คลังชูนโยบาย 3 อ่อนสยบวิกฤติ ดอกเบี้ย-เงิน บาท-ภาษีอ่อนเตือนสติ ธปท.

ผู้สื่อข่าวรายงานเมื่อวานนี้ (12 พ.ย.) คณะกรรมาธิการการเงิน การคลัง การธนาคารและสถาบันการเงิน วุฒิสภา ร่วมกับสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติจัดสัมมนาเรื่อง ทางรอดของเศรษฐกิจไทย จากวิกฤติเศรษฐกิจโลก โดยมีนายสุชาติ ธาดาธำรงเวช รมว.คลัง กล่าวในหัวข้อเรื่อง นโยบายการแก้ไขปัญหาและป้อง กันไม่ให้เศรษฐกิจไทยกระทบจากวิกฤติเศรษฐกิจโลก ว่า

จากปัญหาเศรษฐกิจโลกที่ส่งผลกระทบต่อสภาพคล่องและปริมาณเงินในระบบหดหายไป รัฐบาลได้วางนโยบายสร้างความเชื่อมั่นให้ เกิดขึ้น ซึ่งที่ผ่านมา ได้ขยายเวลาการค้ำประกันเงินฝากเป็น
3 ปี เพื่อให้ประชาชนมั่นใจในการฝากเงินและไม่แห่ถอนเงินจากธนาคารพาณิชย์

 สำหรับนโยบายที่จะดำเนินการเพื่อสร้างความเชื่อมั่นคือ การใช้นโยบาย 3 อ่อน

ประกอบด้วยอัตราดอกเบี้ยอ่อน เงินบาทอ่อนและอัตราภาษีอ่อน เพื่อให้เศรษฐกิจไทยในปีหน้าเติบโตไม่ต่ำกว่า
4% ของจีดีพี (ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ) ประการแรก นโยบายอัตราดอกเบี้ยอ่อนหรืออยู่ในระดับต่ำ เพราะเห็นว่าอัตราดอกเบี้ยอาร์พียังอยู่ในระดับสูงกว่าอัตราดอกเบี้ยเงินฝากทำให้ธนาคารพาณิชย์ที่รับเงินฝากจากประชาชน โดยมีต้นทุนเงินฝากเพียง 2% แล้วนำไปฝากกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในอัตราดอกเบี้ย 3.75%
ธนาคารพาณิชย์จะกินส่วนต่างจากอัตราดอกเบี้ย โดยไม่ต้องตั้งสำรองหนี้และไม่เป็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอ) ทำให้ไม่มีเงินไหลเข้าสู่ระบบเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ

ประการที่ 2 นโยบายค่าบาทอ่อนเพื่อช่วยผลักดันภาคการส่งออกของไทย ทั้งนี้ การส่งออกในปัจจุบันมีมูลค่ากว่า 178,000 ล้านเหรียฐสหรัฐฯ หากเงินบาทอ่อนค่าลง 1 บาทต่อเหรียญสหรัฐฯ จะช่วยเพิ่มมูลค่าการส่งออกในรูปของเงินบาทได้ถึง 178,000 ล้านบาทมากกว่างบประมาณกลางปี 52 แม้ผู้นำเข้าจะได้รับผลกระทบจากค่าเงินบาทก็ตาม แต่หากเปรียบเทียบกันแล้วถือว่า คุ้มค่า เพราะราคาน้ำมันจะแพงขึ้นเพียง 10 สตางค์
 เงินบาทที่อ่อนจะช่วยการส่งออก เพราะได้มาฟรีๆ ธปท.ไม่ต้องจ่ายเงิน เกษตรกรที่ส่งออกพืชผลทางการเกษตรจะได้รับเงินเพิ่มขึ้นอีก 1 บาททุกๆ 1 เหรียญสหรัฐฯ เท่ากับเป็นการเพิ่มกำลังซื้อและเพิ่มการจับจ่ายใช้สอยของประชาชนอย่างมากมาย แม้แต่จีนเองก็ทำให้ค่าเงินหยวนอ่อนค่าเหมือนกัน ประการสุดท้าย นโยบายภาษีอ่อนหรือการลดอัตราภาษี ยอมรับว่า ปีงบประมาณ 52 รัฐบาลอาจจัดเก็บรายได้ไม่ถึงเป้าหมาย 1.56 ล้านล้านบาท เนื่องจากรัฐบาลตั้งงบขาดดุลเพิ่มขึ้น 100,000 ล้านบาท เพราะเศรษฐกิจไม่ปกติ ซึ่งข้อเสนอของเอกชนในการปรับลดภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและนิติบุคคลนั้นอยู่ระหว่างปรับโครงสร้างภาษีทั้งระบบ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขัน โดยระยะยาวจะลดภาษีเงินได้นิติบุคคลเพื่อให้แข่งขันกับต่างประเทศได้ เพราะปัจจุบันสิงคโปร์มีอัตราภาษีอยู่ที่ 20% ฮ่องกง 16%

รัฐบาลมีแผนต้องใช้เงินลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ และใช้ดูแลเศรษฐกิจของประเทศ หากมีการปรับลดภาษีลงจะกระทบต่อการจัดเก็บรายได้ของรัฐบาลและอาจทำให้รัฐบาลขาดดุลงบประมาณมากเกินไปซึ่งจะมีผลต่อเครดิตของประเทศและกระทบต่อต้นทุนการกู้เงินได้ จึงต้องชั่งน้ำหนักเรื่องนี้ให้รอบคอบ

นายสุชาติกล่าวว่า

หากสามารถดำเนินการ
3 อ่อนได้ มั่นใจว่าเศรษฐกิจปี 52 จะเติบโตได้ 4% โดยที่รัฐบาลได้วางนโยบายเพื่อดูแลเรื่องค่าเงิน อัตราดอกเบี้ย และการดูแลโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ
 นายไชยา สะสมทรัพย์ รมว.พาณิชย์ กล่าวว่า

ได้กำหนดมาตรการรับมือวิกฤติเศรษฐกิจที่จะดำเนินการในปี
52 โดยได้รับจัดสรรงบประมาณ 1,720 ล้านบาท จากงบกลางของรัฐบาล 100,000 ล้านบาท เพื่อทำโครงการเพิ่มเติมนอกเหนือจากโครงการที่จะดำเนินการภายใต้งบประมาณปกติ เพื่ออัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ คาดว่าผลจากมาตรการที่จะดำเนินการนี้ จะช่วยให้มีเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจทันที 24,300 ล้านบาท และเกิดการหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ 3-4 รอบ ทำให้มีเงินเพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่า 100,000 ล้านบาท
 ทั้งนี้ มาตรการที่จะดำเนินการมี 3 มาตรการ คือ
 
1.การเพิ่มมูลค่าการส่งออกของประเทศอีก 6,600 ล้านบาท หรือ 0.1% ของมูลค่าการส่งออกของประเทศ 6.6 ล้านล้านบาท โดยจะมีงบประมาณในส่วนนี้ 370 ล้านบาท เพื่อส่งเสริมการไปดำเนินธุรกิจในต่างประเทศ การจัดกิจกรรมส่งเสริมการตลาด ด้านการค้าการลงทุน การท่องเที่ยว การพัฒนาย่านการค้าในประเทศเพื่อการส่งออก เช่น ย่านโบ๊เบ๊ ใบหยก ประตูน้ำ เป็นแหล่งส่งออกเสื้อผ้า วรจักรเป็นแหล่งส่งออกชิ้นส่วนยานยนต์ และมเหสักข์ เป็นแหล่งส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับ
 2.การเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกรอีก 12,000 ล้านบาท หรือ 1% ของมูลค่าภาคเกษตร 1.2 ล้านล้านบาท โดยจะเพิ่มงบประมาณในส่วนนี้ 600 ล้านบาท เพื่อส่งเสริมตลาดสินค้าเกษตรอินทรีย์ การพัฒนาและเพิ่มคุณภาพมาตรฐานสินค้าเกษตร การส่งเสริมตลาดกลางชุมชน โดยเชื่อมโยงเกษตรกรไปโรงงานแปรรูป

3.การกระตุ้นเศรษฐกิจในภูมิภาคต่างๆ ของประเทศ โดยตั้งเป้าให้มีเงินหมุนเวียนเพิ่มขึ้น 5,700 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 0.1% ของจีดีพีจังหวัดที่มีมูลค่า 5.386 ล้านล้านบาท โดยจะมีงบประมาณ 750 ล้านบาท ดำเนินการพัฒนาสมรรถนะธุรกิจไทยให้เข้มแข็ง เพิ่มขีดความสามารถธุรกิจค้าปลีกค้าส่ง สร้างพลังธุรกิจเพื่อการอยู่รอดให้กับธุรกิจไทย การพัฒนาย่านการค้าในภูมิภาคใน 30 จังหวัดทั่วประเทศ การจัดกิจกรรมงานแสดงสินค้า และสร้างช่องทางจำหน่ายสินค้าจากโรงงาน การจับคู่ธุรกิจระหว่างจังหวัดและการจัดมหกรรมทรัพย์สินทางปัญญาเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจไทย
 มาตรการที่กระทรวงพาณิชย์ทำเพิ่มเติมนี้ เป็นการทำงานต่อเนื่อง  เพราะก่อนหน้านี้ได้มีมาตรการรับมือวิกฤติที่เกิดขึ้นตั้งแต่สหรัฐฯเริ่มเกิดซับไพร์มแล้ว  เพื่อหลีกเลี่ยงผลกระทบที่จะเกิดขึ้น”.

เครดิต :
ขอขอบคุณเนื้อหาข่าว คุณภาพดี โดยหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์