นายอำพน กิตติอำพน เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.)
เปิดเผยว่า สศช.อยู่ ระหว่างจัดทำรายละเอียดแผนงานฟื้นฟูเศรษฐกิจระยะปานกลางและยาวใน 6 สาขา เพื่อรองรับวิกฤติเศรษฐกิจโลกที่เชื่อว่าจะมีรอบ 2 จากการเสื่อมค่าของทรัพย์สินของประเทศที่เป็นตลาดหลักของไทย ทั้งสหรัฐฯ ยุโรป และญี่ปุ่น ที่ไม่รู้ว่าจะเกิดขึ้นเมื่อใดและมีความรุนแรงแค่ไหน ส่วนสถานการณ์การเมืองในประเทศก็เป็นปัจจัยหลักที่ผลักดันให้แผนงานฟื้นฟูเศรษฐกิจเดินหน้าต่อเนื่อง “ต้องยอมรับว่าผลที่เกิดขึ้นขณะนี้เป็นเพียงระลอกแรกของผลจากปัญหาซับไพร์มเท่านั้น ส่วนระลอก 2 ที่จะตามมาจากทรัพย์สินที่ด้อยค่าลงเริ่มมีให้เห็นบ้างแล้วในสหรัฐฯ ทั้งมูลค่าพันธบัตรและตราสารทางการเงินประเภทต่างๆที่ไม่รู้ว่าสิ่งเหล่านี้จะลุกลามมากเพียงใด และจะเกิดขึ้นเมื่อใด”
ส่วนแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจระยะกลางและยาวทั้ง 6 สาขาจะเชื่อมโยงกับการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ และการเพิ่มศักยภาพด้านการผลิต
โดยเน้นการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ที่ต้องเพิ่มประสิทธิภาพในเขตพื้นที่ชลประทาน พัฒนาแหล่งน้ำ ดูแลพืชผลทางการเกษตร รวมถึงความมั่นคงด้านอาหารของประเทศ, การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานด้านโลจิสติกส์, พลังงาน, เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร และสาธารณูปการ เพื่อลดต้นทุนและเพิ่มศักยภาพในการแข่งขัน, อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวที่ต้องพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวให้เป็นสากล มีมาตรฐานด้านความปลอดภัย รักษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม เป็นต้น นอกจากนี้ต้องลงทุนด้านการศึกษาการพัฒนาห้องสมุด สื่อการสอน คุณภาพของครูเชื่อมโยงการศึกษานอกระบบ, การลงทุนพัฒนาคุณภาพระบบบริการสาธารณสุข เพื่อนำไปสู่การเป็นศูนย์กลางในภูมิภาคและการลงทุนด้านเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์ คาดว่าจะใช้เงินลงทุนเบื้องต้น 2 ล้านล้านบาทและสนับสนุนเศรษฐกิจปี 52-55 ได้ปีละ 1%
นายธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า เดือน เม.ย.-พ.ค.นี้ ส.อ.ท.คาดว่าไทยจะประสบปัญหาว่างงานรุนแรง
เนื่องจากเป็นช่วงที่นักศึกษาจะจบพร้อมเข้าสู่ระบบแรงงานแข่งขันกับผู้ว่างงานเพิ่มอีก 500,000 คน คาดว่ากลุ่มผู้จบใหม่จะมีงานรองรับเพียง 10% เพราะผลสำรวจพบว่าโรงงานส่วนใหญ่ลดกำลังการผลิตเหลือ 50% เท่านั้น ซึ่งไตรมาสแรกยังได้อานิสงส์จากคำสั่งซื้อเก่าจึงลดลงไม่มาก แต่ไตรมาส 2 คำสั่งซื้อจะลดลงจากไตรมาสแรกแน่ อาจทำให้เกิดการว่างงานถึงหลักล้านคน ยกเว้นมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจแต่ละประเทศได้ผล
นายสันติ วิลาสศักดานนท์ ประธาน ส.อ.ท. กล่าวว่า ปัจจุบันธุรกิจเอสเอ็มอีไทยรับความเดือดร้อนหนัก
กรณีถูกคู่ค้าต่างประเทศต่อรองให้ลดราคาสินค้าอีก 5-10% โดยอ้างเหตุผลวิกฤติเศรษฐกิจโลก ทำให้ ผู้ประกอบการหลายรายต้องยอมลดราคาเพื่อรักษาตลาดเดิมไม่เช่นนั้นจะสูญเสียตลาดให้คู่แข่ง แนวทางที่ต้องเร่งทำคือลดต้นทุนการผลิต ทั้งโลจิสติกส์และการบริหารจัดการภายในองค์กร แต่ไม่ควรลดคนงาน ขณะเดียวกันธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ต้องแทรกแซงให้ค่าเงินอ่อนกว่าประเทศคู่แข่งเล็กน้อย.