ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 17 พ.ย. นี้ สถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจ ศศินทร์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้เปิดตัวหน่วยงาน Sasin Institute for Global Affair (SIGA)
พร้อมจัดเสวนาวิชาการประจำปี 51 ภายใต้หัวข้อ กระแสวิกฤติแห่งศตวรรษ โดยมีนายโอฬาร ไชยประวัติ รองนายกรัฐมนตรี ร่วมกล่าวปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ “บทบาทเอเชียในวิกฤติการเงินโลก” โดยเชื่อว่าในอนาคตศูนย์กลางทางการเงินจะย้ายจากสหรัฐฯและยุโรปมาอยู่ในเอเชีย คือในเซี่ยงไฮ้ ของจีน โดยจีนจะขึ้นเป็นผู้นำทางด้านการเงินแทนสหรัฐฯและยุโรป เพราะจีนมีความพร้อมทุกด้านและเชื่อว่าในการประชุมผู้นำอาเซียน+3 (จีน ญี่ปุ่น เกาหลี) ในวันที่ 15 ธ.ค.นี้ ที่ จ.เชียงใหม่ จะมีความตกลงในเรื่องดังกล่าวชัดเจนขึ้น
ขณะเดียวกัน นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ ประธานคณะที่ปรึกษาประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ราคาน้ำมันที่ลดลงในขณะนี้ไม่ใช่ครั้งแรกที่ตลาดโลกเกิดความไม่สมดุลในราคาน้ำมัน
เพียงแต่ครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่ความไม่สมดุลในตลาดน้ำมันได้เข้ามากระทบกับราคาสินค้าเกษตรและคาดว่าราคาน้ำมันที่ลดลงต่ำจะอยู่ไปอีก 2-3 ปี คงจะอยู่ที่ระดับ 40-50-60 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล จากภาวะเศรษฐกิจโลกถดถอยจะทำให้ลดการลงทุนในการขุดเจาะน้ำมันรวมทั้งลดการลงทุนในการส่งเสริมพลังงานทดแทน ในที่สุดจะนำไปสู่วิกฤติน้ำมันอีกครั้งในอีก 3-4 ปีข้างหน้า ตอนนี้จึงควรค้นคว้าพลังงานทดแทนเพิ่มเติมและประหยัดการใช้ พลังงานต่อไป ขอให้รัฐบาลเลิกพูดพลังงานในประเทศราคาถูก นักการเมืองต้องพูดราคาพลังงานต้องแพง และต้องเก็บเพิ่มภาษีน้ำมันเพื่อนำไปใช้พัฒนาพลังงานทดแทน
“การเมืองไทยตอนนี้เป็นแบบนี้ ก็ตัวใครตัวมัน ให้เก็บเงินไว้เยอะๆ เพราะมีรัฐบาลก็เหมือนไม่มี เห็นได้จากตั้งแต่เดือน ก.พ.ที่ผ่านมาไม่ได้ทำอะไร สนใจแต่อี 85 ทั้งๆที่ยังมีอี 10 และอี 20 ที่ยังเพิ่มปริมาณการใช้ได้จากที่ตอนนี้ใช้ วันละ 10 ล้านลิตร ใช้เอทานอลวันละ 1 ล้านลิตร ทั้งๆที่เอทานอลสามารถใช้ได้ถึงวันละ 1.5 ล้านลิตร แต่รัฐบาลไม่สนใจ”
ด้านนายอำพน กิตติอำพน เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.)
โครงสร้างการผลิตและส่งออกของไทยปรับไปแล้วเมื่อ 4-5 ปีที่ผ่านมา และมีการลงทุนในอุตสาหกรรมหลักทั้งปิโตรเคมี รถยนต์ และอิเล็กทรอนิกส์ไปในจำนวนสูง จึงเชื่อว่าบริษัทแม่จะไม่ปิดโรงงานเพราะลงทุนไปแล้ว เพียงแต่อาจลดกำลังการผลิตลงบ้างจากความ ต้องการในตลาดโลกลดลง โดยเฉพาะเอกชนญี่ปุ่นที่มาลงทุนในไทยเพื่อสร้างฐานการส่งออกคงไม่ ปิดโรงงานแน่นอน ขณะที่ราคาสินค้าเกษตรยังเป็นตัวนำรายได้เข้าประเทศ ทั้งนี้ ในปี 51 รายได้ จากการส่งออกยังเป็นตัวปริมาณการบริโภคก็ไม่ตก แต่ในปี 52 การส่งออกมีสัญญาณว่าจะลดน้อยลง จึงต้องดูว่ารัฐบาลจะผลักดันให้เกิดการลงทุนได้หรือไม่
ด้านนายศุภวุฒิ สายเชื้อ กรรมการผู้จัดการ (หัวหน้าสายวิจัย) บริษัทหลักทรัพย์ภัทร จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า จากที่ประเทศไทยเคยเกิดวิกฤติเศรษฐกิจในปี 40
และสร้างมาตรการป้องกันต่างๆไว้ ทำให้เราอยู่ในฐานะเอาตัวรอดได้ดีที่สุด และสิ่งที่เป็นห่วงจากเมื่อ 2 เดือนก่อนว่าจะมีสถาบันการเงินในสหรัฐฯและยุโรปล้มทั้งหมดนั้น ตอนนี้ไม่ห่วงแล้วเพราะรัฐบาลของสหรัฐฯและยุโรปได้มีมาตรการออกมาดูแลเต็มที่ ตอนนี้ ถือว่าวิกฤติผ่านไปแล้ว แต่ยังจะมีปัญหาในภาคการผลิตอื่นๆตามมาอีก
ส่วนอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกในปี 52 ที่วิเคราะห์กันว่าจะขยายตัว 2.1% อาจจะไม่เป็นไปตามนั้นเพราะมีข้อมูลว่าทางนักเศรษฐศาสตร์คาดว่าเศรษฐกิจของจีนจะขยายตัว 8% ขึ้นไป
แต่ผู้จัดการกองทุนต่างๆที่ถือหุ้นในจีนมองว่าเป็นการเข้าใจผิดและจะเติบโตได้ถึง 5% หรือเปล่ายังไม่รู้ เพราะได้เห็นการปิดโรงงานจำนวนมากและการเกิดหนี้เสียในประเทศจีน และไม่แน่ใจว่าการกระตุ้นเศรษฐกิจของจีนที่จะนำเงิน 580,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯหรือเท่ากับ 15% ของผลิตภัณฑ์ มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ของจีนจะเป็นจริงได้หรือไม่ อย่างประเทศไทยที่เพิ่มขาดดุลงบ ประมาณ 100,000 ล้านบาท ก็เพียงแค่ 1% ของจีดีพีเท่านั้น อีกทั้งจีนเอามาตรการเก่ามาผสมมาตรการใหม่เยอะ ดังนั้น จีดีพีของโลกอาจจะเหลือเพียงแค่ 1.5% แค่นั้น “เวลาที่เกิดปัญหาวิกฤติ ภาคตลาดเงินและตลาดทุนมักจะฟื้นตัวก่อนภาคการผลิต และมองว่าวิกฤติโลกที่เกิดครั้งนี้และกระทบกับไทยได้ กระแทกลงสู่คนระดับล่างจากราคาผลผลิตการเกษตรลดลง ฉะนั้น เวลาที่เศรษฐกิจจะฟื้นปกติใช้เวลา 4 ไตรมาส แต่เมื่อกระทบคนระดับล่างอาจต้องใช้เวลาถึง 8 ไตรมาสทีเดียว”.