หลังจากรอคอยกันมานาน ในที่สุด “เช็คช่วยชาติ” ช่วยเหลือค่าครองชีพประชาชนและบุคลากรภาครัฐ ของสำนักงานประกันสังคม ลอตแรกจำนวน 5.5 ล้านฉบับ
ที่แจก จ่ายแก่ผู้ประกันตนที่มีรายได้ต่อเดือนต่ำกว่า 15,000 บาท ก็ได้ฤกษ์คลอดแล้ว ทั้งนี้ ที่ธนาคารกรุงเทพสำนักงานใหญ่ ถนนสีลม เมื่อบ่ายวันที่ 25 มีค. นายกรณ์ จาติกวณิช รมว.คลัง พร้อมด้วยนายไพฑูรย์ แก้วทอง รมว.แรงงานและนายธีระ อภัยวงศ์ กรรมการรองผู้จัดการใหญ่ธนาคารกรุงเทพ แถลงถึงความพร้อมโครงการเช็คช่วยชาติ ที่จะส่งมอบให้กับผู้ประกันตนตั้งแต่วันที่ 26 มี.ค.
นายกรณ์กล่าวว่า มาตรการเช็คช่วยชาติ เป็นแนวทางหนึ่งในการบรรเทาปัญหาค่าครองชีพแก่ผู้มีรายได้น้อยจำนวนประมาณเกือบ 10 ล้านคน
เพื่อให้คนเหล่านี้ได้นำเงินส่วนนี้ไปใช้จ่ายในสิ่งจำเป็นต่อการดำรงชีวิต หากรัฐบาลไม่มีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจออกมา จะทำให้การขยายตัวของเศรษฐกิจ หรือจีดีพี ติดลบ 8-9% และจะทำให้มีอัตราการว่างงานเพิ่มขึ้นถึง 1.5-2 ล้านคน ถือเป็นวิกฤติเศรษฐกิจที่แก้ไขยากขึ้น หากรัฐนิ่งดูดายและนิ่งเฉยต่อการแก้ไขปัญหาภายในประเทศ จึงมีความจำเป็นที่รัฐบาลจะต้องออกมาตรการทั้งระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว เพื่อมาบรรเทาผลกระทบของประชาชน ที่ได้รับความเดือดร้อน โดยใน 3 ปีข้างหน้า รัฐบาลจำเป็นต้องลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานด้วยงบประมาณลงทุนที่สูงกว่า 1.4 ล้านล้านบาท เพื่อเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจ ขณะนี้รัฐบาลกำลังอยู่ในขั้นตอนการพิจารณา ที่จะเข้าสู่กระบวนการการลงทุนใน อนาคต โดยเน้นให้เกิดผลดีต่อระบบเศรษฐกิจและดำเนินการได้จริง
“คนที่ได้รับเช็คช่วยชาติควรรีบใช้จ่าย เพื่อให้ เกิดการหมุนเวียน โดยเงินที่ใส่ไปครั้งนี้มีผลต่อจีดีพี 0.2% ซึ่งตามปกติจีดีพี เพิ่มขึ้นหรือลดลง 1% มีผลต่อการจ้างงาน 300,000-350,000 อัตรา โดยเงินที่ใส่ผ่านเช็คช่วยชาติ ที่ทำให้จีดีพีเพิ่มขึ้น 0.2% มีผลต่อการจ้างงาน 80,000-100,000 อัตรา ขอยืนยันว่ามาตรการเช็คช่วยชาติดังกล่าว เป็นมาตรการครั้งเดียวและครั้งสุดท้ายของรัฐบาล เพราะมาตรการนี้เป็นมาตรการระยะสั้น ใส่เงินเข้าไปแล้วถึงมือประชาชน ได้ผลต่อเศรษฐกิจเร็วที่สุดและรั่วไหลน้อยที่สุด” รมว.คลังกล่าว