ดร.สุเมธ แย้มนุ่น เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา (กกอ.) กล่าวถึงปัญหาเศรษฐกิจไทย และทั่วโลกตกต่ำ
ซึ่งอาจจะส่งผลให้ผู้ปกครองของนักเรียน นิสิต นักศึกษา ถูกเลิกจ้างงาน ว่า ปัญหาเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นจะส่งผลกระทบต่อนิสิต นักศึกษาแน่นอน แต่โดยส่วนตัวคิดว่าไม่น่าจะมีนิสิต นักศึกษา ต้องลาออกกลางคันเนื่องจากเศรษฐกิจตกต่ำ เพราะมหาวิทยาลัยต่าง ๆ มีมาตรการช่วยเหลือเต็มที่อยู่แล้ว และมหาวิทยาลัยหลายแห่งก็ยินดีให้ผ่อนชำระค่าเล่าเรียนได้ ขณะเดียวกันสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) จะเสนอมาตรการดูแลนิสิตนักศึกษาต่อที่ประชุม กกอ.ชุดใหม่ ทันทีที่มีการแต่งตั้งจากคณะรัฐมนตรี โดยแบ่งมาตรการเป็น 2 ระยะ คือ มาตรการระยะสั้น และมาตรการระยะยาว
เลขาธิการ กกอ. กล่าวต่อไปว่า มาตร การระยะสั้น คือ จะของบประมาณจำนวน 2 พันล้านบาท จากวงเงินงบประมาณกลางปีงบประมาณ 2552 ที่รัฐบาลตั้งไว้ 1 แสนล้านบาทเพื่อแก้ปัญหาเศรษกิจ
โดยนำเงินในส่วนดังกล่าวมาจัดสรรให้แก่มหาวิทยาลัยต่าง ๆ ในการจัดสอนเสริมทักษะให้แก่นิสิต นักศึกษา ชั้นปีที่ 4 ที่กำลังจะจบการศึกษา แต่หากจบแล้วยังไม่มีงานทำอีก ก็จะขอให้สถานประกอบการรับบัณฑิตเข้าฝึกงาน หรือ ทำงานล่วงเวลา และขอให้มหาวิทยาลัยเปิดรับบัณฑิตว่างงานเข้าศึกษาต่อในระดับประกาศนียบัตรบัณฑิต หรือปริญญาโท สำหรับมาตรการระยะยาว คือ การทบทวนหลักสูตรสาขาวิชาต่าง ๆ ที่มหาวิทยาลัยเปิดสอนอยู่ให้ตรงกับความต้องการของตลาดแรงงาน และกรอบมาตรฐานคุณวุฒิ พร้อมทั้งทบทวนเป้าหมายการผลิตกำลังคนในแต่ละสาขาวิชา โดยไม่ปล่อยให้มหาวิทยา ลัยผลิตบัณฑิตตามใจชอบเหมือนที่ผ่านมา
ด้าน นายบัณฑิตย์ ศรีพุทธางกูร ผอ. สำนักบริหารงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) ว่า ขณะนี้ผู้ปกครองของนักเรียนโรงเรียนเอกชน ยังจ่ายค่าเล่าเรียนเป็นปกติ
เพราะยังไม่ได้รับผลกระทบใด ๆ อีกทั้ง สช.ได้จัดสรรเงินอุดหนุนรายหัวให้แก่นักเรียน และดูแลโรงเรียนเอกชนที่รับเงินอุดหนุนฯให้เก็บค่าเล่าเรียนอย่างเป็นธรรม ซึ่งช่วยแบ่งเบาภาระของผู้ปกครองได้ส่วนหนึ่ง ในส่วนของโรงเรียนเอกชนที่ไม่รับเงินอุดหนุนฯ ซึ่งสามารถเก็บค่าเล่าเรียนแบบลอยตัวนั้น ผู้ปกครองกลุ่มนี้จะมีรายได้สูงอยู่แล้ว อย่างไรก็ตามหากผู้ปกครองมีปัญหาและได้รับผลกระทบจากปัญหาเศรษฐกิจไม่มีเงินจ่ายค่าเล่าเรียนลูก สช.ก็จะขอให้โรงเรียนเอกชนช่วยผ่อนผัน โดยให้ผู้ปกครองผ่อนชำระค่าเล่าเรียนลูกได้