ก.วิทย์จับมือสถาบันวิจัยญี่ปุ่น ใช้สมุนไพรไทยสกัดไข้หวัดนก

ตลอดเวลา 4 ปีที่ผ่านมาประเทศไทยต้องเผชิญปัญหาวิกฤติโรคติดต่อร้ายแรง

เช่น โรคซาร์ส และโรคไข้หวัดนก ส่งผลให้ประเทศไทยเสียโอกาสในหลายด้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านการท่องเที่ยวที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย ยิ่งไปกว่านั้นไทยต้องนำเข้ายาทามิฟลูจากบริษัทข้ามชาติเพื่อมารักษาผู้ป่วยที่ติดเชื้อไข้หวัดนก (H5N1) ทำให้เสียดุลการค้าไม่น้อยกว่า 100 ล้านบาทต่อปี


วันนี้ทั่วโลกยอมรับว่าปัญหาเรื่องโรคติดต่อเป็นปัญหาที่ทุกประเทศต้องให้ความร่วมมือกัน เพราะถ้าเกิด out break (แพร่ระบาด) ที่ไหนจะตื่นตระหนกกันทั่วโลก หากเราเดินหน้าคนเดียวจะต้องใช้ทุนมหาศาล เราจึงควรสร้างความร่วมมือเพื่อต่อยอดงานวิจัยในการแก้ปัญหา เพราะประหยัดทั้งเวลาและค่าใช้จ่าย


ความมุ่งหวังข้างต้นของ ดร.ประวิช รัตนเพียร รมว.วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

เป็นเป้าหมายสำคัญในการนำคณะผู้บริหารกระทรวงวิทย์ฯ ประกอบด้วย นายศักดิ์สิทธิ์ ตรีเดช ปลัดกระทรวงวิทย์ฯ ดร. ประยูร เชี่ยววัฒนา รอง ผอ.สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ศ.นพ.สิริฤกษ์ ทรงวิไล ผู้ช่วย ผอ.สวทช. พบผู้บริหารสถาบันวิจัยชั้นนำของประเทศญี่ปุ่นเพื่อแสวงหาความร่วมมือในการหาวิธีการกำจัดโรคนี้ โดยการพึ่งพิงศักยภาพของกันและกัน


สถาบันวิจัยริเก็น (RIKEN Yokohama Institute) ที่เมืองโยโกฮาม่า ประเทศญี่ปุ่น หนึ่งในสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์ระดับโลกและมีศูนย์การวิจัยเพื่อยับยั้งโรคติดต่อ ได้นำเทคโนโลยีระดับสูงมาช่วยสนับสนุนการวิจัยและพัฒนาหายารักษาโรคติดเชื้อต่าง ๆ โดยใช้เครื่องมือที่เรียกว่า NMR (Nuclear Magnetic Resonance) เครื่องดังกล่าวใช้คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าแรงสูงมากกว่า 900 เมกะเฮิร์ตซ์ มาช่วยวิเคราะห์โครงสร้างโมเลกุลของโปรตีน

การนำโปรตีนชนิดต่าง ๆ ของเชื้อโรคซาร์ส โรคภูมิแพ้ต่าง ๆ มาถอดรหัสพันธุกรรม (ดีเอ็นเอ)

อธิบายง่าย ๆ คือ การนำโปรตีนชนิดต่าง ๆ ของเชื้อโรคซาร์ส โรคภูมิแพ้ต่าง ๆ มาถอดรหัสพันธุกรรม (ดีเอ็นเอ) เพื่อหาสารสกัดมายับยั้งการเจริญเติบโตหรือฆ่าเชื้อโรคนั้น ๆ ซึ่งริเก็นตั้งเป้าไว้ว่าภายใน 5 ปีจะถอดรหัสดีเอ็นเอให้ได้ 3,000 ชนิด โดย 3 ปีที่ผ่านมานี้สามารถถอดรหัสดีเอ็นเอโปรตีนได้แล้วถึง 1,800 ชนิด

และได้นำดีเอ็นเอของ คน หนู ข้าว (ญี่ปุ่น) ปลา ที่ถอดรหัสออกมาไปจัดพิมพ์เป็นสัญลักษณ์ลงสมุด นอกจากนี้ยังมีการสร้างหนูพันธุ์พิเศษ โดยนำสเต็มเซลล์ของคนมาปลูกถ่ายในหนูทดลองเพื่อให้มีระบบภูมิคุ้มกันเช่นเดียวกับคน จากนั้นจึงทดลองด้วยยาชนิดต่าง ๆ

ยิ่งไปกว่านั้นนักวิจัยของริเก็นยังได้วิจัยเจาะลึกดีเอ็นเอเพื่อดูความแตกต่างระหว่างคนที่เป็นโรคความดันโลหิตสูงกับคนปกติว่ามีการเรียงตัวแตกต่างกันหรือไม่อย่างไร เพื่อวิเคราะห์และหาทางป้องกันโรคต่าง ๆ ที่คุกคามมนุษยชาติอีกด้วย

สถาบันเทคโนโลยีแห่งโตเกียว (Tokyo Institute of Technology : Tokyo Tech)

เป็นสถาบันการศึกษาอีกแห่งหนึ่งที่อุดมไปด้วยงานวิจัยระดับแนวหน้าของโลก และเมื่อไม่นานมานี้ ศูนย์การคำนวณและข้อมูลวิทยาศาสตร์นานาชาติ ของโตเกียวเทคแห่งนี้เพิ่งมีการเปิดตัว กริดซูเปอร์คอมพิวเตอร์ (super computing grid) ที่มีชื่อว่า TSUBAME ออกเสียงภาษาไทยว่า สึบาเม (ในภาษาญี่ปุ่นหมายถึงนกนางแอ่นอันเป็นสัญลักษณ์ของโตเกียวเทค)

สึบาเม เป็นการเชื่อมโยงหน่วยประมวลผลคอมพิวเตอร์จำนวน 10,480 ตัวเข้าด้วยกันเพื่อสร้างพลังในการประมวลผลมหาศาลแทน และมีประสิทธิภาพเทียบเคียงกับซูเปอร์คอมพิวเตอร์ในอันดับ 3-6 ของโลก ด้วยความเร็วขนาด 85 เทระฟล็อบ (1 เทระ = 1012 หรือล้านล้าน) ถือเป็นระบบการคำนวณที่เร็วที่สุดนอกพื้นดินสหรัฐอเมริกา และเร็วที่สุดในเอเชีย

รศ.ธีระพงษ์ พิพัฒน์พงษ์ หนึ่งในทีมวิจัยสึบาเมชาวไทย

กล่าวถึงสมรรถนะของซูเปอร์คอมพิวเตอร์เครื่องนี้ว่า งานวิจัยและพัฒนาที่ต้องใช้การคำนวณขนาดใหญ่ เช่น วิทยาศาสตร์ชีวภาพ นาโนเทคโนโลยี สิ่งแวดล้อม หรือการจำลองภัยพิบัติธรรมชาติ ตลอดจนการถอดและเข้ารหัสทางพันธุกรรม ดีเอ็นเอ โปรตีน ฯลฯ ล้วนเป็นสิ่งที่สึบาเมสามารถเข้าไปไขปัญหาเหล่านี้ได้ อีกทั้งเทคโนโลยีของสึบาเมยังเป็นซูเปอร์คอมพิวเตอร์สาธารณะที่เปิดให้นักศึกษาของโตเกียวเทคเข้าไปใช้งานเพียงแค่ใช้บัตรนักศึกษาเชื่อมต่อสัญญาณเท่านั้น


และเป็นที่น่ายินดีที่โตเกียวเทคมีความร่วมมือกับประเทศไทยผ่านสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สวทช.) มาตั้งแต่ปี 2546 ซึ่งภายในสำนักงานโตเกียวเทคประจำประเทศไทยนั้นมีเครื่องมือทางเทคโนโลยีสาระสนเทศอันทันสมัย ได้แก่ ระบบการประชุมทางไกล ระบบรับคลื่นสัญญาณดาวเทียม และระบบอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง เป็นต้น โดยมีการเรียนการสอนทางไกลร่วมกับมหาวิทยาลัยชั้นนำในเมืองไทยหลายแห่ง

ดร.ประวิช กล่าวว่า การถอดรหัสดีเอ็นเอของคนเพื่อดูความสัมพันธ์กับโรคนั้นทางศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค)

ได้ค้นพบยีนของคนที่มีความเสี่ยงเป็นโรคไข้เลือดออกรุนแรงมาแล้วเช่นเดียวกัน นอกจากนี้เรายังกำลังวิจัยในเรื่องธาลัสซีเมียที่คนไทยส่วนใหญ่เป็นพาหะ อนึ่งไบโอเทคได้ค้นหาข้อมูลพบสมุนไพรบางชนิดที่ออกฤทธิ์ยับยั้งเชื้อไข้หวัดนก (H5N1) ซึ่งคงจะได้ประสานกับสถาบันวิจัยเหล่านี้เพื่อให้ช่วยวิเคราะห์ต่อยอดและร่วมมือค้นหายารักษาโรคไข้หวัดนกในอนาคตอันใกล้

ความร่วมมือในอนาคตอันใกล้นี้จึงเป็นความหวังของไทยและของโลกที่จะร่วมกันทำสงครามกำจัดโรคไข้หวัดนกและโรคร้ายต่าง ๆ ให้สูญพันธุ์ไปก่อนที่จะกลายพันธุ์สร้างความพรั่นพรึงแก่มนุษยชาติ.




แหล่งที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์