นายแบงก์หนุนรัฐเร่งอัดฉีดเงินแสนล้านกระตุ้นเศรษฐกิจ ชี้ต้องเน้นรากหญ้าและเกษตรกร ห่วงปัญหาตกงานลามหนัก เม็ดเงินอาจไม่เพียงพอรับมือ เตือนใช้เงินประกันสังคมปล่อยกู้อุ้มผู้ประกอบการต้องระวัง
นายโฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ ประธานกรรมการบริหาร ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) อดีตรองนายกรัฐมนตรีและ รมว.อุตสาหกรรม
กล่าวถึงการใช้งบกลางแสนล้านบาทเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล ว่า เป็นสิ่งที่เหมาะสม เพราะรัฐบาลต้องดูแลในภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว แต่สิ่งสำคัญรัฐบาลจะต้องใช้ให้ตรงจุดและถึงเป้าหมาย เพื่อให้มีผลต่อเศรษฐกิจ โดยต้องถึงมือประชาชนระดับรากหญ้าและเกษตรกร
ส่วนการต่ออายุ 6 มาตรการ 6 เดือน ฝ่าวิกฤติ เพื่อไทยทุกคน มองว่าเป็นการบรรเทาผลกระทบให้แก่ประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากปัญหาเศรษฐกิจชะลอตัว ส่วนในระยะยาว หากประชาชนเริ่มปรับตัวได้รัฐบาลควรยกเลิกมาตรการดังกล่าว เพราะไม่ทำให้เกิดผลในการกระตุ้นเศรษฐกิจโดยตรง
ดร.วิชิต สุรพงษ์ชัย ประธานกรรมการบริหาร ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่า
สิ่งที่น่าเป็นห่วงของเศรษฐกิจไทยในปีนี้ คือ ปัญหาคนตกงาน ซึ่งยังไม่ชัดเจนว่าเม็ดเงินที่รัฐบาลจะนำมาช่วยเหลือคนว่างงานจะเพียงพอหรือไม่ ซึ่งขณะนี้เริ่มเห็นสัญญาณการว่างงานมากขึ้น นอกจากนี้ ภาคการเกษตรก็น่าเป็นห่วง เนื่องจากราคาสินค้าเกษตรก็ปรับตัวลดลง ซึ่งจะทำให้มีเกษตรกรว่างงานมากขึ้น
ด้านนายปิยะวัฒน์ ฐิตะสัทธาวรกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า
เห็นด้วยกับแผนกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐ ที่ตั้งเป้าหมายให้เม็ดเงินถึงประชาชนระดับรากหญ้าและเกษตรกร เนื่องจากจะช่วยบรรเทาผลกระทบจากวิกฤติเศรษฐกิจในขณะนี้ ซึ่งมีความชัดเจนว่าวิกฤติเศรษฐกิจสหรัฐได้ลุกลามเข้าสู่ประเทศไทย และน่าจะส่งผลกระทบต่อประชาชนระดับรากหญ้า ทั้งนี้ มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐจะช่วยให้กำลังซื้อของประชาชนไม่ลดลงมากเกินไป
ขณะที่ ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย
กล่าวถึงมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการเพื่อบรรเทาปัญหาการเลิกจ้างด้วยการนำเงินกองทุนประกันสังคมจำนวน 1 หมื่นล้านบาท มาให้ธนาคารพาณิชย์ปล่อยกู้ต่อผู้ประกอบการและลูกจ้างว่า คงต้องพิจารณารายละเอียดว่า การนำเงินมาให้ธนาคารปล่อยกู้นั้น ใครจะเป็นผู้รับความเสี่ยงที่เกิดขึ้น เนื่องจากในสถานการณ์ขณะนี้ธนาคารไม่ได้มีปัญหาขาดเม็ดเงิน และยังมีสภาพคล่องที่จะปล่อยกู้ได้ แต่อยู่ที่ความเสี่ยงสินเชื่อและอัตราดอกเบี้ยที่ปล่อยให้แก่ผู้ประกอบการมากกว่า
อย่างไรก็ตาม การนำเงินจากกองทุนประกันสังคมออกมาใช้นั้น ยังมีประเด็นที่ต้องติดตามว่าใครจะเป็นผู้ชดเชยรายได้และความเสี่ยง หากเปรียบเทียบกับการลงทุนอื่นๆ และความเสี่ยงที่เกิดขึ้น เนื่องจากเม็ดเงินที่อยู่ในกองทุนประกันสังคมเป็นเม็ดเงินจากผู้ประกันตนและนายจ้างสมทบเข้ามาเพื่อรองรับอนาคตของผู้ประกันตน จึงเป็นประเด็นที่ต้องใช้ความระมัดระวังให้มาก