน" จะเปรียบเทียบปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ระหว่างปีพ.ศ. 2545 ซึ่งเป็นปีฐาน กับปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในปีล่าสุด

สินค้าที่จะได้รับฉลากคาร์บอนจาก "องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก" (อบก.) จะต้องเป็นสินค้าที่ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในกระบวนการผลิตอย่างน้อย "ร้อยละ 10" ขึ้นไป

โดยพิจารณาจากการลดปริมาณการใช้กระแสไฟฟ้า การลดปริมาณเชื้อเพลิงฟอสซิลในกระบวน การผลิต และการลดการใช้วัตถุดิบหรือการเกิดของเสียที่มีศักยภาพก่อให้เกิดก๊าซเรือนกระจก รวมทั้งบางกรณีที่มีการปรับเปลี่ยนการใช้พลังงานเป็นพลังงานหมุนเวียนทั้งหมด ซึ่งเป็นพลังงานสะอาด

สำหรับบางกลุ่มอุตสาหกรรมที่ไม่สามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากกระบวนการผลิตได้ถึงร้อยละ 10 เนื่องจากปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในกระบวนการผลิตต่ำมาก  หรือมีการใช้เทคโนโลยีการผลิตที่มีประสิทธิภาพสูงเพื่อการผลิตสินค้าสามารถแจ้งความประสงค์ให้ทางโครงการเข้าตรวจสอบเพื่อพิจารณาการขึ้นทะเบียนฉลากคาร์บอนได้ด้วยเช่นกัน

"ฉลากคาร์บอนเป็นสัญลักษณ์หนึ่ง ที่แสดงให้เห็นถึงความพยายามในการร่วมลดก๊าซเรือนกระจก อันเป็นสาเหตุหลักของภาวะโลกร้อน ซึ่งปัจจุบันมีเพียงไม่กี่ประเทศที่มีการดำเนินงานด้านฉลากคาร์บอน ได้แก่ อังกฤษ สหรัฐอเมริกา นิวซีแลนด์ หากนับในเอเชีย ก็มีญี่ปุ่น เกาหลี และจีน ทำให้เห็นว่าประเทศไทยเป็นประเทศแรกในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรืออาเซียน ที่เป็นผู้นำในเรื่องนี้" นายสุวิทย์ คุณกิตติ รัฐมนตรีทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าว

ด้าน นายศิริธัญญ์ ไพโรจน์บริบูรณ์ ผู้อำนวยการอบก. ระบุว่า แนวทางดำเนินโครงการฉลากคาร์บอนเป็นการเตรียมการนำร่องสำหรับ "ภาคส่งออก" ที่ต่อไปในอนาคตอาจมีการนำประเด็นการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของสินค้ามาเป็นเงื่อนไขในกลไกการค้าระหว่างประเทศ

นอกจากนี้ การใช้ฉลากคาร์บอนเป็นสัญลักษณ์ร่วมลดภาวะโลกร้อน ก็เป็นประเด็นที่น่าจะกระตุ้นความตระหนักและการมีส่วนร่วมรักษาสิ่งแวดล้อมต่อผู้ผลิตและผู้บริโภคได้มากขึ้น ผ่านรูปแบบกลไกการตลาดในชีวิตประจำวัน

ปัจจุบันมีผลิตภัณฑ์ที่ได้รับฉลากคาร์บอน และพร้อมที่จะวางจำหน่ายแล้วทั้งสิ้น 25 ผลิตภัณฑ์ โดยผู้ประกอบการ 9 ราย อาทิ บริษัทดอยคำผลิตภัณฑ์อาหาร บริษัททีพีไอ บริษัทปูนซีเมนต์นครหลวง  และบรรจุภัณฑ์เครื่องดื่มตรา Tetra Pak ของบริษัท เต็ดตรา
แพ้ค  (ไทย) จำกัด

นายสนิท อักษรแก้ว ประธานสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย กล่าวถึงความคืบหน้าของโครงการฉลากคาร์บอนว่า มีผู้ประกอบการอีกกว่า 40 รายที่สนใจเข้าร่วมโครงการ

คาดว่าในอนาคตประเทศไทยจะมีสินค้าที่ได้รับฉลากคาร์บอนวางขายในท้องตลาดมากขึ้น และยังได้ดำเนินการพัฒนาฉลากคาร์บอนอีกประเภทควบคู่ไปกับฉลากที่ดำเนินการอยู่ในปัจจุบันด้วย โดยขยายขอบเขตการศึกษาให้ครอบคลุมการปล่อยก๊าซเรือนกระจกตลอดวงจรชีวิตของสินค้า และจะแสดงผลเป็นตัวเลขปริมาณก๊าซเรือนกระจกสุทธิที่ปล่อยออกสู่บรรยากาศ

ผู้ประกอบการที่สนใจจะเข้าร่วมโครงการฉลากคาร์บอน ติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ อบก. โทร. 0-2615-8791-3 ต่อ 109 (คุณทัศนา) หรือสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย โทร. 0-2503-3333 ต่อ 524 (คุณจินตนา)

เครดิต :
เครดิต : เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์ข่าวสด


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์