ที่ศาลอาญา วันที่ 11 มี.ค. ศาลอ่านคำพิพากษาใน คดีพนักงานอัยการเป็นโจทก์ฟ้องนายเกริกเกียรติ ชาลีจันทร์ อดีตกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพพาณิชยการ จำกัด (มหาชน) หรือบีบีซี
นายเอกชัย อธิคมนันทะ อดีตผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ บีบีซี นายวันชัย ธรรมธิติวัฒน์ อดีตผู้อำนวยการสำนักบริหารเงินและวานิชกิจธนกิจ บีบีซี บริษัทอเมริกัน สแตนดาร์ด แอ๊พ-เพรซิลวา จำกัด และนายไพโรจน์ ซึ่งศิลป์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท อเมริกันฯ เป็นจำเลยที่ 1- 5 ในความผิดฐานยักยอกทรัพย์ของธนาคารกรุงเทพพาณิชยการ หรือบีบีซี และความผิดตาม พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535 กรณีอนุมัติสินเชื่ออันมีเจตนาทุจริต
คำพิพากษาใจความว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องและนำสืบว่า เมื่อระหว่างวันที่ 6 ต.ค. 37 ถึง 4 มี.ค. 39 จำเลยร่วมกับนายราเกซ สักเสนา ที่ปรึกษาของจำเลยที่ 1
ด้านการให้สินเชื่อและพวกทุจริตอนุมัติสินเชื่อ 1,000 ล้านบาท ให้แก่บริษัท ฟอร์ ฟิฟ ออเรนจ์ จำกัด ซึ่งมีทุนจดทะเบียนเพียง 10,000 บาท โดยเอาโฉนดที่ดิน จ.สระแก้ว ที่มีเสาไฟฟ้าแรงสูงพาดผ่านใช้ทำประโยชน์อะไรไม่ได้ 19 แปลง หรือ 462 ไร่ จำเลยที่ 4-5 ประเมินราคาสูงถึง 832 ล้านบาท ซึ่งสูงกว่าราคาประเมินทั่วไปถึง 10 เท่า มีเจตนาที่จะให้บริษัทดังกล่าวใช้เป็นหลักทรัพย์ในการขอสินเชื่อ ทำให้บีบีซีได้รับความเสียหาย เมื่อจำเลยที่ 1 อนุมัติปล่อยสินเชื่อดังกล่าว จึงเป็นการฝ่าฝืนคำสั่งของธนาคารแห่งประเทศไทยที่มีคำสั่งไม่ให้อนุมัติสินเชื่อแก่บริษัทที่ไม่มี หลักทรัพย์ค้ำประกัน และไม่มีผลประกอบการรายได้ติดต่อกันเกิน 3 ปี ซึ่งกรณีที่อนุมัติสินเชื่อเกิน 30 ล้านบาท ต้อง ให้มีการผ่านมติกรรมการของบีบีซีก่อน แต่จำเลยที่ 1 กลับฝ่าฝืน ทำให้ธนาคารเสียหายรวม 1,567,274,175 บาท
ศาลพิเคราะห์ว่า จำเลยมีตำแหน่งเป็นนายธนาคาร ได้รับความไว้วางใจจากประชาชน ถือได้ว่าเป็นผู้มีความสามารถในการประเมินทรัพย์สิน
แต่กลับอนุมัติเงินกู้โดยใช้บัตรรายการดังกล่าวที่รับมาจากนายราเกซ ร่วมกันอนุมัติเงินไป 1 พันล้านบาท ไปโดยไม่ตรวจสอบความสามารถในการใช้เงิน ทั้งที่ธนาคารแห่งประเทศไทยมีหนังสือแจ้งเตือนมาแล้ว โดยมีเจตนาทุจริต จำเลยที่ 1 จึงมีความผิด และจำเลยที่ 4 และ 5 ซึ่งเป็นผู้ประเมินราคาที่ดินเท็จจึงเป็นผู้สนับสนุนการกระทำความผิดร่วมกับจำเลยที่ 1
พิพากษาว่าจำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมาย อาญา มาตรา 353, 354 ประกอบมาตรา 83 และ พ.ร.บ. หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535 มาตรา 307, 311, 313 เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้เรียงกระทงลงโทษ ลงโทษจำคุก ตามมาตรา 313 อันเป็นบทหนักสุด ลงโทษจำคุกกระทงละ 10 ปี รวมจำคุก 130 ปี ปรับ3,134,548,351.74 บาท แต่กฎหมายให้ลงโทษตามมาตรา 91 คงจำเลยที่ 1 ไว้ 20 ปี ปรับ 3,134,548,351.74 บาท และใช้เงินแก่ธนาคารบีบีซี 1,567,274,175 บาท ให้รวมโทษกับคดีที่ศาลอาญาและศาลอาญากรุงเทพใต้พิพากษาไปก่อนหน้านี้ ให้ลงโทษปรับจำเลยที่ 4 จำนวน 2,000 ล้านบาท จำคุกจำเลยที่ 5 เป็นเวลา 10 ปี ปรับ 2,000 ล้านบาท ส่วนจำเลยที่ 2 และ 3 ศาลเห็นว่าบัตรรายการอนุมัติไม่ได้อยู่ในครอบครองในขณะเกิดเหตุ จึงไม่เป็นความผิด และโจทก์ไม่ได้นำสืบให้เห็นว่าจำเลยที่ 2 และ 3 ได้รับประโยชน์ใดจากการอนุมัติสินเชื่อดังกล่าว พิพากษายกฟ้องจำเลยที่ 2 และ 3
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนหน้านี้นายเกริกเกียรติ ชาลีจันทร์ ถูกพิพากษาไปแล้วหลายสำนวน มีทั้งจำคุกและยกฟ้อง โดยเฉพาะที่ถูกพิพากษาจำคุกรวมทั้งสิ้น 130 ปี ปรับอีก 7 พันกว่าล้านบาท และให้ชดใช้เงินคืนแก่ บีบีซีราว 2.3 พันล้านบาท
ต่อมา เย็นวันเดียวกัน ญาติอดีตบิ๊กบริหารธนาคารกรุงเทพฯ พาณิชย์การ ได้นำหลักทรัพย์เป็นโฉนดที่ดิน อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ ราคาประเมิน 4 ล้านบาท
ไปยื่นคำร้องขอประกันตัว ขณะที่นายไพโรจน์ ซึ่งศิลป์ จำเลยที่ 5 ใช้ โฉนดที่ดินใน กทม. ราคาประเมิน 2 ล้านบาท ยื่นประกันเช่นกัน เมื่อศาลพิจารณาแล้วอนุมัติให้ทั้งคู่ได้ประกันตัวตามหลักทรัพย์ดังกล่าว