คณะนักชีวประสาทวิทยา วิทยาลัยการแพทย์จอร์เจีย สหรัฐอเมริกา นำเสนอข้อมูลในนิตยสารประสาทวิทยา ว่า ค้นพบวิธีลบความทรงจำอันเจ็บปวดในหนูทดลอง ซึ่งจะเปิดทางนำไปสู่การพัฒนาวิธีรักษาโรคกลัวโดยไม่มีเหตุผล หรือโรคกลุ่มโฟเบีย และอาการเครียดจัดผิดปกติ
"เราพบวิธีลดความทรงจำเฉพาะส่วนของหนูทดลอง โดยไม่ทำให้กระบวนการทำงานของสมองได้รับความเสียหาย" ดร.โจ เซียน หัวหน้าคณะนักวิจัย ระบุ
เทคนิคดังกล่าวทำโดยการกระตุ้นให้สมองผลิตโปรตีน "alpha-CaMKII" ซึ่งมีส่วนช่วยทำให้เกิดความจำขึ้นมามากกว่าตามธรรมชาติ ส่งผลให้หนูทดลองไม่สามารถรื้อฟื้นความจำเก่าขึ้นมาได้ อย่างไรก็ตาม การทดลองยังอยู่ในขั้นตั้งต้น ต้องใช้เวลาอีกนานหลายปีกว่าจะนำไปปรับใช้กับสมองมนุษย์ เพราะมีความสลับซับซ้อนกว่าหนูหลายเท่า
วิธีการทดลอง นักวิจัยปล่อยหนูเข้าไปในห้องๆ หนึ่ง ซึ่งมีเสียงเพลง เมื่อหนูเดินเข้าไปจะถูกชอร์ตด้วยกระแสไฟฟ้าอ่อนๆ เมื่อทดลองซ้ำๆ หนูจะจดจำถึงอันตรายได้และไม่เข้าไปในห้องที่ถูกชอร์ตไฟฟ้าอีก แต่เมื่อเพิ่มปริมาณโปรตีน "alpha-CaMKII" เข้าไปพบว่าหนูจะจำพฤติกรรมการตอบสนองแบบเดิมไม่ได้
ดร.โจ กล่าวว่า ในอนาคตถ้างานวิจัยนี้ประ สบความสำเร็จ ควรนำไปใช้เฉพาะกับบุคคลที่ต้องพบกับประสบการณ์หรือมีความทรงจำเจ็บปวดเข้าขั้นร้ายแรงเท่านั้น สาเหตุเพราะความทรงจำถือเป็นครูที่มอบประสบการณ์อันมีค่า ช่วยให้มนุษย์รู้จักปรับตัวและเรียนรู้วิธีเอาตัวรอด
"เทคนิคลบความทรงจำบางส่วนจึงเหมาะกับผู้ที่มีความเจ็บป่วยทางจิตใจซึ่งเกิดจากความทรงจำเลวร้าย เช่น ต้องอยู่ในภาวะสงคราม หรือป่วยเป็นโรคโฟเบีย เพื่อช่วยให้ผู้ป่วยกลุ่มนี้ดำเนินชีวิตต่อไปได้ด้วยดี" ดร.โจ กล่าว
เผยเทคนิคลบความจำ! ตั้งเป้าช่วยผู้ป่วยโฟเบียหมดทุกข์
หน้าแรกTeeNee ที่นี่ข่าววันนี้, ข่าวหน้าหนึ่ง ข่าวอื่นๆ เผยเทคนิคลบความจำ! ตั้งเป้าช่วยผู้ป่วยโฟเบียหมดทุกข์