ชนกลุ่มน้อยเขตรอยต่อ 4 จว. วันนี้วิถีชีวิตคล้ายคนเมือง
เงาะป่า หรือที่นิยมเรียกกันว่าเงาะป่าซาไกนั้น เป็นชนกลุ่มหนึ่งที่ยังหลงเหลือและซ่อนตัวอยู่บริเวณเทือกเขาบรรทัดตรงเขตรอยต่อของเขตจังหวัดตรัง สตูล สงขลา และจังหวัดพัทลุง มาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน และยังไม่มีหลักฐานที่จะยืนยันได้ว่าชาวป่าที่อยู่บนเทือกเขาบรรทัดได้อพยพย้ายถิ่นฐานมาจากไหน เท่าที่ได้สัมผัสกับคนกลุ่มนี้ก็พอจะคาดเดาได้ว่า เงาะป่าเทือกเขาบรรทัดใน 4 จังหวัดเขตรอยต่อเขาบรรทัด
น่าจะเป็นเงาะป่าที่แตกต่างจากกลุ่มซาไกในจังหวัดยะลาและกลุ่มที่ตั้งถิ่นฐานอยู่ทางภาคเหนือของประเทศมาเลเซีย เพราะจากที่ได้เที่ยวป่าคลุกคลีอยู่กับเงาะป่าเขาบรรทัดและซาไกในอำเภอธารโตจังหวัดยะลา ก็พบว่าคน 2 กลุ่มนี้มีวิถีชีวิตและภาษาที่แตกต่างกันโดยสิ้นเชิง เมื่อนำ 2 กลุ่มมาอยู่ด้วยกันก็จะพูดจากันไม่รู้เรื่อง
แม้แต่วัฒนธรรมการกินก็ยังแตกต่างกัน ผลไม้หรือพืชบางชนิดที่กลุ่มซาไกในจังหวัดยะลาไม่นิยมเก็บหามาเป็นอาหาร แต่เงาะป่าเขาบรรทัดยังนำมาเป็นอาหารและกินได้โดยไม่มีอันตราย
สำหรับกลุ่มเงาะป่าเทือกเขาบรรทัดที่ยังหลงเหลืออยู่ในเขตรอยต่อของ 4 จังหวัดนั้น จากการบอกเล่าของผู้คนในอดีต ทำให้ทราบว่า เขาบรรทัดเป็นที่อยู่อาศัยของเงาะป่ามาตั้งแต่อดีต และกลุ่มเงาะจะไม่นิยมเดินออกจากป่าลงมาสู่ที่ราบเพื่อคลุกคลีกับชาวบ้านมากนัก นอกจากนาน ๆ ครั้งจะนำหวาย ใบเตยและเนื้อสัตว์มาแลกข้าวสาร ผู้คนบริเวณเชิงเขาบรรทัดก็จะไม่ยอมรับคนกลุ่มนี้
เมื่อเงาะป่าออกมาหาในหมู่บ้านก็จะไม่ยอมให้ขึ้นบ้าน เมื่อจะจัดหา อาหารให้กลุ่มเงาะก็จะนำข้าวสุกพร้อม กับข้าวไปเทให้กินบนเปลือกไม้ ใบไม้หรือต้อหมาก เนื่องจากมองว่า เงาะป่าไม่อาบน้ำ มือ เท้าและเสื้อผ้าสกปรก จึงไม่อยากจะอยู่ร่วมได้ แต่ปัจจุบันเงาะป่าที่อยู่อาศัยบริเวณเทือกเขาบรรทัดได้ศึกษาเรียนรู้การใช้ชีวิตจากคนเมืองมากขึ้น เงาะป่าบางคนรู้จักหุงต้มอาหารด้วยตนเอง บางคนก็อาบน้ำในเวลาจำเป็นที่จะต้องเดินออกจากป่า มาพบผู้คนในที่ราบ
โดยเฉพาะเงาะผู้หญิงที่อยู่ประจำที่ เขตจังหวัดตรังและจังหวัดสตูล เริ่มจะอาบน้ำตามที่ได้พบเห็นคนเมืองที่อาบน้ำเช้า-เย็น สำหรับเงาะป่าที่ยังอยู่อาศัยบนเทือกเขาบรรทัดในจังหวัดตรัง สงขลา สตูลและจังหวัดพัทลุง ประมาณ 120-150 คน เป็นกลุ่มคนที่ยังไม่มีชาติศาสนาและประเพณีวัฒนธรรม ใด ๆ การดำรงชีวิตอยู่กลางป่า ก็ จะอยู่กันเป็นกลุ่ม แต่ละกลุ่มจะมีสมา ชิก 7-20 คน ย้ายถิ่นหากินอยู่กลางป่าเขตรอยต่อและบางครั้งก็ออก มาสร้างทับอยู่บริเวณเชิงเขาใกล้หมู่บ้าน มีผู้คนพบเงาะป่าอาศัยอยู่ประจำที่บ้านนาศรีทอง อ.รัตภูมิ จ.สงขลา เป็นกลุ่มของไอ้เฒ่าขำพร้อมสมาชิกประมาณ 10-15 คน
ในส่วนของจังหวัดพัทลุง กลุ่มเงาะจะสร้างทับย้ายถิ่นอยู่บริเวณปลายห้วยบอกตุด น้ำตกโหนง ควนสันไม้ไผ่ ปลายถนนชูสิน ควนหลังหนำวร ควนหน้าหนำแม่น ค่ายป่าไม้ เขตตำบลทุ่งนารี อ.ป่าบอนและน้ำตกท่าช้าง เหนือน้ำตกลาดเตย ต.ตะโหมด อ.ตะโหมด จะมีเงาะป่ากลุ่มของไอ้เฒ่าแดงยาว ไอ้เฒ่าแดงเล็ก ไอ้เฒ่าควน ไอ้เฒ่าควาน ไอ้เฒ่าเส็น ไอ้เฒ่าแช่ม ไอ้เฒ่าแชร์ และไอ้เฒ่ายาว พร้อมสมาชิกชาย หญิงประมาณ 30-40 คน ย้ายที่สร้างทับอยู่ในเขตจังหวัดพัทลุง
ส่วนที่ควนไม้ดำ น้ำตกเจ้าปะ บ้านในตระ เป็นที่อยู่ของเงาะป่ากลุ่มของไอ้หว่าง ลุงปลูก ป้าเหรียม ไอ้เฒ่าไข่ พร้อมลูกหลานอีกประมาณ 15-20 คน แต่ส่วนใหญ่เงาะป่าในจังหวัดตรัง จะสร้างที่พักค่อนข้างจะถาวรและอยู่ประจำที่ เช่นเดียวกับกลุ่มเงาะป่าที่เขาน้ำเต้า เขาติง ใน อ.ปะเหลียน จ.ตรัง ก็จะอยู่กันเป็นกลุ่มในป่าสวนยางบริเวณเชิงเขา