วันนี้ (4 พ.ย.) นางอุไรวรรณ เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เป็นประธานการประชุมไตรภาคีเพื่อจัดเตรียมแนวทางแก้ไขปัญหาวิกฤติทางเศรษฐกิจและกรณีการเลิกจ้าง
โดยมีผู้แทนจากสภาองค์การนายจ้าง ลูกจ้าง และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เข้าร่วม กล่าวว่า จากสถานการณ์การเลิกจ้างล่าสุดพบว่า ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.-31 ต.ค. 2551 ที่ผ่านมา มีสถานประกอบการเลิกจ้างเพิ่มขึ้นเป็น 125 แห่ง จากเดิม 122 แห่ง ลูกจ้างถูกเลิกจ้าง 14,761 คน และมีสถานประกอบการมีแนวโน้มถูกเลิกจ้างอีก 39 แห่ง จากเดิม 36 แห่ง
ทั้งนี้ ลูกจ้างมีแนวโน้มจะถูกเลิกจ้างกว่า 16,694 คน และสรุปมาตรการบรรเทาปัญหาการเลิกจ้าง 3 ระดับตั้งแต่เบาไปหาหนัก
คือ 1.มาตรการลดค่าใช้จ่ายด้านการบริหารและด้านแรงงานเช่น ลดชั่วโมงการทำงาน ลดสิทธิประโยชน์ เป็นต้น 2. มาตรการปรับปรุงบริหารงานบุคคลให้เหมาะกับสถานการณ์เลิกจ้าง เช่น ปรับให้ลูกจ้าง 1 คนทำได้หลายหน้าที่ หรือจัดฝึกอบรมเพิ่มทักษะด้านฝีมือแรงงาน 3.มาตรการลดจำนวนลูกจ้าง เช่น โครงการเกษียณอายุก่อนกำหนด หรือโครงการสมัครใจลาออก
นายสมชาย ชุ่มรัตน์ ปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า ในระยะเวลาอันใกล้ กระทรวงฯ จะเชิญสภาอุตสาหกรรม แห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย นายจ้าง ผู้ประกอบการกลุ่มอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบ
เช่น สิ่งทอ เฟอร์นิเจอร์ อัญมณี เครื่องประดับ แผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ และอุตสาหกรรมส่งออกอื่นๆ เป็น รวมทั้งนักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ และสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติมาให้ข้อมูล เพื่อวางมาตรการรับมือปัญหาการเลิกจ้างอย่างเป็นระบบ ทั้งนี้ ในวันที่ 10 พ.ย.2551 กระทรวงฯจะเรียกหัวหน้าส่วนราชการแรงงาน 75 จังหวัดมารับมอบนโยบาย เพื่อเตรียมรับมือสถานการณ์เพิ่มเติม อีกทั้ง ยังได้สั่งการให้สำนักนโยบาย และยุทธศาสตร์ไปศึกษาแผนปฏิบัติการบรรเทาปัญหาการว่างงานเมื่อปี 2540 เพื่อนำกลับมาประยุกต์ใช้อีกครั้ง โดยจะมีมาตรการรับมือทั้งระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว 6 มาตรการ เช่น การจ้างงานในชนบท การส่งเสริมให้แรงงานไทย ไปทำงานต่างประเทศ และโครงการเศรษฐกิจพอเพียง เป็นต้น และจะพิจารณาตั้งคณะกรรมการบรรเทาปัญหาการว่างงานแห่งชาติ โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน