สถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ภาคกลางยังไม่มีทีท่าว่าจะคลี่คลายลง ขณะที่ลมหนาวเริ่มพัดกระหน่ำซ้ำเติมผู้ประสบภัย
โดยผู้สื่อข่าวรายงานเมื่อวันที่ 11 พ.ย. ว่า ที่ จ.พระนครศรีอยุธยา ระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำป่าสัก แม่น้ำลพบุรี และแม่น้ำน้อย เริ่มลดลงทำให้ระดับน้ำท่วมขังในพื้นที่ลดลงราว 20 ซม. แต่ชาวบ้านต้องเผชิญกับลมหนาวที่พัดกระหน่ำเข้ามาตลอดทั้งวัน จนไม่สามารถออกไปเก็บข่ายหาปลามายังชีพและขายได้
นายปรีชา กมลบุตร ผวจ.พระนครศรีอยุธยา เปิดเผยว่า พื้นที่ที่ถูกน้ำท่วมมีทั้งสิ้น 13 อำเภอ 126 ตำบล 655 หมู่บ้าน
ปริมาณน้ำที่ระบายท้ายเขื่อนเจ้าพระยา 2,378 ลบ.ม./วินาที ท้ายเขื่อนพระรามหก 227.28 ลบ.ม./วินาที ท้ายเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ 100.76 ลบ.ม./วินาที ระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาไหลรวมกับแม่น้ำป่าสัก ที่บริเวณหน้าวัดพนัญเชิงวรวิหารไหลผ่าน อ.พระนครศรีอยุธยา อ.บางปะอิน และ อ.บางไทร ปริมาณ 2,605.28 ลบ.ม./วินาที ส่งผลให้น้ำท่วมขังเป็นวงกว้าง
ต่อมา นายดิสธร วัชโรทัย ประธานกรรมการบริหารมูลนิธิราชประชานุเคราะห์ ในพระบรมราชูปถัมภ์
และนายประสงค์ พิทรกัลยา เลขามูลนิธิฯ นำสิ่งของพระราชทานไปมอบให้กับประชาชนที่ประสบอุทกภัย ที่วัดตลาดเกรียบ อ.บางปะอิน จ.พระนครศรีอยุธยา จำนวน 1,200 ชุด และไปมอบให้กับประชาชนที่เดือดร้อนในพื้นที่ อ.บางไทร ที่วัดป่าคา ต.โคกช้าง อ.บางไทร จำนวน 1,000 ชุด ก่อนจะเดินทางนำถุงยังชีพพระราชทานไปมอบให้ผู้ประสบอุทกภัยที่ศาลาวัดบางสะแก หมู่ 1 ต.บ้านกุ่ม อ.สองพี่น้อง จ.สุพรรณบุรี และที่วัดไผ่โรงวัว อ.สองพี่น้อง รวม 1,500 ชุด ซึ่งประชาชนที่มารับของพระราชทานต่างซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณ ด้าน จ.สิงห์บุรี นายวิชัย ไพรสงบ ผวจ.สิงห์บุรี ได้เปิดเผยยอดความเสียหายจากน้ำท่วมเบื้องต้น ว่าพื้นที่ที่ถูกน้ำท่วมในสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ที่ อ.อินทร์บุรี มี 6 ตำบล ประชาชนได้รับความเดือดร้อน 6,946 ครอบครัว โรงเรียน 15 โรง วัด 21 แห่ง สถานที่ราชการ 5 แห่ง อ.เมืองสิงห์บุรี มี 3 ตำบล 5 ชุมชน ครอบครัวที่ถูกน้ำท่วม 256 ครอบครัว อ.พรหมบุรี มี 7 ตำบล ชาวบ้านได้รับผลกระทบ 638 ครอบครัว ทางการได้แจกถุงยังชีพช่วยเหลือเบื้องต้นรวม 4,390 ชุด
ที่ จ.อ่างทอง น้ำในแม่น้ำน้อย ได้เอ่อล้นตลิ่ง ทำให้น้ำทะลักท่วมบ้านเรือน และพื้นที่การเกษตรใน อ.โพธิ์ทอง และ อ.แสวงหา จำนวนหลายร้อยไร่
ส่วนชาวบ้านใน ต.บ้านแห อ.เมืองอ่างทอง และ ต.โผงเผง อ.ป่าโมก ซึ่งต้องเดินลุยน้ำเป็นเวลานาน ป่วยเป็นโรคน้ำกัดเท้าจำนวนมาก นอกจากนี้สภาพอากาศที่หนาวเย็นลง ทำให้มีชาวบ้านป่วยเป็นโรคไข้หวัดจำนวนมากเช่นกัน ส่วนนายวสันต์ มีพันธุ์ อดีตสมาชิกสภาเทศบาลตำบลบางจัก กล่าวว่า ในพื้นที่ ต.บางจัก และ ต.สี่ร้อย อ.วิเศษชัยชาญ ถูกน้ำท่วมสูง 50 ซม.-1 เมตร มานาน ไม่ทราบว่าทำไมทางจังหวัดไม่ยอมประกาศให้เป็นพื้นที่ประสบภัย แต่ อ.ไชโย ไม่มีน้ำท่วม กลับได้รับการประกาศเป็นพื้นที่ประสบภัยพิบัติ ทำให้ชาวบ้านไม่ได้รับความช่วยเหลือ
ด้านนายปัญญา งานเลิศ นายอำเภอวิเศษชัยชาญ กล่าวว่า อ.วิเศษชัยชาญ ถูกน้ำท่วมตั้งแต่วันที่ 4 พ.ย.ที่ผ่านมา
รวม 6 ตำบล 24 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับความเดือดร้อน 764 ครัวเรือน พื้นที่การเกษตรเสียหาย 1,610 ไร่ มีวัดถูกน้ำท่วมหนัก 1 แห่ง ได้แก่ วัดบางจัก ซึ่งตนได้สั่งให้เจ้าหน้าที่ออกสำรวจและรายงานให้ทาง ปภ.ทราบ แต่ไม่ทราบว่าสาเหตุใด อ.วิเศษชัยชาญ จึงตกสำรวจไป จึงได้แจ้งให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น อบต. และเทศบาล เร่งเข้าไปให้การช่วยเหลือเบื้องต้นแล้ว
ที่ จ.นครศรีธรรมราช นายภาณุ อุทัยรัตน์ ผวจ. นครศรีธรรมราช แถลงว่า มีพื้นที่ประสบภัยน้ำท่วม 8 อำเภอ 28 ตำบล 163 หมู่บ้าน
ได้แก่ อ.สิชล ท่าศาลาขนอม นบพิตำ ชะอวด พรหมคีรี เฉลิมพระเกียรติ และ อ.ร่อนพิบูลย์ ราษฎรได้รับความเดือดร้อน 5,272 ครัวเรือน จำนวน 21,535 คน ถนน สะพาน คอสะพาน ฝาย และท่อระบายน้ำพังเสียหาย 23 สาย นาข้าว เสียหาย 141 ไร่ นากุ้ง 141 บ่อ วัวควายไก่และเป็ด เสียชีวิต 121 ตัว ขณะนี้สถานการณ์เริ่มคลี่คลาย ปริมาณน้ำในแหล่งน้ำต่างๆ ลดลงและทรงตัวในระดับปกติ ยกเว้นในพื้นที่ลุ่มและใกล้แหล่งน้ำที่ยังคงมีรายงานน้ำท่วมขัง นอกจากนี้ทางสถานีอุตุนิยมวิทยา จังหวัดนครศรีธรรมราช คาดการณ์จะมีฝนตกหนักอีกระลอก ช่วงระหว่างวันที่ 14-19 พ.ย.นี้ จึงสั่งให้เจ้าหน้าที่ทุกฝ่ายเตรียมพร้อมรับมือเต็มพิกัด ส่วน พ.ต.ต.ปานเทพ ปาณะดิษฐ์ ผบ.ร้อย ตชด.424 อ.สิชล จ.นครศรีธรรมราช ได้นำกำลังออกช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมในเขต อ.สิชล พร้อมนำสิ่งของพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ ไปช่วยเหลือราษฎรที่ประสบภัยน้ำท่วมจำนวน 21 ครอบครัว จำนวน 70 คน