ผู้สื่อข่าวรายงานจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) แจ้งว่า
สายนโยบายสถาบันการเงินได้ประกาศยอดการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตของระบบสถาบันการเงินล่าสุด ณ เดือน ต.ค. ที่ผ่านมา พบว่าระบบสถาบันการเงินมีปริมาณบัตรเครดิตทั้งสิ้น 12,867,379 บัตร เพิ่มขึ้นจากเดือน ก.ย. 186,415 บัตร หรือเพิ่มขึ้น 1.47% แยกเป็นบัตรของธนาคารพาณิชย์ไทย 4,999,552 บัตร บริษัทประกอบธุรกิจบัตรเครดิตที่ไม่ใช่ สถาบันการเงิน (นอนแบงก์) 6,502,939 บัตร และสาขาธนาคารต่างชาติ 1,364,888 บัตร โดยมีปริมาณการใช้จ่ายรวม 76,448.03 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้า 2,078 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2.79%
ทั้งนี้ แยกเป็นปริมาณการใช้จ่ายในประเทศจำนวน 55,829.11 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 592.81 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 1.07% โดยธนาคารพาณิชย์ไทยเพิ่มขึ้นมากที่สุด 642.64 ล้านบาทจากยอดใช้จ่ายในประเทศ 27,658.53 ล้านบาท รองลงมาเป็นสาขาธนาคารพาณิชย์ต่างประเทศมียอดใช้จ่ายเพิ่มขึ้น 402.26 ล้านบาท จากยอดการใช้จ่าย 8,386.33 ล้านบาท ขณะที่บริษัทประกอบธุรกิจบัตรเครดิตนอนแบงก์ เพิ่มขึ้น 352.44 ล้านบาท จากปัจจุบันที่มียอดใช้จ่าย 19,784.25 ล้านบาท ส่วนปริมาณการใช้จ่ายในต่างประเทศมีทั้งสิ้น 3,319.20 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้า 384.69 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 13.10% ซึ่งในเดือนนี้ปริมาณการใช้จ่ายประเภทนี้มียอดเพิ่มขึ้นทุกประเภทสถาบันการเงิน โดยธนาคารพาณิชย์ไทยเพิ่มขึ้น 152.02 ล้านบาท นอนแบงก์ เพิ่มขึ้น 151.86 ล้านบาท และสาขาธนาคารต่าง ชาติเพิ่มขึ้น 80.81 ล้านบาท เช่นเดียวกับการเบิกเงินสดล่วงหน้ามียอดรวมทั้งสิ้น 17,299.71 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1,100.60 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 6.79%
ขณะที่ยอดสินเชื่อคงค้าง มีทั้งสิ้น 182,843.26 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้า 1,458.88 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 0.80% โดยธนาคารพาณิชย์ ไทยมียอดคงค้างสินเชื่อเพิ่มขึ้น 706.11 ล้านบาทจากปัจจุบันที่มียอดคงค้าง 63,423.19 ล้านบาทขณะที่นอนแบงก์มียอดสินเชื่อคงค้างเพิ่มขึ้น 887.79 ล้านบาท จากยอดคงค้างที่มีอยู่ 84,605.29 ล้านบาท ส่วนสาขาธนาคารต่างชาติมียอดสินเชื่อคงค้างลดลง 135.01 ล้านบาท จากยอดที่มีอยู่ 34,814.78 ล้านบาท
นายบัณฑิต นิจถาวร รองผู้ว่าการด้านเสถียร ภาพสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า
“การขยายตัวของสินเชื่อบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลลดลงเนื่องจากก่อนหน้านี้แบงก์มีการปล่อยสินเชื่อประเภทดังกล่าวเป็นจำนวนมาก แต่ในช่วงเศรษฐกิจชะลอตัวทำให้แบงก์มีความระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อประเภทนี้มากขึ้น ซึ่งที่ผ่านมา ธปท.ได้ติดตามดูความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้อยู่แล้ว ถือว่าเป็นความท้าทายในการบริหารงานของธนาคารพาณิชย์”
อย่างไรก็ตาม การขยายตัวของสินเชื่อใน ปีหน้าโดยภาพรวมจะลดลงมาจาก 2 ปัจจัย ได้แก่
ความต้องการสินเชื่อของภาคธุรกิจลดลงตามภาวะเศรษฐกิจ ซึ่งทำให้ผู้ประกอบการระมัดระวังในการขยายธุรกิจมากขึ้น ขณะที่ธนาคารพาณิชย์ เองก็มีความระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อมากขึ้น เพราะเป็นห่วงปัญหาหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้.