ผลสำรวจ"หอการค้าไทย"ชี้คนไทยสุขน้อยลงกว่าปีที่แล้ว แถมยังไม่คลายกังวลต่อภาวะค่าครองชีพที่มีแนวโน้มจะสูงขึ้น แม้ว่าราคาน้ำมันจะลดลง ปัจจัยหลักยังคงเกี่ยวข้องกับปัญหาการเมือง แนะรัฐบาลลดภาษี-สร้างเสถียรภาพทางการเมือง-เสริมสภาพคล่อง ช่วยทำให้ธุรกิจเติบโตขึ้นได้
ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และหอการค้าไทย แถลงผลโพลเมื่อวัน 13 พฤศจิกายน เรื่อง "ข้อคิดเห็นของหอการค้าไทยที่มีต่อเศรษฐกิจไทย และผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค"
โดย ผศ.ดร.เสาวณีย์ ไทยรุ่งโรจน์ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัย มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย แถลงถึงผลสำรวจภาวะการณ์ทางสังคมของผู้บริโภคประจำเดือนตุลาคม 2551 ซึ่งมีการสำรวจความเชื่อมั่นของผู้บริโภค ตั้งแต่เดือนกรกฏาคม 2549 มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาดัชนีที่ใช้ชี้วัดการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมทางสังคม และการเปลี่ยนแปลงของความสุขของคนในประเทศไทย
สำหรับการสำรวจในเดือนตุลาคม มีผลดังนี้ ดัชนีความสุขในการดำรงชีวิต ปัจจุบันอยู่ในระดับ 92.5 ซึ่งเป็นค่าที่ตํ่าที่สุดในรอบ 26 เดือนนับตั้งแต่กันยายน 2549
แสดงว่าประชาชนมีความสุขใกล้เคียงระดับปกติ (ระดับปกติจะมีค่าดัชนีในระดับ 100) ดัชนีภาวะค่าครองชีพตุลาคม 2551 ปัจจุบันอยู่ที่ระดับ 4.4 ซึ่งเป็นค่าที่ตํ่าสุดในรอบเดือนนับตั้งแต่กันยายน 2549 แสดงว่าประชาชนประสบกับภาวะค่าครองชีพที่สูงขึ้น เนื่องจากราคาสินค้าทั่วไปยังมีราคาสูง แม้ว่าราคานํ้ามันจะลดลงแต่ผู้บริโภคยังรู้สึกว่าราคายังคงตัวอยู่ในระดับสูง ทำให้ประชาชนยังคงวิตกกังวลกับค่าครองชีพที่อาจจะปรับขึ้นในอนาคต
ดัชนีความคิดเห็นเกี่ยวกับสถานะการณ์ทางการเมืองในเดือนตุลาคม 2551 ที่เกี่ยวกับสถานการณ์ทางการเมืองอยู่ที่ระดับ 43.2 ซึ่งเป็นระดับที่ตํ่าที่สุดในรอบ 15 เดือนนับตั้งแต่สิงหาคม 2550 เป็นต้นมา
ปรับตัวจากระดับ 45.9 ในเดือนที่แล้วเนื่องจากกลุ่มตัวอย่างเห็นว่า สถานการณ์ทางการเมืองขาดเสถียรภาพอย่างมากเมื่อกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พปช.) เข้ายึดทำเนียบรัฐบาลและมีการชุมนุมคัดค้านรัฐบาลอย่างยืดเยื้อ สำหรับการคาดหวังในสถานการณ์ทางการเมืองในช่วง 3 เดือนข้างหน้านั้น กลุ่มตัวอย่างเห็นว่าอนาคตทางการเมืองอยู่ในระดับดี 9.8% ปานกลาง 38.1% น้อย 52.1% ส่งผลให้ดัชนีความคิดเห็นทางการเมืองในอนาคตอยู่ในระดับที่ 57.7 ซึ่งเป็นการปรับตัวลดลงจากดัชนีเมื่อเดือนที่แล้วที่อยู่ในระดับ 59
ผศ.ดร.ธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์ เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวถึงแนวโน้มเศรษฐกิจในประเทศไทยในปี 2552 ยังมองไม่เห็นปัจจัยด้านบวก ถ้าการเมืองและเศรษฐกิจไทยยังไม่ดีขึ้น
ปัจจัยบวกของเศรษฐกิจไทยในช่วงปี 2552 ที่สำคัญประกอบด้วย รัฐบาลใช้นโยบายการคลังและมาตราการกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยเฉพาะการเพิ่มการขาดดุลงบประมาณอีก 1 แสนล้านบาท ทำให้การขาดดุลงบประมาณในปี 2552 เพิ่มขึ้นจาก 2.5 แสนล้านบาทเป็น 3.5 แสนล้านบาท การเร่งการเบิกจ่ายงบประมาณและการลงทุนของภาครัฐ โดยเฉพาะ เมกะโปรเจ็คต์ อย่างเช่นการสร้างทางรถไฟฟ้า 2-3 สาย อัตราดอกเบี้ยโลกทรงตัวอยู่ในระดับที่ต่ำส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยของไทยปรับตัวลดลงในอีก 0.5-1.5% และระดับราคาน้ำมันเติบโตในตลาดโลกมีแนวโน้มทรงตัวอยู่ในระดับต่ำโดยเฉพาะทรงตัวอยู่ในระดับเฉลี่ยประมาณ 70-80 ดอลล่าร์ต่อบาร์เรล ต่ำลงเมื่อเทียบกับระดับเฉลี่ย 95-105 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลในปีนี้
ส่วนปัจจัยลบของเศรษฐกิจในปี 2552 ประกอบด้วย เศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวลงมาก โดยเฉพาะประเทศคู่แข่งสำคัญของไทยคือ
สหรัฐฯ สหภาพยุโรป และญี่ปุ่น มีโอกาสที่จะเผชิญกับภาวะเศรษฐกิจถดถอยส่งผลให้การส่งออกของไทยขยายตัวได้ไม่มาก กับความไม่แน่นอนทางการเมืองในประเทศที่อาจเกิดขึ้นจากการแก้ไขรัฐธรรมนูญ หรือการยุบพรรคร่วมรัฐบาล ส่งผลทำให้ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและผู้ประกอบการตํ่า จึงทำให้ไม่กล้าลงทุนมากนักและราคาพืชผลทางเกษตรมีแนวโน้มปรับตัวลดลงกว่าปีนี้ ส่งผลให้เกษตกรมีรายได้ลดลง ซึ่งจะทำให้เศรษฐกิจไทยในทุกภูมิภาคขาดแรงขับเคลื่อนหรือขาดแรงพยุงทางเศรษฐกิจที่สำคัญเนื่องจากภาคการเกษตรและเกษตกรเป็นภาคเศรษฐกิจที่มีกำลังซื้อสูงในแต่ละภาค ปัญหาสภาพคล่องทางการเงินตึงตัว อาจส่งผลกระทบต่อการดำเนินการของธุรกิจ
ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ได้ประมาณอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทยในปี 2551 ภายใต้สมมติฐานว่า 2 กรณี ดังนี้
กรณีปกติ เศรษฐกิจโลกชะลอตัวลงไม่มากเกินไป ประกอบกับการเมืองไทยที่ยังไม่นิ่งในช่วงครึ่งแรกของปีหน้า ส่งผลให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวประมาณ 3.9-4.1% การส่งออกขยายตัวประมาณ 8.0-10.0% อัตราเงินเฟ้อ 3.0-4.0% โดยมีการว่างงานประมาณ 6-7.5 แสนคน หรือคิดเป็นอัตราการว่างงาน 1.6-1.9% เพิ่มขึ้นจากปี 2551 ที่จะมีการว่างงานประมาณ 5 แสนคนหรือคิดเป็นอัตราว่าง 1.5%
กรณีตํ่า เศรฐกิจโลกชะลอตัวลงมาก โดยประเทศสหรัฐ สหภาพยุโรป และญี่ปุ่น เผชิญกับภาวะถดถอย และการเมืองไทยยังไม่มีเสถียรภาพเช่นเดิม ส่งผลให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวประมาณ 2.9-3.1% การส่งออกขายตัวประมาณ 0.0-0.2% โดยมีการว่างงานประมาณ 7.6-9.0 แสนคน หรือคิดเป็นอัตราการว่างงาน 2.0-2.3 % เพิ่มขึ้นจากปี 2551 ที่ว่างงานประมาณ 5 แสนคนหรือคิดเป็นอัตราส่วนว่างงาน 1.5%
"สิ่งที่ต้องการให้รัฐบาลเข้ามาดูแลเพื่อให้ความสามารถแข่งขันและดำเนินธุรกิจได้คือ ลดต้นทุนการผลิต เช่น ลดภาษี ลดกฎระเบียบที่เป็นอุปสรรคเป็นต้น ปรับลดอัตราดอกเบี้ย สร้างความเสถียรภาพทางการเมือง ให้ค่าเงินบาททรงตัวอ่อนค่าอย่างเสถียรภาพ ส่งเสริมการหาตลาดส่งออก เสริมสร้างสภาพคล่องทางการเงินในประเทศ เพิ่มการลงทุนในสาธารณูปโภคเพื่อเพิ่มการจ้างงานให้มากขึ้น" ผศ.ดร.ธนวรรธน์ กล่าว
โพลชี้คนไทยสุขน้อยลง-ยังกังวลสภาพศก.ไม่คล่องตัว แนะรัฐลดภาษีช่วย
หน้าแรกTeeNee ที่นี่ข่าววันนี้, ข่าวหน้าหนึ่ง ข่าวอื่นๆ โพลชี้คนไทยสุขน้อยลง-ยังกังวลสภาพศก.ไม่คล่องตัว แนะรัฐลดภาษีช่วย