“น้ำปลา” ยังไม่เว้น พบปนเปื้อนเมลามีน เผยชายไทยเสี่ยงเป็นหมันหากกินอาหารที่ปนเปื้อน สารเมลามี “อาจารย์ มข.” แนะ อย. ตรวจเข้ม-กวาดล้าง แป้งทุกชนิดและวัตถุดิบผลิตขนมปัง เส้นก๋วยเตี๋ยว พาสต้า บะหมี่ พิซซ่า แม้ทำให้ตื่นตระหนก แต่ต้องทำเพื่อความปลอดภัย ระบุยาฆ่าแมลงปนเปื้อนเพียบ หวั่นผักเจือสารพิษด้วย เผยชุดทดสอบเบื้องต้นรู้ผลทันที ถ่ายทอดให้กรมวิทย์ฯแล้ว ขณะที่ สธ. ออกประกาศห้ามผลิต-นำเข้า-จำหน่าย อาหารที่ตรวจพบสารเมลามีน
เมื่อวันที่ 8 ต.ค. ที่ศาลามหามงคล โครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดา ได้มีการจัดเสวนาเรื่อง “วิธีการตรวจเช็กการปนเปื้อนเมลามีน และอนุพันธ์หรือยูเรียฟอร์มาลดีไฮด์ปนเปื้อน ในอาหารสัตว์” โดย รศ.ดร.เยาวมาลย์ ค้าเจริญ ภาควิชาสัตวศาสตร์ คณะเกษตรศาสตร์ มหา วิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่า ทราบเรื่องการปนเปื้อนของเมลามีนมานาน 8 ปีแล้ว ตอนแรกมีการปนเปื้อนเพียงเล็กน้อย แต่ตอนหลังมีการใช้มากโดยนำมาเป็นตัวประสานไม่ให้อาหารยุ่ย ให้เกาะกันดี นอกเหนือจากที่มีการลักลอบใช้เมลามีนในอาหารสัตว์แล้ว ยังพบว่ามีการลักลอบใช้เมลามีนผสมในอาหารสำเร็จรูป เช่น ขนมปัง เส้นก๋วยเตี๋ยว เส้นพาสต้า เส้นบะหมี่ พิซซ่า แป้งทำขนมเค้ก น้ำปลา อาหารเด็ก ดังนั้นทางสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ควรจะตรวจอาหารประเภทแป้งทุกชนิดที่เป็น วัตถุดิบต้นตอที่มาทำผลิตภัณฑ์ดังกล่าวด้วย เพราะเท่าที่ทราบจากเพื่อนอาจารย์ในประเทศ เช่น ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย ก็กำลังไล่ตรวจวัตถุดิบเหล่านี้อยู่
“อยากให้ประเทศไทยกวาดล้างทุก อย่างที่อาจมีการปนเปื้อนออกจากชั้นวางจำหน่าย เพื่อให้คนไทยปลอดภัย การตรวจวัตถุดิบประเภทแป้งแม้จะทำให้เกิดการตื่นตระหนกก็ ต้องทำเพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภคชาวไทย บริษัทก็ต้องรับการสูญเสียเช่นกัน เพราะถ้าทำให้คนไตวายถามว่าคุ้มหรือไม่ ดังนั้น อย.ต้องรีบดำเนินการตรวจสอบวัตถุดิบทุกประเภทที่เป็นแหล่งโปรตีน ไม่เฉพาะหาการปนเปื้อนเมลามีนเท่านั้นทุกวันนี้ดื่มกาแฟก็ไม่ใส่ครีม แม้แต่น้ำปลาก็ยังมีการใส่เมลามีนเพื่อเพิ่มโปรตีน เคยใช้ชุดทดสอบตรวจก็พบว่ามีการปนเปื้อน ทำให้รู้สึกว่าไม่ได้ทำจากปลา แต่ทำจากน้ำเกลือและผสมเมลามีนลงไปแต่งสี ใส่กลิ่น” รศ.ดร.เยาวมาลย์ กล่าว
รศ.ดร.เยาวมาลย์ กล่าวต่อว่า เมลามีนที่นำมาผสมในอาหารนั้นส่วนใหญ่เป็นเศษของเมลามีนที่ผ่านกระบวนการสังเคราะห์ยังไม่เสร็จสิ้น เป็นเมลามีนที่ตกคุณภาพที่จะนำไปผลิตพลาสติก ทำให้มีคุณสมบัติละลายน้ำง่าย มักถูกจำหน่ายให้กับโรงงานผลิตอาหารสัตว์ในราคาถูก
ซึ่งนอกจากจะมีการนำไปผสมในอาหารสัตว์เลี้ยงแล้ว ยังถูกนำไปผสมในอาหารสุกร ไก่ และสัตว์น้ำ เช่น กุ้ง และปลาด้วย โดยไก่ที่กินอาหาร ปนเปื้อนเมลามีนทำให้อุ้งเท้าอักเสบเป็นแผลเน่า ม้ามโต และเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ไข่ที่ผสมแล้วฟักเป็นตัวได้เพียง 50% ส่วนสุกร กีบจะอักเสบ ขาเจ็บ ปลาดุกเกิดผิวสีดำ ปลานิลเป็นโรคด่างเกล็ดไม่สวย กุ้งหัวโต เห็นจุดขาวที่หัว และที่น่ากลัวคือถ้าผู้ชายกินอาหารที่มีสารเมลามีนปนเปื้อนในปริมาณมากจะทำให้เป็นหมัน
ทั้งนี้จากการค้นข้อมูลยังพบว่า ผักจีนยังมีการปนเปื้อนเมลามีน โดยพบในยาฆ่าแมลงชนิดหนึ่ง โดยเมื่อตรวจสอบข้อมูลจากกรม ศุลกากรแล้วพบว่า มีการนำเข้ายาฆ่าแมลงดังกล่าวเข้ามาในประเทศไทยเช่นกัน ส่วนกรณี สุกร ไก่ และสัตว์น้ำกินอาหารที่มีเมลามีนแล้วคนไปรับประทานจะได้รับสารเมลามีนหรือไม่นั้น ถ้ารับประทานเนื้อสัตว์เหล่านี้ไม่น่ามีปัญหาเพราะการตรวจไม่ค่อยพบเมลามีน แต่เมลามีนจะไปสะสมที่ไต ตับ ม้าม อัณฑะไก่ และมันกุ้งตรงส่วนหัว ดังนั้นควรหลีกเลี่ยง แต่ที่น่าห่วง คือ วัตถุดิบที่มาจากจีน เช่น กากถั่ว ปลาป่น ดังนั้นต้องมีการตรวจวิเคราะห์อย่างละเอียด ซึ่งที่ผ่านมากรมปศุสัตว์ก็ได้มีการตรวจวิเคราะห์และคุมเข้มอย่างละเอียดอยู่แล้ว
รศ.ดร.เยาวมาลย์ กล่าวอีกว่า ที่ผ่านมาได้พัฒนาชุดทดสอบเบื้องต้นเมลามีน และสารอนุพันธ์อีก 4 ชนิด โดยสามารถตรวจรู้ผลได้ทันที ซึ่งที่ผ่านมาได้นำไปตรวจนม น้ำดื่ม และน้ำปลา พบว่า บางตัวอย่างมีการปนเปื้อนเมลามีน และยังไม่ได้จดลิขสิทธิ์ เพราะไม่ได้ตั้งใจทำเป็นการค้า แต่กำลังคิดว่าจะมีการนำมาผลิตเพื่อการค้าหรือไม่ โดยพร้อมยินดีเปิดเผย องค์ความรู้นี้ หากใครจะทำก็ยินดี ซึ่งที่ผ่านมากรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ได้ส่งเจ้าหน้าที่มาพบตนเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ได้มาดูชุดทดสอบ และมาเรียนรู้กระบวนการตรวจ และตนได้มอบชุดทดสอบเบื้องต้นให้ไป 2 ชุด เพื่อนำไปพัฒนาต่อไปเพราะเป็นวิธีเดียวที่เร็วมากสามารถ ตรวจได้ทันทีและใช้สะดวก ส่วนการใช้ขวดน้ำพลาสติกไม่อยากให้ใช้ซ้ำ ๆ ควรทิ้งทันที ส่วนจาน ชาม เมลามีน ก็ไม่ควรใช้เกิน 2 ปี ที่น่าห่วงคือการใช้ร่วมกับไมโครเวฟ เพราะปัจจุบันมีพลาสติกที่เข้าไมโครเวฟหลายมาตรฐาน
ด้าน ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รมว.สาธารณสุข เปิดเผยว่า วันที่ 8 ต.ค. ได้ลงนามประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 31 พ.ศ. 2551 ห้ามผลิต-นำเข้า-หรือจำหน่าย อาหารที่ปนเปื้อนสารเมลามีน และสารในกลุ่มเมลามีน โดยจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษา คาดว่า 1-2 วันนี้ หากฝ่าฝืนจะมีโทษ ตาม พ.ร.บ.อาหาร พ.ศ. 2522 มาตรา 26 (1) ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำ ทั้งปรับ ตามประกาศฉบับนี้ อาหารที่เข้าข่าย จะต้องปฏิบัติตามมี 2 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มนม และอาหารที่มีนมเป็นองค์ประกอบ ทั้งนี้ให้ผู้นำเข้าอาหารดังกล่าวที่ผลิตจากประเทศจีน ต้องแสดงผลการวิเคราะห์จากหน่วยงานของรัฐหรือองค์กรหรือหน่วยงานเอกชน ที่มีระบบประกันคุณภาพตามมาตรฐานสากล ที่ด่านอาหารและยาทุกครั้ง.