เมื่อวันที่ 31 ต.ค. ที่สำนักงานประกันสังคม (สปส.) นายชัยสิทธิ์ สุขสมบูรณ์ ประธานสหพันธ์แรงงานธนาคารและการเงินแห่งประเทศไทย ในฐานะคณะกรรมการประกันสังคม (บอร์ด สปส.) ฝ่ายลูกจ้าง กล่าวว่า ในการประชุม บอร์ด สปส. เมื่อวันที่ 30 ต.ค. ที่มีนายสมชาย ชุ่มรัตน์ ปลัดกระทรวงแรงงาน เป็นประธาน ได้มีมติให้ สปส.ทบทวนมาตรการลดเงินสมทบให้ลูกจ้าง และนายจ้าง ฝ่ายละ 1.5% และรัฐบาล 0.5% เพื่อบรรเทาผลกระทบจากการเลิกจ้าง เนื่องจากบอร์ดฝ่ายนายจ้างและลูกจ้าง เห็นตรงกันว่าอาจจะส่งผลกระทบต่อกองทุนประกันสังคมในภาพรวม โดยเฉพาะกรณีชรา ภาพที่จะต้องเริ่มจ่ายในปี 2557 ซึ่งหากมีแต่เงินออกมากแต่ไม่มีการลงทุนเพิ่มในปี 2581 เงินกองทุนประกันสังคมอาจจะหมดได้ นอกจากนี้ยังกระทบต่อเงินในกองทุนกรณีว่างงาน ซึ่งต้องจ่าย ออกเมื่อลูกจ้างต้องออกจากงาน
“เห็นตรงกันว่ามีช่องทางอื่นอีกมากและสถานการณ์ขณะนี้ยังไม่ถึงขั้นวิกฤติ และส่วนลดที่นายจ้าง ลูกจ้างได้รับนั้นเป็นส่วนที่น้อยมากลดลงประมาณ 100-200 บาทต่อเดือน ไม่ได้เป็นการเพิ่มสภาพคล่องเท่าที่ควร สปส.ก็ยินดีที่จะทบทวน พร้อมหาข้อมูล ศึกษาผลกระทบรอบด้าน เพราะเรื่องนี้ยังไม่สะเด็ดน้ำ สปส.จะเชิญลูกจ้าง นายจ้าง และผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องมาหารือมาตรการช่วยเหลืออื่น แต่หากสถานการณ์วิกฤติจริง ๆ ก็พร้อมที่จะนำมาตรการดังกล่าว มาใช้”
ที่กระทรวงแรงงานวันเดียวกัน นายพิชัย เอกพิทักษ์ดำรง อธิบดีกรมการจัดหางาน (กกจ.) เปิดเผยว่า จากสถานการณ์ทางเศรษฐกิจที่ส่งผลกระทบต่อการเลิกจ้างงาน ทำให้กรมการจัดหางานต้องนำมาตรการแก้ไขปัญหาการว่างงาน 6 มาตรการเพื่อให้ลูกจ้างและครอบครัวอยู่ได้
1.จัดตั้งกองทุนสำหรับกลุ่มผู้รับงานไปทำที่บ้านวงเงิน 130 ล้านบาท
2.โครงการให้บริการผู้ประกันตนกรณีว่างงาน ประกอบอาชีพอิสระ
3.โครงการสร้างอาชีพใหม่ให้ผู้ว่างงาน
4. โครงการมหกรรมอาชีพ เพื่อให้นักเรียน นักศึกษา ประชาชนทั่วไป รวมทั้งผู้ถูกเลิกจ้างได้มีโอกาสรับทราบข้อมูลข่าวสารตลาดแรงงานด้านอาชีพ รวมทั้งยังเป็นการเตรียมบุคลากรที่จะเข้าสู่ตลาดแรงงาน
5.โครงการจัดหางานพิเศษสำหรับนักเรียน นักศึกษา ช่วงปิดภาคเรียน
6.โครงการมีงานทำนำชุมชนเข้มแข็ง ซึ่งเป็นมาตรการเชิงรุกของกรมการจัดหางานที่ได้จัดรถ โมบาย ยูนิต ออกให้บริการในชุมชนห่างไกลเพื่อตอบสนองความต้องการของประชาชนที่แท้จริง
อธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ยังได้จัดตั้งศูนย์ตำแหน่งงานว่างขึ้นที่ศูนย์จัดหางาน ภายในกระทรวงแรงงาน และที่สำนักงานจัดหางานทุกจังหวัด และสำนักจัดหางานกรุงเทพฯ เขตพื้นที่ 1-10 ได้เตรียมตำแหน่งงานไว้แล้ว 122,560 ตำแหน่ง ในเขตกรุงเทพฯ 51,771 อัตรา ภาคกลาง 23,734 อัตรา ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 13,754 อัตรา ภาคตะวันออก 9,810 อัตรา ภาคเหนือ 9,480 อัตรา ภาคใต้ 8,773 อัตรา และภาคตะวันตก 5,238 อัตรา เพื่อเป็นการบรรเทาปัญหาการว่างงานและเป็นการส่งเสริมให้แรงงานที่จะเข้าสู่ตลาดแรงงานใหม่และผู้ถูกเลิกจ้างได้มีทางเลือกในการประกอบอาชีพ
ด้าน นางอัมพร นิติสิริ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) กล่าวถึงความคืบหน้ากรณีลูกจ้างบริษัทเคซีอี อิเลค ทรอนิคส์ จำกัด ถูกลอยแพ 780 คน โดยยังไม่ได้รับค่าชดเชยตามกฎหมายเนื่องจากเป็นลูกจ้างรับเหมาช่วง ว่าขอให้ลูกจ้างเชื่อมั่นว่า กสร.จะให้ความช่วยเหลืออย่างเต็มที่ ในกรณีที่มีการเลิกจ้างลูกจ้างรับเหมาช่วงนายจ้างก็ต้องจ่ายค่าชดเชย และสวัสดิการให้เหมือนกับลูกจ้างบริษัทแม่ทุกประการ
โดยในวันที่ 3 พ.ย. นี้ เจ้าหน้าที่สำนักแรงงานสัมพันธ์ ได้นัดตัวแทนนายจ้างและลูกจ้างมาเจรจาเพื่อให้จ่ายเงินทดแทนตามกฎหมาย อย่างไรก็ตามถ้านายจ้างมีปัญหาด้านการเงินจะต้องจ่ายค่าจ้างภายใน 30 วัน หากยังไม่จ่าย กสร.ก็จะนำเงินจากกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้าง มาสำรองจ่ายเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้กับลูกจ้างไปก่อน จากนั้นก็จะไปไล่เบี้ยเงินคืนจากนายจ้างอีกต่อหนึ่ง
อธิบดี กสร. กล่าวต่อว่า ได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ กสร.ทั้ง 75 จังหวัด ลงไปตรวจสอบดูแลปัญหาอย่างใกล้ชิดเพื่อให้มีการปฏิบัติตามกฎหมาย ทั้งนี้หากนายจ้างไม่จ่ายค่าชดเชยและสวัสดิการ จะมีโทษปรับสูงสุดไม่เกิน 2 แสนบาท และจากสถิติที่ผ่านมาทุกปีจะมีนายจ้างประมาณ 300 ราย ถูกปรับเป็นเงินกว่า 8 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม ในช่วงที่สถานการณ์ในการเลิกจ้างมีตัวเลขที่สูงขึ้นก็มีข่าวดีเกี่ยวกับตัวเลขสถานประกอบการที่เกิดขึ้นใหม่ในปี 51 จำนวน 269 แห่ง คิดเป็นเงินลงทุนกว่า 2 หมื่นล้านบาท มีความต้องการจ้างแรงงานใหม่ 9,248 คน นอกจากนี้หากโครงการเมกะโปรเจคท์ของรัฐบาลเกิดขึ้นก็จะทำให้มีการจ้างงานเพิ่มขึ้นด้วย.