เมื่อเวลา 14.00 น. วันที่ 25 ธ.ค. ที่มหาวิทยาลัยพายัพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ จัดอภิปรายเรื่อง "อนาคตของสัตว์ป่าไทย จะอยู่ในป่าหรือกรงขัง
ปัญหาผลกระทบและทางออก" โดย น.พ.รังสฤษฎ์ กาญจนะวณิชย์ ประธานชมรมอนุรักษ์นกและสิ่งแวดล้อมล้านนา นายชัยพันธุ์ ประภาสะวัติ ผู้อำนวยการสถาบันสิทธิชุมชน นายนิคม พุทธา เลขาธิการเครือข่ายคุ้มครองสัตว์ป่าไทย ดำเนินรายการโดย น.ส.อัจฉราวดี บัวคลี่ ภาคีคนฮักเชียงใหม่
น.พ.รังสฤษฎ์กล่าวว่า ตนไปดูสวนสัตว์ไนท์ซาฟารีตั้งแต่เริ่มต้นซึ่งมีปัญหามาก
เช่น ตัวชะมดไม่ใช่สัตว์ที่อยู่ในทะเลทราย แต่กลับให้อยู่กับต้นกระบองเพชรได้อย่างไร ลิงกระรอกก็โดนฉายไฟอย่างแรงเข้าใส่ การจัดแสดงและเรื่องเสียงทำอย่างลวกๆ การเอาลูกสัตว์ เช่นลูกเสือที่ยังไม่ได้หย่านมมาให้คนถ่ายรูป สิ่งที่น่าตกใจมากที่สุดคือ การตายของสัตว์เป็นจำนวนมาก สัตว์ที่นำมาจากแอฟริกาที่ตาย ซึ่งสาเหตุการตายยังไม่มีการสืบค้นอย่างเป็นระบบ มีการถกเถียงกันเรื่องการกักกันโรค อาหารรวมถึงคนเลี้ยง (สัตวบาล) สัตวแพทย์ที่เชี่ยวชาญสัตว์ป่านั้นมีน้อยมาก ทำให้เวลาสัตว์ป่าเป็นโรคขึ้นมาการวินิจฉัยยากมาก การเข้าใจทางชีววิทยา นิเวศวิทยาก็มีปัญหา เมื่อสัตว์เจ็บป่วย กว่าจะรักษาได้ก็เกิดปัญหา สัตวแพทย์ที่อยู่ไนท์ซาฟารีก็มีไม่กี่คน ปัจจุบันไม่รู้ว่ามีการจัดการกันอย่างไร สัตวแพทย์มีความเชี่ยวชาญอย่างไรบ้าง ภาพสัตว์ป่าตายเป็นภาพหลุดออกมาจากผู้ที่เป็นห่วงเป็นใยและอยากให้บุคคลภายนอกได้รับรู้
"รายงานการเกิดสัตว์ตาย ตั้งแต่ปีงบประมาณปี 2551 ในแง่บวก สัตว์ที่เกิดมี 293 ตัว ซึ่งส่วนมากเป็นสัตว์ตัวเล็กตัวน้อย สัตว์ตายทั้งหมด 300 ตัว การตายมีการจัดการสืบค้นโรคอย่างเป็นระบบหรือยัง สาเหตุเกิดจากอะไร อาหารไม่เหมาะสม โรค การวินิจฉัย สัตว์ที่ตายสูงสุดคือ กวาง กระรอก เนื้อทราย ม้าลายเป็นม้าลายที่มีราคาแพงมากและหายากมาก สัตว์พวกนี้ถ้าอยู่ในแอฟริกาคงวิ่งเล่นอย่างสนุก แต่สุดท้ายก็มาสิ้นชีวิตที่เชียงใหม่ มีความคิดเห็นจากคนในสังคมมากพอสมควรที่สลดใจ สงสารสัตว์ ฯลฯ หลายคนก็โยงเกี่ยวกับเรื่องว่าเป็นประเด็นทางการเมืองหรือไม่"
นักอนุรักษ์แฉ-สัตว์ตายเกลื่อนไนท์ซาฟารีเชียงใหม่
น.พ.รังสฤษฎ์กล่าวว่า ภาพที่เราเห็นสัตว์ สังเกตที่ดวงตาของสัตว์ที่อยู่ในสวนสัตว์กับอยู่ธรรมชาติแตกต่างกันอย่างชัดเจน
สิ่งหนึ่งที่เราเป็นห่วงมากคือ การเปิดสวนสัตว์เอกชน สวนสัตว์ที่ได้กำไร บางทีเบื้องหลังก็มีธุรกิจการค้าสัตว์ป่า ซึ่งเมืองไทยเป็นศูนย์กลางของการค้าสัตว์ป่าเป็นอันดับ 2 ของโลก การจัดการสวนสัตว์เพื่อการขยายพันธุ์สัตว์ป่าจะต้องไม่เป็นสวนสัตว์ที่เป็นแบบนันทนาการ คุณค่าของสัตว์ป่ามีคุณค่าในระบบนิเวศ เช่น ช้างเปิดผิวดินทำเป็นโป่ง นกทำหน้าที่ในการกระจายเมล็ด
"ถ้าเราเอางบประมาณการทำสวนสัตว์ขอมาสัก 1 เปอร์เซ็นต์ ให้กับผู้พิทักษ์ป่าในการป้องกันการล่าสัตว์ป่า กฎหมายที่รัดกุมยังไม่สามารถควบคุมได้ สัตว์หรือสิ่งมีชีวิตทั้งหลายเหมือนเป็นส่วนหนึ่งของระบบนิเวศ ทำให้ระบบนิเวศดำรงอยู่ได้ สิ่งที่เป็นกังวลคือ การพยายามที่จะเปิดสวนสัตว์เพิ่มอีก คำถามคือจำเป็นแค่ไหนอย่างไร สวนสัตว์ที่มีอยู่แล้วคุณภาพดีอยู่แล้วหรือ เป็นเรื่องที่ไม่เห็นด้วยอย่างยิ่งที่จะให้มีสวนสัตว์เพิ่ม ไม่อยากให้ความขัดแย้งในองค์กรมีบทต่อสุขภาพของสัตว์" น.พ.รังสฤษฎ์กล่าว
นายชัยพันธุ์กล่าวว่า ย้อนดูการวางโครงการตั้งแต่แรก อุทยานช้างถ้าไม่เบรกกันไว้ลงทุนไปแล้ว 2,000 กว่าล้านบาท มีอาคารนิทรรศการ พืชสวนโลก
สิ่งเหล่านี้ปรากฏขึ้นมาอย่างกะทันหัน ไม่จำเป็นต้องมีนโยบาย งบประมาณไม่ใช่น้อยๆ งบประมาณไม่ต้องผ่านสภา เพราะเป็นงานเร่งด่วน ใช้ระบบแบบเขียนแบบไป ทำกันไป ประมูลกันไป การใช้พื้นที่ที่ยังไม่เพิกถอนจากพื้นที่อุทยานแห่งชาติ เราได้มีการร้องเรียนไปหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มีการยื่นร้องต่อศาลปกครองเชียงใหม่ ไปยื่นร้องต่อศาลปกครองสูงสุด สุดท้ายก็ไม่รู้ว่าจะยื่นไปศาลไหน
"สิ่งที่เราเห็นสัตว์เป็น สัตว์ตาย ซึ่งเป็นของหลวงทั้งหมด ซากก็ต้องมีการเก็บหลักฐานไว้ ของหลวงไม่ใช่ง่ายๆ เรื่องเหล่านี้หลายคนไม่ทราบ เรื่องเหล่านี้เป็นบทเรียน บัญชีรายชื่อที่อยู่ในไนท์ซาฟารีต่างกับรายชื่อที่อยู่ในสวนสัตว์อย่างไร ทำให้เชียงใหม่ มี 2 แห่ง สวนสัตว์ทุกสวนสัตว์ทำเพื่อการศึกษา ไม่มุ่งแสวงหากำไร สวนสัตว์ทั้งหมดขาดทุนหมดไม่มีกำไรเลย ก็เลยเชิญหมีแพนด้ามาทำให้เกิดกำไร และตอนนี้ก็ทำอควาเรียมขึ้นมาอีก สำหรับวันนี้บอกได้เลยว่าไนท์ซาฟารีไม่คุ้มทุน แผนที่เคยบอกไว้ก็ล้วนแต่โกหกอยู่ในกระดาษ ตัวเลขที่บอกว่ามีคนเข้าหลายล้านคน และหลายล้านคนก็เข้าไปฟรี สัตว์ต้องมีการพัก ตอนกลางวันก็ดูกลางคืนก็ดู ไปไม่ไหว ไปไม่รอดก็จะเซ้งให้เอกชน ตกลงเชียงใหม่เราไม่มีอะไรให้คนเที่ยวแล้วหรือ ทำไมต้องสร้างขึ้นมาใหม่ ซึ่งเชียงใหม่มีอะไรเยอะแยะที่จะให้คนเที่ยว"
"ผมไปญี่ปุ่นมา เขาให้คนในบ้านเขาเที่ยวกันเอง แต่ละคนก็พกเงินไปกินไอศกรีมคนละแท่งขายได้หลายพันแท่ง สิ่งที่เขาดีคือ เขามีรถไฟ รถบัส ที่มีการควบคุมความเร็ว งานในแต่ละเมืองมีทั้งปี เศรษฐกิจก็อยู่กันได้ บ้านเราชอบใหญ่ๆ มหกรรม เวลาเราทำอะไรใหญ่ๆ ก็ดูดผู้คนไปหมด ในวัด ในบ้านตัวเอง แทบไม่มีคน รัฐบาลเปลี่ยนไป เราก็เสนอว่าก็ควรจะเปลี่ยน สถานที่ก็คืนกลับสู่ธรรมชาติ ให้คนเข้าไปศึกษาฟรี สัตว์ก็ควรจะกลับบ้านตัวเอง"
นายชัยพันธุ์กล่าวอีกว่า มีการทุจริตกันแม้กระทั่งอาหารสัตว์ ยาสัตว์ สิ่งที่สัญญากับชาวบ้านไว้ รัฐวิสาหกิจชุมชน อะไรที่ชาวบ้านทำก็ไม่ดีก็เลยไปจ้างบริษัทมาทำ
บทเรียนของไนท์ซาฟารีงบประมาณ 2,000 กว่าล้านบาท เชียงใหม่เคยได้ไหม 2,000 กว่าล้าน ถ้าเราเอางบประมาณไปพัฒนาท้องถิ่น มีแหล่งท่องเที่ยวท้องถิ่น ก็ไม่คิดที่จะทำกัน สิ่งที่เรามีอยู่เราไปทำลายเอง เราไม่ได้เป็นคนกำหนดนโยบาย ถึงเวลาหรือยังที่เราจะเปลี่ยนวิธีคิด ตัวอย่างเช่น ที่ภาคอีสานทำนาอยู่ดีๆ ถนนตัดผ่าน ข้าวสองข้างทางโดนไฟส่อง ข้าวก็ตาย เหมือนกันที่สัตว์ไนท์ซาฟารี บางตัวก็ตรอมใจตาย
ขณะที่นายชัยพันธุ์กล่าวถึงทางออกว่า สตง.ต้องมีการตรวจสอบการใช้งบประมาณ และมีการตรวจสอบการตายของสัตว์ไนท์ซาฟารี
ข้อเสนอต้องมาจากการรวบรวมเรื่องต่างๆ ไม่ว่าจะเปลี่ยนกี่รัฐบาลก็ดูเหมือนว่าจะไปไม่รอด เมื่อประเมินแล้วเมื่อไปไม่รอด ก็ควรจะย้ายสัตว์ที่มีอยู่ไปที่อื่น เช่น เชียงใหม่ เขาเขียว และควรทบทวนด้วยว่าจริงๆ แล้วอย่าคิดว่ากำไร ความรู้เด็กก็ควรทำให้เด็กขวนขวายจะไปดู ไม่ควรที่จะสร้างให้ครบทั้ง 76 จังหวัด เมื่อให้หน่วยงานเอกชนเหล่านี้ทำก็เกิดการโกงเกิดขึ้น จะให้เขาทำต่อไปหรือไม่