ปลัดสธ. ระบุ มีหญิงไทยอยู่ในวัยทองกว่า 7 ล้านคน อายุเฉลี่ยหมดประจำเดือน 48 ปี หญิงที่สูบบุหรี่อาจเร่งเข้าสู่วัยทองเร็วขึ้น เนื่องจากเลือดไปเลี้ยงรังไข่น้อยลงทำให้รังไข่ฝ่อ ฮอร์โมนเพศลดลง เร่งจัดคลินิกบริการหญิงวัยทอง ป้องกันปัญหาสุขภาพและปัญหาครอบครัว เพราะขาดความรู้ความเข้าใจ
(18ต.ค.)นายแพทย์ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุขกล่าวว่า ในวันที่ 18 ตุลาคมของทุกปี องค์การอนามัยโลกได้กำหนดให้เป็นวันสตรีวัยทองโลก (World Menopause Day) เพื่อรณรงค์ให้สตรีที่อยู่ในวัยทองมีความรู้ความเข้าใจถึงความเสี่ยงด้านสุขภาพที่จะเกิดตามมาหลังหมดประจำเดือน เป็นการป้องกันปัญหาสุขภาพในอนาคตของผู้สูงอายุผู้หญิงที่มีสาเหตุเกี่ยวพันกับฮอร์โมนเพศหญิง ในส่วนของประเทศไทย ผลสำรวจของกรมอนามัย พบว่า ขณะนี้มีผู้หญิงวัยทองกว่า 7 ล้านคน อายุเฉลี่ยหมดประจำเดือน 48 ปี แต่ในกลุ่มผู้หญิงที่สูบบุหรี่ ซึ่งขณะนี้มีประมาณ 300,000 คน อาจเข้าสู่วัยทองเร็วกว่าผู้หญิงทั่วไป เนื่องจากพิษบุหรี่ทำให้หลอดเลือดแข็ง ส่งเลือดไปเลี้ยงอวัยวะต่างๆ รวมทั้งรังไข่ได้ไม่ดี ทำให้รังไข่ฝ่อ ผลิตฮอร์โมนได้น้อยลง จึงมีอาการของวัยทองเร็วขึ้น
นายแพทย์ปราชญ์ กล่าวต่อว่า กระทรวงสาธารณสุข จึงมีนโยบายให้จัดตั้งคลินิกส่งเสริมสุขภาพสตรีวัยทองในโรงพยาบาลทุกแห่ง และอบรมบุคลากรให้มีความรู้ความเข้าใจปัญหาหญิงวัยทอง เพื่อให้คำปรึกษา บำบัดรักษาอาการผิดปกติที่เกิดขึ้น และส่งเสริมสุขภาพผู้หญิงตั้งแต่ก่อนเข้าสู่วัยทอง อายุ 45 ปีขึ้นไป หากระบบนี้เข้มแข็งเชื่อว่า จะสามารถลดปัญหาโรคเรื้อรังในผู้สูงอายุผู้หญิงได้ด้วย ขณะนี้จัดตั้งคลินิกวัยทองได้แล้วประมาณ 300 แห่ง ตั้งเป้าหมายครบทุกแห่งภายในปี 2554
ด้านนายแพทย์ณรงค์ศักดิ์ อังคะสุวพลา อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า อาการวัยทองไม่ใช่โรค แต่เป็นการเปลี่ยนแปลงของร่างกายตามธรรมชาติ เกิดจากรังไข่หยุดทำงาน ไม่มีการผลิตฮอร์โมนเพศ ทำให้ไม่มีประจำเดือน จะมีการเปลี่ยนแปลงได้ทั้งร่างกายและจิตใจ โดยมีอาการร้อนวูบวาบที่หน้าอก ลำคอ ใบหน้า ใจสั่น เหงื่อออก นอนไม่หลับ หงุดหงิดง่าย บางครั้งซึมเศร้า ปวดศีรษะ ปวดข้อ ความรู้สึกทางเพศลดลง ช่องคลอดแห้ง เจ็บเวลามีเพศสัมพันธ์ ปัสสาวะปวดแสบ ปัสสาวะบ่อยหรือกลั้นไม่อยู่ นอกจากนี้ พบมีผิวหนังแห้ง เล็บเปราะ ผมแห้งและร่วงง่าย ในระยะยาวมีโอกาสเสี่ยงโรคกระดูกพรุน มะเร็งเต้านม มะเร็งปากมดลูก และภาวะอ้วนลงพุงลักษณะ อาจทำให้มีไขมันในเลือดสูง เป็นโรคความดันโลหิตสูง เบาหวาน หัวใจและหลอดเลือด อัมพฤกษ์อัมพาต ตามมา
ทั้งนี้ ผลสำรวจการใช้บริการคลินิกวัยทอง โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติปี 2549 พบว่า มีผู้หญิงที่รู้จักและใช้บริการค่อนข้างน้อย เพียงร้อยละ 31 ในจำนวนนี้เคยรับการตรวจร้อยละ 17 และเคยไปรับบริการปรึกษาร้อยละ 11 เท่านั้น จึงต้องเร่งประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนมีความรู้เกี่ยวกับอาการวัยทอง และรู้จักคลินิกวัยทอง เพื่อให้มาใช้บริการมากขึ้น
นายแพทย์ณรงค์ศักดิ์ กล่าวต่อไปว่า อาการของวัยทองไม่ได้เกิดกับผู้หญิงทุกคน สิ่งที่น่าห่วงคือบางคนเมื่อมีอาการแล้วตนเองและคนในครอบครัวไม่เข้าใจ อาจจะเกิดปัญหาครอบครัวได้ง่าย มักพบเรื่องนี้ได้บ่อย เนื่องจากแม่มีอาการหงุดหงิดง่าย อารมณ์แปรปรวน หากมีลูกที่อยู่ในวัยรุ่น จะเกิดการกระทบกระทั่งกันได้ง่าย ขณะเดียวกันความสัมพันธ์กับสามี ก็อาจจะมีปัญหา จากความไม่เข้าใจและความต้องการทางเพศที่ลดลง
ดังนั้นคลินิกวัยทอง จะมีการประเมินอาการว่าผิดปกติมีมากน้อยเพียงใด ด้วยแบบประเมินตัวเองง่ายๆ เพื่อให้เกิดความเข้าใจยิ่งขึ้น และยังคัดกรองความเสี่ยงด้านสุขภาพ โดยวัดรอบเอว ชั่งน้ำหนัก วัดส่วนสูง คำนวณดัชนีมวลกาย วัดความดันโลหิต และติดตามสตรีที่เป็นกลุ่มเสี่ยงในชุมชนอย่างใกล้ชิด สำหรับการปฏิบัติตนเพื่อให้มีสุขภาพดีของหญิงวัยทอง คือ งดบุหรี่ ลดละการดื่มสุรา ชากาแฟ กินอาหารที่มีประโยชน์และมีไขมันต่ำ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ อย่างน้อยสัปดาห์ละ 3 ครั้งครั้งละ 30 นาที นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ ตรวจสุขภาพทุกปี หากมีอาการวัยทองสามารถปรึกษาแพทย์ที่คลินิกวัยทอง หรือสูตินรีแพทย์ที่โรงพยาบาลทุกแห่ง