ร้านเกมเผยที่ผ่านมาดีเด็กชายยอมขายตุ๋ยและขโมยเงินพ่อแม่-เพื่อนหาเงินเล่นเกม ระบุการเล่นเกมก็มีผลดีต่อเด็ก พร้อมขานรับนโยบาย สวช.เร่งเพิ่มจำนวน “ร้าน เกมสีขาว” ขณะที่บางราย จวกรัฐต้องไม่แค่สร้างภาพ-จ้องจับผิดคนทำธุรกิจ จี้พ่อแม่ดูแลลูกด้วยมิใช่โทษแต่ร้านเกม
จากกรณีปัญหา “เด็กติดเกม” ซึ่ง “เดลินิวส์” ให้ความสำคัญในการนำเสนอข่าวนี้อย่างเกาะติดต่อเนื่อง จนหน่วยงานภาครัฐเริ่มมีมาตรการดูแลแก้ไขปัญหานี้แล้ว และล่าสุดสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ (สวช.) ได้ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เร่งรัดโครงการ “ร้านเกมสีขาวเพื่อเยาวชน” โดยตั้งเป้าในปี 2552 ให้มีร้านเกมสีขาวถึง 2,000 ร้าน จากที่ปัจจุบันยังมีเพียง 705 ร้าน ขณะที่มีร้านเกมและร้านอินเทอร์เน็ตเฉพาะที่ยื่นจดทะเบียนถูกต้องจำนวนถึง 23,270 แห่งตามที่เสนอข่าวไปแล้วนั้น
ความคืบหน้าเกี่ยวกับเรื่องนี้ เมื่อวันที่ 12 ธ.ค. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากที่ “เดลินิวส์” ได้สุ่มสำรวจอย่างไม่เป็นทางการกับเด็กทั้งระดับ ประถมศึกษา มัธยมศึกษา อุดมศึกษา แล้วนั้นยังมีการสุ่มสำรวจผู้ประกอบการร้านเกมจำนวนหลายสิบร้าน ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด อย่างไม่เป็นทางการด้วย โดยมีหัวข้อ สอบถามคล้ายกับที่สำรวจกับเด็ก ซึ่งก็พบว่ามีประเด็นที่สอดคล้องกับความเห็นของเด็ก และการสำรวจของภาครัฐ สำหรับผลการสำรวจผู้ประกอบการร้านเกมในภาพรวมนั้น ทางร้านเกมระบุว่าการเล่นเกมก็มี ข้อดี เช่น เด็กได้ฝึกทักษะ ไหวพริบ ฝึกการใช้คอมพิวเตอร์ นอกเหนือจากได้สนุกสนาน เพลิดเพลิน คลายเครียด ซึ่งสอดคล้องกับความคิดเห็นของเด็กที่นิยมเล่นเกมคอมพิวเตอร์
อย่างไรก็ตาม ร้านเกมส่วนใหญ่ก็ยอมรับว่าอาจมีข้อเสียตามมาได้ เช่น เล่นเกมมากจนเสียสุขภาพสายตา มีปัญหาการเรียน โดดเรียนเพื่อเล่นเกม เลียนแบบพฤติกรรมไม่เหมาะสมในเกม ขณะที่ผู้ประกอบการร้านเกมแห่งหนึ่งใน จ.เพชรบุรี กล่าวว่า เด็กบางคนเล่นจนไม่มีเงินเหลือ ถึงกับขโมยเงินมาเล่น ขโมยพ่อแม่ไม่ได้ก็ขโมยคนอื่น ขโมยเพื่อน และเคยได้ยินว่ามีเด็กผู้ชายบางคนถึงกับขายตัวให้พวกเกย์เพื่อเอาเงินมาเล่นเกม “ขายตุ๋ยกันในห้องน้ำ”
ส่วนกรณีที่ สวช. ได้สำรวจพบพฤติ กรรมไม่เหมาะสมของเด็กและเยาวชนในร้านเกม เช่น การข่มขู่รีดไถเงิน การทำร้ายร่างกาย การชกต่อย-ตบตีกัน การเป็นหนี้ร้านเกม การลวนลามทางเพศ การสูบบุหรี่ ทางร้านเกมส่วนหนึ่งก็เปิดเผยข้อมูลที่สอดคล้องกับ สวช. โดยระบุว่า ที่ผ่านมาเด็กที่เข้ามาเล่นเกมในร้านก็พบบ้างว่ามีพฤติ กรรมที่ไม่เหมาะสม เช่น โมโห ฉุนเฉียวเสียงดัง ก้าวร้าว ด่ากัน พูดจาหยาบคาย บางรายก็ทะเลาะกับเพื่อน หรือบางคนสูบบุหรี่ แต่ทางร้านก็จะห้ามปราม และปัจจุบันจะมีกฎระเบียบดูแล จนพฤติ กรรมเหล่านี้มีน้อยลง ขณะที่ผู้ประกอบการร้านเกมบางร้านระบุว่า เรื่องของข้อเสียนี้ก็ต้องดูกันเป็น ราย ๆ ไป
อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่าหากเด็กเล่นเกมแบบไม่รู้จักแบ่งเวลาก็ย่อมส่งผลเสียได้ ส่วนเรื่องการเล่นเกมจนติดเกมและเด็กอาจเลียนแบบเกมจนมีพฤติกรรมในทางร้ายนั้น ก็อาจเป็นไปได้ แต่คงน้อย และต้องมีแรงกดดัน มีสิ่งแวดล้อมอื่นมาเสริม รวมถึงอยู่ที่ตัวเด็กเองด้วยว่าจะแยกแยะได้แค่ไหน ทั้งนี้ ร้านเกมบางร้านก็กล่าวว่า “เรื่องนี้ผู้ปกครองเองก็ต้องใช้วิจารณญาณในการดูแลอบรมบุตรหลาน ให้เวลากับบุตรหลานเพื่อทำกิจกรรม อื่น ๆ ด้วย ไม่ใช่โทษแต่ร้านเกม”
สำหรับการจัดระเบียบ “ร้านเกมสีขาว” ที่ สวช. ได้เปิดศูนย์ปฏิบัติการรับแจ้งเรื่องราว ผ่านทางตู้ ปณ.4 ปณฝ.สุทธิสาร กรุงเทพฯ 10321 หรือทางเว็บไซต์ www.safetycyber.org ทั้งนี้ เพื่อให้ภาคสังคมช่วยกันสอดส่องดูแลร้านเกมร่วมกันด้วยนั้น จากการสุ่มสำรวจของ “เดลินิวส์” ทางร้านเกมส่วนใหญ่กว่า 90% ตอบว่าเห็นด้วย กับการจัดระเบียบ เพื่อความเป็นระเบียบเรียบร้อยของธุรกิจร้านเกมเอง และเพื่อไม่ให้เกิดปัญหากับเด็กที่มาเล่นเกม แต่เห็นว่าในบางกรณีก็ควรมีการผ่อนผันให้บ้าง เพื่อไม่ให้เด็กรู้สึกเครียดเกินไป และเพื่อให้ธุรกิจร้านเกมสามารถอยู่ได้ด้วย ที่ สำคัญควรมีการดำเนินการอย่างจริงจังให้มาตรการที่กำหนดมีการปฏิบัติจริงโดยเป็นไปในแนวทางเดียวกันทั้งหมดทุกร้าน
อย่างไรก็ตาม มีบางร้านเกมที่ระบุว่าไม่เห็นด้วยกับมาตรการภาครัฐ เพราะเห็นว่าที่ผ่านมายังเป็นเพียงการสร้างภาพตามกระแส “ผู้ประกอบการเหมือนโดนมัดมือชก ถูกจ้องจับตา ทำอะไรผิดแค่นิดหน่อยก็โดน เป็นการจ้องจับผิดมากกว่า แทนที่จะเอาเวลาไปจับพวกเล่นการพนัน”
ทั้งนี้ หัวข้อที่ “เดลินิวส์” ได้สุ่มสำรวจอย่างไม่เป็นทางการกับร้านเกมนั้นมี 10 หัวข้อคือ 1.คิดว่าเด็กเล่นเกมแล้วมีข้อดีอะไร, 2.คิดว่าเด็กเล่นเกมแล้วมีข้อเสียอะไร, 3.โดยเฉลี่ยแล้วเด็กที่มา เล่นเกมในร้านใช้เวลาเล่นเกมนานเท่าไหร่ต่อวัน, 4.ทราบหรือไม่ว่าส่วนใหญ่แล้วเด็กเอาเงินจากไหนมาเล่นเกม, 5.เคยพบว่าเด็กเล่นเกมที่มีเนื้อหาเรื่องเซ็กซ์หรือไม่, 6.เคยพบว่าเด็กเล่นเกมที่มีเนื้อหารุนแรง เช่น ทำร้าย-ฆ่า-ปล้น หรือไม่, 7.คิดว่าเด็กเล่นเกมในลักษณะใดจึงติดเกม, 8.เคยพบเด็กที่มาเล่นเกมมีพฤติกรรมในทางไม่ดีหรือไม่ เช่น เสพยา วิวาท มีเซ็กซ์, 9.คิดว่าการเล่นเกม-ติดเกมจะทำให้เด็กมีพฤติกรรมในทางร้ายในที่สุดได้หรือไม่ เช่นกรณีปล้นฆ่าแท็กซี่เลียนแบบเกม, 10.เห็นด้วยหรือไม่กับการรณรงค์เรื่องร้านเกมสีขาว การกำหนดอายุ-เวลาเล่น การจัดเรตเกม.