บีโอไองัดมาตรการกระตุ้นลงทุนของวิกฤติปี 40 มาใช้ หวังช่วยสภาพคล่องเอสเอ็มอีส่งออก เปิดให้นักลงทุนที่ขอบีโอไอได้รับยกเว้นภาษีนำเข้าวัตถุดิบ มีผลถึงสิ้นปี 2552 คลุมกิจการ 14 กิจการ
พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยหลังประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ว่า
บีโอไอเห็นชอบให้ใช้มาตรการสิทธิประโยชน์ตามมาตรา 36 ซึ่งเป็นมาตรการที่บีโอไอเคยมาใช้กระตุ้นเศรษฐกิจและการลงทุน เมื่อครั้งเกิดวิกฤติเศรษฐกิจปี 2540 มีเป้าหมายช่วยเหลือสภาพคล่องให้แก่วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ผู้ส่งออก ซึ่งบีโอไอจะให้สิทธิประโยชน์แก่ผู้ประกอบการทุกราย ไม่จำกัดเฉพาะผู้ประกอบการที่ยื่นขอบีโอไอ โดยผู้ประกอบการที่ยื่นขอใช้สิทธิจะได้รับการยกเว้นภาษีนำเข้าวัตถุดิบ ยกเว้นการเสียค่าธรรมเนียมในการใช้หนังสือค้ำประกันของธนาคาร และจะไม่มีภาระดอกเบี้ยในกรณีต้องชำระอากรวัตถุดิบก่อน
มาตรการดังกล่าวจะมีผลบังคับใช้ถึงสิ้นปี 2552 ครอบคลุม 14 กิจการ
คือ เครื่องนุ่งห่ม เครื่องหนัง รองเท้า เครื่องเรือน ของเล่น เลนส์ สิ่งทอ เครื่องกีฬา ชิ้นส่วนยานพาหนะ ผลิตภัณฑ์พลาสติก อิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้า อัญมณีและเครื่องประดับ สิ่งพิมพ์
นอกจากนี้ บีโอไอยังเห็นชอบมาตรการพิเศษให้แก่ผู้ยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุน ซึ่งจะสิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2552 โดยจะได้สิทธิประโยชน์สูงสุดตามที่กฎหมายกำหนดไว้ และได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 8 ปี ได้รับสิทธิลดหย่อนภาษีเงินได้ 50% เป็นเวลา 5 ปี สามารถหักค่าขนส่ง ค่าไฟฟ้าและค่าประปา 2 เท่า รวมทั้งหักค่าติดตั้งหรือก่อสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกจากกำไรสุทธิไม่เกิน 25% ของเงินลงทุน เพื่อให้เกิดการลงทุนช่วงที่เศรษฐกิจชะลอตัว และเร่งให้มีคำขอส่งเสริมการลงทุนให้ได้ 6.5 แสนล้านบาท ในปี 2552
กิจการที่จะได้รับสิทธิมี 6 ประเภท คือ
1.กิจการประหยัดพลังงานและพลังงานทดแทน
2.กิจการที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง เช่น กิจการผลิตเส้นใยธรรมชาติหรือเส้นใยประดิษฐ์
3.กิจการผลิตวัสดุและผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
4.กิจการที่เกี่ยวเนื่องกับโครงการลงทุนขนาดใหญ่ของภาครัฐ
5.กิจการด้านการท่องเที่ยวและเชื่อมโยงกับภาคอสังหาริมทรัพย์
6.กิจการในอุตสาหกรรมที่ใช้ผลิตผลทางการเกษตรเป็นวัตถุดิบ
นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้อนุมัติส่งเสริมการลงทุน 19 โครงการ มูลค่าเงินลง 36,496 ล้านบาท เช่น โครงการของบริษัท การ์เดียนอินดัสทรีส์ คอร์ป จำกัด ขยายกิจการผลิตกระจกแผ่นเรียบและกระจกเงา เงินลงทุน 1,560 ล้านบาท โครงการของบริษัท ไทยน็อคซ์ สเตนเลส จำกัด (มหาชน) ขยายกิจการผลิตเหล็กแผ่นไร้สนิมรีดเย็นชนิดพื้นผิวมันเงา เงินลงทุน 4,604 ล้านบาท และโครงการของบริษัท ไอชิน เอไอ (ประเทศไทย) จำกัด ขยายกิจการผลิตชุดขับเคลื่อนสี่ล้อ เงินลงทุน 2,810 ล้านบาท เป็นต้น