วันนี้ (15 ก.พ.) นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงปัญหาระบบการสอบคัดเลือกเข้ามหาวิทยาลัยว่า หลังจากที่ใช้ระบบแอดมิชชั่นมา หลายมหาวิทยาลัย หลายคณะ
พบว่ามีปัญหาจริงๆในเรื่องของเด็กที่เข้าไปแล้ว ความรู้ทักษะไม่ค่อยสอดคล้องกับคณะที่เข้าไป ตรงนี้จะเกิดปัญหาความสูญเสีย นอกจากนี้แนวโน้มขณะนี้มหาวิทยาลัยคณะต่างๆจะใช้ระบบนี้น้อยลง และใช้ระบบรับตรงมากขึ้น จึงจะเป็นการไปเพิ่มภาระให้ผู้ปกครองมากขึ้น แค่เรื่องการชำระเงิน การสมัคร ก็มีการร้องเรียนเข้ามามาก
นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ดังนั้นมันถึงเวลาที่ต้องทบทวนกัน เพียงแต่ว่าเมื่อทบทวนแล้วเราจะใช้ทันทีทันใดคงไม่ได้
เด็กเขารู้กติกาล่วงหน้าตั้งแต่ม.4 เราจะทำอะไรก็ต้องคิดเผื่อว่าเด็กที่รู้กติกามาอย่างหนึ่งแล้ว ก็ไม่ต้องการให้เปลี่ยนกลางคัน ดังนั้นในที่ประชุมจึงมีการแลกเปลี่ยนกัน และทางอธิการบดีก็เห็นด้วยว่าจะต้องทำเรื่องนี้ให้เร็ว เป้าหมายหลักคือระบบคัดเลือกจะต้องได้คุณภาพ ทักษะที่สอดคล้องกับสิ่งที่เข้าไปเรียน ลดภาระผู้ปกครอง และสอดคล้องกับการปฏิรูปการศึกษาต่อไป
นายกรัฐมนตรี กล่าวต่อว่า เราต้องย้ำตรงนี้ เพราะว่าบางทีเราอยากจะทำอะไรในระบบการศึกษาขั้นพื้นฐาน
แต่ข้อเท็จจริงก็คือ ทั้งผู้ปกครอง นักเรียน อาจารย์ ก็มุ่งเป้าหมายว่าทำยังไงให้เด็กสอบเข้าได้ เช่น ทุกคนบอกว่าอยากให้เด็กคิดเป็น คิดเก่ง วิเคราะห์ได้ แต่ปรากฏว่าข้อสอบเน้นเรื่องความจำ สุดท้ายมันไม่มีประโยชน์อะไรที่ไปเปลี่ยนแปลงหลักสูตร เพราะทุกคนก็ใจจดใจจ่อมุ่งที่จะสอบเข้าให้ได้อยู่ดี จนต้องไปเรียนพิเศษ เป็นต้น
ส่วนจะต้องมีการทบทวนทั้งระบบหรือไม่นั้น นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า รัฐบาลต้องการจะทำให้ได้ภายในกลางปีนี้
ถ้ามาตรฐานโรงเรียนยังเทียบเคียงกันไม่ได้ การใช้เกรดเฉลี่ยก็ควรใช้ในลักษณะของการกำหนดคุณสมบัติเบื้องต้นมากกว่านำมาเปรียบเทียบกัน ข้อสอบทั้งที่เป็นวิชาเฉพาะ วิชาพื้นฐานก็ต้องเน้นเนื้อหาน้อยลง เน้นเรื่องกระบวนความคิดมากขึ้น และถ้ามีระบบการรับตรงควรเน้นการใช้ข้อสอบกลางให้มากที่สุด เพื่อลดภาระการสอบของเด็ก นี่คือตัวอย่างที่ตนเสนอความคิดไป จะมีการดูรายละเอียดอีกครั้ง