สถานการณ์เศรษฐกิจ "สหรัฐ-อียู" ทรุดหนัก ทําพิษเศรษฐกิจโลกยวบ นักวิเคราะห์ระดมความคิดพาไทยฝ่าวิกฤต "แฮมเบอร์เกอร์" เตรียมพร้อมรับการเปลี่ยนแปลงครั้งใหม่ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต หวัง "เอเชีย" ฉวยโอกาสผงาดพลิกขั้วอำนาจทางเศรษฐกิจ
เมื่อเวลา 9.30 น. วันที่ 13 พฤศจิกายน ที่ห้องประชุมโรงแรมสยาม ซิตี้ ได้มีการเปิดการเสวนาความมั่นคงเรื่อง "วิกฤตการเงินโลก-วิกฤตความมั่นคงไทย" ที่จัดขึ้นโดยสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ซึ่งมีวิทยากรร่วมให้ความรู้และความคิดเห็น 2 ท่าน ได้แก่ ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ กรรมการผู้จัดการและหัวหน้าสายงานวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ภัทร จํากัด (มหาชน) และนายสุรเธียร จักรธรานนท์ นักวิชาการอิสระ ซึ่งงานดังกล่าวจัดขึ้นเพื่อถกประเด็นปัญหาเกี่ยวกับวิกฤตการเงินโลกและความมั่นคงของเศรษฐกิจในประเทศไทย
ดร.ศุภวุฒิ กล่าวถึงปัญหาวิกฤตการณ์ซับไพร์มที่สหรัฐฯ กำลังเผชิญอยู่ และกําลังลุกลามไปทางฝั่งยุโรป จนเป็นวิกฤตการเงินโลก ว่า
เกิดขึ้นเมื่อช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ซึ่งสาเหตุมาจากสหรัฐฯ ผลิตตราสารหนี้และอนุพันธ์การเงิน โดยคาดคะเนว่าสามารถควบคุมความเสี่ยงได้ และปล่อยเงินกู้ให้ลูกหนี้ที่ต่ำกว่ามาตรฐานหรือทํางานไม่เป็นหลักแหล่งแบบเกินตัว, ปัญหาเกิดขึ้นเมื่อสหรัฐฯ เอาสินเชื่อตรงนี้ไปรวมกับสินเชื่อประเภทใหม่ ผลิตตราสารที่มีหนี้เป็นหลักประกัน หรือที่เรียกว่า "Collateralized Debt Obligation" (CDO) โดยมีสถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือรับประกันความเสี่ยงว่ามีน้อย ธนาคารต่างๆ ทั่วโลกจึงทยอยตั้งกองทุนซื้อ "CDO" ผลก็คือเมื่อสถาบันการเงินของอเมริกาพัง สถาบันการเงินของประเทศอื่นๆ จึงพากันล้มครืนตามไปด้วย
ชี้ เอเชีย ฉวยโอกาสพลิกวิกฤตเป็นทอง เปลี่ยนขั้วอำนาจแทน สหรัฐ-ยุโรป หลังโดนวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์
ดร.ศุภวุฒิ ยังกล่าวถึงท่าทีของนายบารัก โอบามา ประธานาธิบดีสหรัฐคนปัจจุบัน ต่อปัญหาการเงินที่เกิดขึ้น ว่า
สหรัฐฯอาจแก้ปัญหาจากภายในก่อน โดยมีแนวโน้มที่จะทบทวนความร่วมมือทางเขตการค้าเสรี และการกีดกันทางการค้า เพื่อเป็นการสร้างงานให้กับพลเมืองในประเทศ
"สําหรับปัญหาเดียวกันนี้ที่เกิดขึ้นในยุโรป เห็นว่าประเทศที่เจริญแล้วอาจต้องเข้ามาช่วยเหลือประเทศที่ยังอ่อนแอทางเศรษฐกิจภายในภูมิภาคเดียวกัน ซึ่งมีนักวิชาการบางคนคาดไปจนถึงว่าวิกฤตการเงินดังกล่าวอาจทําให้ถึงจุดจบของเงินสกุลยูโรก็เป็นได้ ซึ่งในอนาคตเอเชียจะมีโอกาสกําหนดทิศทางของเศรษฐกิจโลกมากขึ้น" ดร.ศุภวุฒิกล่าว
ด้านนายสุรเธียรกล่าวเสริมถึงบทบาทของเอเชียในอนาคต โดยยกเอาประเทศจีนและประเทศตะวันออกกลาง เช่น ดูไบ และกาตาร์ ว่า
มีการบริหาร"ทุนส่วนเกิน" ซึ่งเป็นกองทุนที่อยู่ในรูปบำเน็จบำนาญที่เกิดจากบุคคลทั่วไป โดยเงินทุนเหล่านั้นถูกนำไปลงทุนเพื่อให้เกิดความมั่งคั่ง ในปัจจุบันจะเห็นได้ว่ามีกลุ่มคนจากประเทศเหล่านี้ถือพันธบัตรของสหรัฐฯ และยุโรปเป็นจำนวนมาก นอกจากนี้ ยังมีความพยายามที่จะเทคโอเวอร์กิจการที่กำลังตกต่ำของสหรัฐและยุโรป โดยในอนาคตอาจเห็นธุรกิจขนาดใหญ่ที่มีคนเอเชียเป็นผู้บริหารมากขึ้น
ดร.ศุภวุฒิ แสดงความเห็นว่า
วิกฤตการเงินโลกครั้งนี้อาจไม่ส่งผลกระทบต่อธนาคารไทยมากอย่างที่เป็นห่วงกัน เนื่องจากแบงก์ไทยมีเงินสำรองมาก จึงมีเสถียรภาพในการปลดหนี้ระยะสั้น อย่างไรก็ตาม ผู้ที่จะได้รับผลกระทบจากวิกฤตการเงินคือการส่งออกภาคการเกษตร และธุรกิจเอ็สเอ็มอีของไทย ซึ่งมีข้อสังเกตว่าภาคการเกษตรมีส่วนช่วยพยุงให้ไทยผ่านพ้นวิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้งได้ แต่ในครั้งนี้เชื่อว่าวิกฤตการเงินโลกจะส่งผลกระทบต่อภาคการเกษตรอย่างชัดเจน
"ธนาคารไทยเปลี่ยนพฤติกรรมการปล่อยสินเชื่อโดยมีความเข้มงวดมากขึ้น ระมัดระวังตัวมากขึ้นหลังจากได้บทเรียนวิกฤตเศรฐกิจ ต้มยำกุ้งในปี 2540 ซึ่งจะทําให้ไม่เกิดปัญหากับสถาบันการเงินไทยมากนัก แต่อาจส่งผลกระทบต่อภาคการเกษตรและเอ็สเอ็มอี " ดร.ศุภวุฒิกล่าว
ทั้งนี้ ที่ประชุมได้สรุปความเห็นตรงกันว่า
ประเด็นที่น่าสนใจเกี่ยวกับปัญหาวิกฤตการเงินโลกในครั้งนี้ คือมีความเป็นไปได้ว่า หากประเทศสหรัฐอเมริกาและยุโรปไม่สามารถหามาตรการที่จะฟื้นฟูสภาพเศรษฐกิจการเงินได้ ขั้วอำนาจอาจถูกเปลี่ยนมือ โดยประเทศจีน และอาจเข้ามามีบทบาทในฐานะผู้นําโลก และทําให้ศตวรรษหน้าเป็นยุคทองของ "เอเชีย" โดยประเทศไทยก็อาจสามารถพลิกวิกฤตครั้งนี้ให้เป็นโอกาสได้ อย่างไรก็ตาม จากสถานการณ์ความแตกแยกทางการเมืองที่ยังไม่มีทีท่าว่าจะสิ้นสุด เห็นทีโอกาสที่จะพลิกเป็นทองได้นั้นก็อาจจะล้มเหลว