นายบุณยสิทธิ์ โชควัฒนา ประธานกรรมการบริษัท สหพัฒนพิบูล จำกัด (มหาชน)
กล่าวในงานเสวนา “ซีอีโอวิชั่นฝ่าวิกฤติเศรษฐกิจไทยได้อย่างไร” ว่า ภาคเอกชนต้องการเสนอให้รัฐบาลใช้มาตรการ 3 อ่อนในการกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อป้องกันการล่มสลายของเศรษฐกิจไทย ประกอบด้วยการลดภาษีนิติบุคคลจาก 30% เหลือ 20-25%, ผลักดันค่าเงินบาทให้อ่อนค่าลงอีก 5-10% จากปัจจุบัน และลดอัตราดอกเบี้ย เพราะหากไม่เร่งดำเนินการทั้ง 3 ประเด็นนี้อาจทำให้เศรษฐกิจไทยประสบปัญหาอย่างหนัก
ขณะเดียวกัน ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีก็ต้องประคองตัวเพียงเพื่อไม่ให้ล้มหายไปจากระบบ ซึ่งขณะนี้ก็ถือว่าประสบความสำเร็จแล้ว
เนื่องจากสามารถขยายธุรกิจได้ทันช่วงที่ทั่วโลก กำลังเผชิญวิกฤติการเงิน ทั้งนี้ วิกฤติเศรษฐกิจครั้งนี้ในภาพรวมแล้วประเทศไทยไม่น่าจะได้รับผลกระทบหนักและไม่มีปัญหามากและความรุนแรงที่จะเกิดขึ้นในปีหน้าก็คงไม่เหมือนกับวิกฤติปี 2540 หากรัฐบาลมีนโยบายแก้ไขปัญหาที่ถูกจุด โดยเฉพาะหากกำหนดนโยบายที่สวนทางกับมาตรการ ที่เสนอข้างต้นก็เชื่อว่าเศรษฐกิจไทยจะเดินหน้าลงเหวและรุนแรงมาก เพราะปี 2540 นั้นค่าเงินบาทไทยอ่อนส่งผลให้ภาคการส่งออกนำรายได้ มาช่วยเหลือประเทศในระดับหนึ่ง
นายก้องเกียรติ โอภาสวงการ ประธานกรรมการบริหารบริษัท หลักทรัพย์ เอเชียพลัส จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ผลกระทบจากวิกฤติการเงินโลกส่งผลให้มูลค่าหุ้นของบริษัทในตลาดหลัก ทรัพย์หายไป 50% หรือ 3 ล้านล้านบาทแล้ว
เป็นการส่งสัญญาณในปีหน้าว่าภาคการลงทุนที่แท้จริงจะประสบปัญหาอย่างหนัก โดยเฉพาะเรื่องของสต๊อกสินค้าที่จะเหลือจำนวนมาก ซึ่งตน ยังงงอยู่ว่าการประเมินภาคการส่งออกของกระทรวง พาณิชย์ในปีหน้าที่จะขยายตัว 10% ซึ่งตนมองว่ากำลังซื้อหลายประเทศทั่วโลกจะลดลง ขณะที่อุตสาหกรรมหลายประเภทติดลบรวมถึงสินค้าเกษตรที่ราคาตกต่ำ ซึ่งเหตุการณ์ลักษณะนี้ส่งออกไทยปีหน้าน่าจะขยายตัวติดลบมากกว่ายกเว้นมีปาฏิหาริย์ทำให้เศรษฐกิจโลกจะฟื้นตัวได้เร็ว
“อยากให้ภาคธุรกิจเก็บเงินสดไว้ให้มากสุดเพื่อลงทุนซื้อกิจการราคาถูกในปีหน้าโดยเฉพาะ หุ้นของหลายๆบริษัทที่หลายตัวมีมูลค่าต่ำมาก ขณะเดียวกันมีสัญญาณว่าบริษัทขนาดใหญ่หลายแห่งเริ่มออกหุ้นกู้เพื่อระดมเงินทุน เพราะสภาพคล่องทางการเงินจะตึงตัวซึ่งน่าเป็นห่วง”
นายสันติ วิลาสศักดานนท์ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า หากคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ลดอัตราดอกเบี้ยเพียง 0.5%
แม้จะไม่มากแต่ก็จะช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้ภาคธุรกิจได้ ส่วนสถานการณ์ในปีหน้าเชื่อว่ากำลังซื้อของประชาชน และประเทศผู้นำเข้ารายใหญ่ที่เป็นตลาดหลักอย่างสหรัฐฯ ญี่ปุ่น และยุโรปจะลดลง ส่งผลให้คนงานไม่ต้องทำงานล่วงเวลาเพื่อเร่งผลิตสินค้าอีกแล้ว
“การหาตลาดส่งออกเพิ่ม ภาคเอกชนเห็นว่าการแข่งขันจะมีสูงมาก ทุกประเทศต่างก็มองหาตลาดใหม่ แต่ตลาดใหม่ก็มีจำกัด โดยประเทศยักษ์ใหญ่ผู้ซื้อชะลอการนำเข้าสินค้า ดังนั้น ค่าเงินบาทจะเป็นปัจจัยสำคัญในการกำหนดความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการ หากอยู่ที่ 34 บาทต่อเหรียญสหรัฐฯ ก็เป็นที่น่าพอใจ แต่หากอ่อนลงอีกก็จะช่วยเกษตรกรในภาวะราคาพืชผลการเกษตรตกต่ำได้เพราะจะส่งออกได้ดี”
นางธาริษา วัฒนเกส ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า ธปท. อยู่ระหว่างการรอตัวเลขเศรษฐกิจจริงในไตรมาสที่ 3 จากสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) ที่จะออกมาในช่วงปลายเดือน พ.ย.นี้
โดยหากตัวเลขที่ออกมาเห็นแนวโน้มชัดเจนว่าความเสี่ยงของการขยายตัวของเศรษฐกิจมีเพิ่มขึ้นคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ก็พร้อมจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง ทั้งนี้ จากประมาณการเศรษฐกิจในขณะนี้ปัจจัยในประเทศยังไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงจากที่ ธปท. ประมาณการไว้ในช่วงก่อนหน้า แต่ปัจจัยต่างประเทศเริ่มเห็นสัญญาณที่เลวร้ายมากขึ้นแต่การผ่อนคลายนโยบายการเงินจะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับสถานการณ์จริงของเศรษฐกิจไทยเป็นสำคัญ เพราะหากรัฐบาลสามารถเร่งการเบิกจ่ายและกระตุ้นการลงทุนในโครงการขนาดใหญ่ ทำให้การใช้จ่ายของประชาชนกลับมาเพิ่มขึ้น การลงทุนของภาคเอกชนและความต้องการใช้ สินเชื่อในช่วงต่อไปจะมีเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม ในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา การขยายตัวของสินเชื่อก็เพิ่มสูงขึ้นถึง 3% จากเดือนก่อนหน้า
ซึ่งแสดงให้เห็นว่า หากสามารถที่จะปล่อยสินเชื่อได้ ธนาคารพาณิชย์จะพยายามที่จะปล่อยกู้อยู่ในส่วนของความพยายามที่จะกระจายสินเชื่อนั้น ธปท.ไม่ได้นิ่งนอนใจ
ที่ผ่านมาได้หารือกับผู้บริหารธนาคารพาณิชย์อย่างต่อเนื่องซึ่งธนาคารพาณิชย์แสดงความเห็นว่า หากในช่วงต่อไปภาคเอกชนขนาดใหญ่ที่เดิมอาศัยเงินกู้จากต่างประเทศเกิดปัญหาต้นทุนการกู้ยืมเงินสูงขึ้น และเปลี่ยนมากู้ยืมเป็นเงินบาทในประเทศ จะทำให้ลูกหนี้รายกลางและรายย่อย เข้าถึงเงินกู้ได้ยากขึ้น ส่วนกรณีที่กระทรวงการคลังต้องการให้ ธปท.ปล่อยสินเชื่ออัตราดอกเบี้ยผ่อนปรนให้กับภาคเศรษฐกิจจริงนั้น นางธาริษากล่าวว่า กฎหมายธปท. กำหนดให้ยกเลิกการช่วยเหลือในส่วนนี้ ของ ธปท. แล้ว และหากจะให้กระทรวงการคลังกู้เงินจาก ธปท. ไปปล่อยสินเชื่อต่อก็ทำไม่ได้ ดังนั้น ธปท.จึงได้ส่งเรื่องดังกล่าวไปปรึกษาคณะกรรมการกฤษฎีกาว่า จะสามารถที่จะดำเนินการได้มากน้อยแค่ไหนและอย่างไร.