นอกจากนั้นผลกระทบจากปัญหาการเมืองภายในที่รุนแรงมากช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา
กระทบต่อความเชื่อมั่นและภาคการท่องเที่ยวกว่าที่คาดการณ์ไว้มาก ประกอบกับความเสี่ยงด้านเงินเฟ้อปรับลดลงมาก และคาดว่าอัตราเงินเฟ้อจะอยู่ในระดับต่อเนื่องตลอดปี 2552 “กนง.จะอัดแรงกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านนโยบาย การเงินแบบเต็มสูบ ขณะที่การกระตุ้นผ่านงบขาดดุล 100,000 ล้านบาท จะล่าช้าออกไปจากปัญหาการเมือง ผลกระทบที่เกิดขึ้นจะทำให้อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในปีนี้และปีหน้าลดลงจากประมาณการเดิมประมาณ 1% โดยในปีนี้จะขยายตัวที่ 3.3-4% และปีหน้าประมาณ 2.8-4% อย่างไร ก็ตาม จะปรับประมาณการอย่างเป็นทางการเดือน ม.ค.ปีหน้า”
นางดวงมณีกล่าวต่อว่า
ในขณะที่เศรษฐกิจอยู่ในช่วงที่ชะลอตัวลงอย่างมาก การลดดอกเบี้ยของ กนง.ในครั้งนี้มีเป้าหมายที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจทันทีในระยะสั้นและคาดหมายว่าธนาคารพาณิชย์ จะปรับตัวตามสัญญาณที่กนง.ส่งไปอย่างรวดเร็ว “ยอมรับว่าจากการประเมินอัตราเงินเฟ้อ 8 ไตรมาสข้างหน้าเราพบว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีแนวโน้มที่จะเข้าใกล้ 0% แต่ยังไม่พบเหตุผลที่ปีหน้าจะมีภาวะ เงินฝืด ส่วนกรอบเงินเฟ้อเป้าหมายในปี 2552 อยู่ที่ 0.5-3% ซึ่งแคบกว่ากรอบเดิม 0-3.5% ที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน ถือเป็นหลักประกันโดย กนง.ว่า จะไม่ปล่อย ให้เงินเฟ้ออยู่ที่ 0% หรือติดลบ ซึ่งจะก่อให้เกิดภาวะ เงินฝืดแน่นอน”
ด้านนายเดชา ตุลานันท์ กรรมการรองกรรมการผู้จัดการใหญ่ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า
การปรับลดดอกเบี้ยของ กนง.1% ไม่มีผลให้ธนาคารพาณิชย์ลดดอกเบี้ยตามทันที เนื่องจากปัจจุบันสภาพคล่องในตลาดไม่เพียงพอ แต่หาก ธปท.ลดดอกเบี้ยพร้อมกับฉีดสภาพคล่องเข้ามาให้เกิดความต้องการ ก็จะมีผลให้ดอกเบี้ยของธนาคารพาณิชย์ลดลง
ส่วนนายธิติ ตันติกุลานันท์ ผู้บริหารสาย ธุรกิจตลาดทุนธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า
ตลาดคาดว่า กนง.จะลดดอกเบี้ยลง 0.50% แต่เมื่อลดลง 1% ทำให้ดอกเบี้ยพันธบัตรระยะสั้นและดอกเบี้ยสวอปลดลงทันที 0.25% ขณะที่นาย ศักดิ์ชัย พีชะพัฒน์ ผู้ช่วยกรรมการอำนวยการสายธนกิจลูกค้ารายย่อยธนาคารทิสโก้ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า คาดว่าทิสโก้จะปรับลดดอกเบี้ยลงทั้งเงินกู้ และเงินฝากในสัดส่วน 0.25-0.75% ส่วนดอกเบี้ยเช่าซื้อก็จะปรับลดลงเช่นเดียวกัน 0.25%
ส่วนนายสุชาติ ธาดาธำรงเวช รักษาการ รมว. คลัง กล่าวว่า
ยินดีและเห็นด้วยกับการลดดอกเบี้ย ถือเป็นความกล้าหาญและความกรุณาของ กนง. ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เพราะจะช่วยให้ สภาพคล่องที่เคยไหลเข้าไปในตลาดอาร์พีของสถาบัน การเงินไหลกลับเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ เพราะหลังจาก กนง.ปรับลดดอกเบี้ยนโยบายแล้ว ทำให้อัตราดอกเบี้ย เงินฝากเฉลี่ยเท่ากันกับอัตราดอกเบี้ยอาร์พีที่ 2.75%
สำหรับสภาพคล่องจะไหลเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ เมื่อใดนั้น ขึ้นอยู่กับว่าธนาคารพาณิชย์แต่ละแห่ง จะเห็นภาพอย่างไร คิดว่าภายใน 1-2 สัปดาห์นี้ ธนาคารพาณิชย์จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลง แต่ก็ขึ้นอยู่กับการบริหารธุรกิจของแต่ละแห่งด้วย สำหรับสถาบันการเงินขนาดใหญ่ในต่างประเทศนั้น กินส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยเงินกู้กับเงินฝากแค่ครึ่งเปอร์เซ็นต์ แต่ธนาคารพาณิชย์ของไทยกลับกินส่วนต่างถึง 2%