จากกรณีที่ชาวบ้านในตำบลชัยบุรี จังหวัดพัทลุง ได้รับบริจาคอาหารช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วม
ซึ่งมีทั้งข้าวสาร อาหารแห้งและปลากระป๋องจำนวนหนึ่ง เมื่อเปิดปลากระป๋องบริโภคพบว่ามีกลิ่นเหม็นเน่า เนื้อปลาเละ เมื่อลองชิมเกิดอาการคลื่นไส้ อาเจียน จึงนำปลากระป๋องทั้งหมดไปส่งคืนที่ผู้ใหญ่บ้านนั้น
นพ.สุพรรณ ศรีธรรมมา โฆษกกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 14 ม.ค.ว่า นายวิทยา แก้วภราดัย รมว. สาธารณสุข ได้สั่งการให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดพัทลุง เก็บปลากระป๋องบริจาค
ยี่ห้อชาวดอย ผลิตจากบริษัททองกิ่งแก้วฟู้ดส์ เลขที่ 17/1 หมู่ 5 ตำบลแคราย อำเภอกระทุ่มแบน จังหวัดสมุทรสาคร ผลิตเมื่อ 24 ธ.ค. 51 หมดอายุ 24 ธ.ค. 54 เลขที่ อย. 74-07040-1-0050 ลอตการผลิต TSE 77 จำหน่ายโดยบริษัท ไทย เอ ดี ฟู๊ดส์ ถนนพระราม 2 แขวงแสมดำ บางขุนเทียน กทม. ออกจากหมู่บ้านทั้งหมด และให้ส่งตรวจที่ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์จังหวัดตรังเป็นการด่วน คาดว่าจะทราบผลในวันที่ 15 ม.ค. ขณะเดียวกัน ได้ให้สำนักงานสาธารณสุขทั่วประเทศ เก็บปลากระป๋องยี่ห้อดังกล่าวที่ผลิตในลอตเดียวกันออกจากท้องตลาดทั้งหมด รวมทั้งในกรุงเทพฯด้วย
นอกจากนี้ได้ให้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา เก็บตัวอย่างปลากระป๋องรุ่นผลิตเดียวกันและรุ่นผลิตใกล้เคียงกัน ส่งตรวจวิเคราะห์ที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ด้วย
หากพบไม่ได้มาตรฐาน ถือว่าเป็นอาหารผิดมาตรฐาน ตาม พ.ร.บ.อาหาร พ.ศ. 2522 จะมีโทษปรับไม่เกิน 5 หมื่นบาท หรือหากพบสิ่งปนเปื้อนอันตรายเจือปนอยู่ ถือว่าเป็นอาหารไม่บริสุทธิ์ ผู้ผลิต ผู้นำเข้า หรือผู้จำหน่าย มีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 2 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
โฆษกกระทรวงสาธารณสุขกล่าวอีกว่า นายวิทยายังได้สั่งการให้สาธารณสุขจังหวัดสมุทรสาคร ส่งเจ้าหน้าที่ไปตรวจสอบที่โรงงานผลิตว่า ได้มาตรฐานจีเอ็มพีหรือไม่
หากพบสถานที่ไม่ผ่านจีเอ็มพีมีโทษปรับไม่เกิน 1 หมื่นบาท จากการตรวจสอบสภาพปลากระป๋องที่บริจาค เบื้องต้นสันนิษฐานว่าปัญหาเน่าเสีย อาจเกิดจากกระบวนการผลิตที่ไม่สะอาด เพราะกระป๋องอยู่ในสภาพดี ไม่บุบไม่บวม กระดาษฉลากอยู่ในสภาพดี การเลือกซื้ออย่าดูเพียงลดราคาหรือราคาถูก อาหารกระป๋องที่ได้รับบริจาคผู้ได้รับ ควรดูฉลากอาหาร ต้องมีตรา อย.วันเดือนปีผลิต วันหมดอายุ ลักษณะกระป๋องที่บรรจุ รวมทั้งฝาและก้นกระป๋อง หากบุบบวม พองหรือโป่ง เป็นสนิม หรือหากลักษณะภายนอกดี แต่ลักษณะของอาหารที่บรรจุภายในมีสี กลิ่น และรสผิดปกติ ต้องทิ้งทันที อย่า เสียดายเป็นอันขาด นอกจากนี้ ควรเก็บรักษาอาหารกระป๋องไว้ในที่แห้ง ไม่อับชื้น และไม่ถูกแสงแดด
นพ.สุพรรณกล่าวด้วยว่า ทั้งนี้เชื้อโรคที่ชอบอยู่ในอาหารกระป๋องได้แก่ เชื้อสแตปฟิโลคอคคัส ออเรียส เชื้อคลอสตริเดียม เปอร์ฟริงเจน และเชื้อคลอสตริเดียม โบทูลินัม
ซึ่งมีความรุนแรง สามารถสร้างพิษออกมาทำให้ เกิดอาการปวดท้อง ท้องเสียอย่างรุนแรง โดยเฉพาะเชื้อคลอสตริเดียม โบทูลินัม พิษมีความรุนแรงสูงมาก ทำให้ เสียชีวิตได้ แต่พิษของเชื้อดังกล่าวไม่ทนต่อความร้อน ถ้าใช้อุณหภูมิน้ำเดือด หรือ 100 องศาเซลเซียส นาน 15-30 นาที ก็ทำลายพิษได้ โดยหากได้รับพิษ จะเริ่มมีอาการหลังรับประทานอาหารเข้าไปนาน 18-36 ชั่วโมง มีอาการอ่อนเพลีย มึนงง ริมฝีปากและลำคอแห้ง อาจมีการอาเจียน ท้องเสีย และมีอาการทางระบบประสาทตาพร่า ม่านตาขยาย กลืนและพูดลำบาก หายใจไม่ออก เสียชีวิตได้
ด้าน นพ.วิเชียร แก่นพลอย นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดพัทลุง กล่าวว่า ได้ให้เจ้าหน้าที่สถานีอนามัยตำบลท่าสำเภาใต้ สถานีอนามัยตำบลปากสระ สถานีอนามัยบ้านใต้น้อยและสถานีอนามัยมะกอกใต้
ร่วมกับ อสม. ตำบลชัยบุรี ประกาศแจ้งให้ประชาชนงดกินปลากระป๋องบริจาคครั้งนี้ ผ่านทางหอกระจายข่าวทุกหมู่บ้าน รวมทั้งวิทยุชุมชน และเฝ้าระวังผู้ป่วยที่เกิดจากการกินปลากระป๋องบริจาคเป็นเวลา 1 สัปดาห์ หากมีอาการปวดท้อง คลื่นไส้ อาเจียน หรืออุจจาระร่วง ให้รีบไปรักษาที่สถานบริการสาธารณสุขใกล้บ้านทันที
นอกจากนี้ วันเดียวกัน นพ.นรังสันต์ พีรกิจ รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา เปิดเผยว่า
สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้รับการร้องเรียนจากผู้บริโภคว่า ดื่มน้ำดื่มตราออลไลฟ์ แล้วเกิดอาการท้องเสีย เมื่อวันที่ 15 กันยายน 2551 อย.จึงได้เก็บตัวอย่างน้ำดื่มดังกล่าว ซึ่งมีฉลากระบุ เลขสารบบอาหารที่ 10-1-31145-1-0001 ผลิตโดย บริษัทชมาริน จำกัด เลขที่ 3/149 หมู่ 2 ถ.พหลโยธิน 54/1 แขวงคลองถนน เขตสายไหม กรุงเทพมหานคร บรรจุขวดพลาสติกใสปิดสนิท แต่ฉลากไม่ระบุวันเดือนปีที่ผลิต มาตรวจวิเคราะห์คุณภาพมาตรฐาน ที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ พบการปนเปื้อนเชื้อแบคทีเรียชนิด อี. โคไล และพบแบคทีเรียชนิดโคลิฟอร์ม มากกว่า 23.0 ต่อน้ำบริโภค 100 มิลลิลิตร ไม่ได้ตามเกณฑ์มาตรฐาน ที่กำหนดให้จัดเป็นอาหารผิดมาตรฐาน อย. ซึ่งได้แจ้งผู้ประกอบการงดผลิตแล้ว และอยู่ระหว่างการดำเนินคดีตามกฎหมาย