เมื่อวันที่ 11 ก.พ. สำนักวิจัยเอแบคโพลล์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ
เปิดเผยผลวิจัยเรื่อง ความในใจของนักเรียนมัธยมศึกษาตอนปลายต่อการสอบคัดเลือกเข้าศึกษาต่อในสถาบันอุดมศึกษา แบบ Admission โดยสำรวจจากนักเรียนมัธยมศึกษาตอนปลายในเขตกรุงเทพมหานคร จำนวนทั้งสิ้น 1,084 ตัวอย่าง เมื่อวันที่ 10 ก.พ.โดยผลสำรวจพบว่า กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่หรือร้อยละ 90.6 ทราบข่าวปัญหาเกี่ยวกับการทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติขั้นสูงหรือการสอบเอเน็ตที่เกิดขึ้น ในขณะที่ร้อยละ 9.4 ไม่ทราบข่าว
เมื่อสอบถามต่อไปถึงกรณีที่มีนักเรียนบางส่วนพลาดการสอบเอเน็ต เนื่องจากไม่ได้ชำระเงิน/ชำระเงินไม่ทันตามกำหนดเวลานั้น พบว่า
ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 58.3 คิดว่าเกิดจากความผิดพลาดของตัวนักเรียนเอง ในขณะที่ร้อยละ 41.7 คิดว่าเกิดจากความผิดพลาดของระบบ อย่างไรก็ตาม ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 75.2 เห็นด้วยว่าควรมีการคืนสิทธิให้กับนักเรียนที่มีปัญหาในการสอบครั้งนี้ ในขณะที่ร้อยละ 24.8 ระบุไม่เห็นด้วย เมื่อสอบถามความเข้าใจในระบบการสอบคัดเลือกเข้าศึกษาต่อในสถาบันอุดมศึกษาของรัฐ เปรียบเทียบกับการสำรวจใน ปี พ.ศ. 2549 นั้นพบว่า นักเรียนส่วนใหญ่มีความเข้าใจในองค์ประกอบต่างๆ ของระบบการสอบมากขึ้นในทุกด้าน ได้แก่ ความเข้าใจอย่างชัดเจนในระบบการสอบ O-Net เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 38.6 ในปี พ.ศ. 2549 มาอยู่ที่ร้อยละ 68.5 ในการสำรวจครั้งนี้ ความเข้าใจต่อการสอบ A-Net เพิ่มขึ้นจากร้อย
ละ 35.2 มาอยู่ที่ร้อยละ 61.0 ความเข้าใจต่อการใช้ GPA และ GPAX เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 33.2 มาอยู่ที่ร้อยละ 60.0 ในขณะที่ความเข้าใจต่อคะแนน GAT (ความถนัดทั่วไป) และคะแนน PAT หรือความถนัดทางวิชาการและวิชาชีพ มีอยู่ร้อยละ 65.2 และร้อยละ 60.2 ตามลำดับ
อย่างไรก็ตามเด็กนักเรียนส่วนใหญ่คิดว่าการเปลี่ยนแปลงระบบการสอบคัดเลือกเข้าศึกษาต่อในสถาบันอุดมศึกษาแบบ Admission นั้นยังมีความไม่พร้อมในหลายเรื่อง
โดยผลสำรวจพบว่า
เด็กนักเรียนส่วนใหญ่หรือร้อยละ 68.1 คิดว่ายังไม่มีความพร้อมเรื่องการวางแผนการใช้ระบบ รองลงมาคือ ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 62.1 คิดว่ายังไม่มีความพร้อมในเรื่องประสิทธิภาพการประชาสัมพันธ์ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับการสอบเพื่อให้นักเรียนมีความรู้ความเข้าใจ ร้อยละ 61.9 ระบุยังไม่มีความพร้อมด้านจำนวนบุคลากรที่รับผิดชอบ ร้อยละ 60.5 ระบุด้านคุณภาพของบุคลากร นอกจากนี้ เกินกว่าครึ่งหนึ่งคือร้อยละ 56.7 และร้อยละ 56.6 คิดว่ายังไม่มีความพร้อมในเรื่องระบบอินเตอร์เน็ตและเว็บไซต์ในการรับสมัคร และระบบการตรวจสอบคุณภาพความถูกต้อง ตามลำดับ
เมื่อสอบถามถึงสิ่งที่ควรต้องปรับปรุงในระบบการสอบแบบ O-Net และ A-Net นั้นพบว่า
ร้อยละ 66.9 ระบุควรปรับปรุงเรื่องการรับสมัคร รองลงมาคือร้อยละ 64.6 ระบุด้านการใช้อินเตอร์เน็ตและเว็บไซต์ ร้อยละ 41.1 ระบุการประกาศคะแนน ร้อยละ 41.0 ระบุการประกาศสถานที่สอบ ร้อยละ 39.5 ระบุคำชี้แจงในการทำข้อสอบ ร้อยละ 38.3 ระบุการตรวจข้อสอบ และร้อยละ 37.6 ระบุการประกาศผลการคัดเลือก
อย่างไรก็ตามเมื่อสอบถามถึงข้อดีของระบบการสอบคัดเลือกแบบ Admission โดยภาพรวมนั้น พบว่า
ร้อยละ 40.6 ระบุมีข้อดีในเรื่องที่สามารถวัดมาตรฐานการศึกษาของนักเรียนแต่ละคนได้อย่างละเอียด ในขณะที่ร้อยละ 24.7 ระบุเปิดโอกาสให้นักเรียนมีทางเลือกมากขึ้น/มีโอกาสสอบหลายรอบ ร้อยละ 19.3 ระบุมีความสะดวกและรวดเร็ว ร้อยละ 11.6 ระบุเปิดโอกาสให้ได้ทดสอบความสามารถ และร้อยละ 7.1 ระบุเปิดโอกาสให้สามารถเตรียมความพร้อมของตนเองเพื่อเลือกเรียนสาขาที่ต้องการได้
ในขณะที่เมื่อสอบถามถึงข้อเสียของการสอบแบบ Admission นั้นพบว่า
ร้อยละ 47.2 ระบุมีขั้นตอนยุ่งยากทำให้เสี่ยงต่อการเกิดความผิดพลาด ร้อยละ 17.5 ระบุการประชาสัมพันธ์ไม่ทั่วถึง/ลำบากในการหาข้อมูล / ข่าวสารไม่ทั่วถึง ร้อยละ 14.0 ระบุระบบจัดการสอบยังไม่พร้อม ร้อยละ 12.8 ระบุระบบอินเทอร์เน็ตและเว็บไซต์ยังไม่สมบูรณ์ และร้อยละ 11.2 ระบุสิ้นเปลืองค่าใช้จ่าย /ค่าสมัครแพง ตามลำดับ