วิกฤติแฮมเบอร์เกอร์รอดแล้ว! สภามะกันผ่านแผนกู้ศก.7แสนล้านเหรียญ บุช รีบประกาศใช้ทันที

ประธานาธิบดี"บุช"รีบลงนามประกาศกฎหมายแผนกู้ศก. 7 แสนล้านดอลลาร์ หลังสภามะกันเห็นด้วย 263 ต่อ 171 เสียง เผยรบ.ส่อรับซื้อหนี้จากผู้ขายราคาถูกสุด ดัชนีเอสแอนด์พีในวอลล์สตรีทลดต่ำสุดในรอบ 8 ปี

เมื่อวันที่ 4 ตุลาคม สำนักข่าวเอพี, เอเอฟพีและรอยเตอร์ รายงานว่า สภาผู้แทนราษฎรสหรัฐอเมริกาได้ลงมติให้ความเห็นชอบต่อแผนกู้วิกฤตเศรษฐกิจมูลค่า 7 แสนล้านดอลลาร์แล้ว ด้วยคะแนนเสียง 263 ต่อ 171 เสียง การลงมติดังกล่าวดำเนินไปอย่างราบรื่น โดยใช้เวลาเพียง 15 นาที ก็ยุติลงเมื่อเวลา 13.21 น. ของวันที่ 3 ตุลาคม ตามเวลาในสหรัฐอเมริกา (01.21 น. ของวันที่ 4 ตุลาคมตามเวลาไทย) ท่ามกลางเสียงปรบมือและเสียงเชียร์ของบรรดา ส.ส.ที่สนับสนุนร่างดังกล่าว ที่เพิ่งผ่านวุฒิสภามาก่อนหน้านี้เพียง 2 วันด้วยคะแนนเสียง 74 ต่อ 25 เสียง หลังจากนั้นเจ้าหน้าที่เร่งนำร่างกฎหมายเพื่อสร้างเสถียรภาพให้กับระบบการเงินดังกล่าวไปตีพิมพ์เป็นกฎหมายอย่างเป็นทางการเพื่อให้นางแนนซี่ เพโลซี ประธานสภาผู้แทนราษฎรจากพรรคเดโมแครตลงนามอย่างเป็นทางการเมื่อเวลา 14.00 น. และจัดส่งรัฐบัญญัติใหม่ดังกล่าวไปยังทำเนียบขาว โดยที่ประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู. บุช ลงนามประกาศใช้เป็นกฎหมายในอีกไม่ถึง 1 ชั่วโมงต่อมา

รายงานข่าวระบุว่า มี ส.ส.พรรคเดโมแครตอีก 32 คน และ ส.ส.พรรครีพับลิกัน 26 คน ที่ลงมติคว่ำแผนดังกล่าวเมื่อวันที่ 29 กันยายนที่ผ่านมา ได้เปลี่ยนใจมาสนับสนุนครั้งนี้ อย่างไรก็ตาม โดยภาพรวมแล้วพรรครีพับลิกันยังไม่เห็นด้วยกับแผนดังกล่าวนี้ โดยลงมติรับเพียง 91 เสียง ค้าน 108 เสียง ขณะที่เดโมแครตลงมติรับ 172 เสียง คัดค้านเพียง 63 เสียงเท่านั้น

ประธานาธิบดีบุช แถลงข่าวที่ทำเนียบขาวก่อนหน้าที่จะลงนามประกาศใช้กฎหมายนี้ โดยกล่าวแสดงความขอบคุณต่อบรรดาผู้นำในรัฐสภาสหรัฐและระบุว่า สิ่งนี้จะแสดงให้โลกเห็นว่าเราจะสร้างเสถียรภาพให้กับตลาดการเงินของเราและจะยังคงบทบาทนำในเศรษฐกิจโลกอยู่ต่อไป ขณะที่นายเฮนรี่ พอลสัน รัฐมนตรีคลัง ซึ่งร่วมอยู่ในการแถลงข่าวด้วยระบุว่า การลงมติครั้งนี้เป็นการแสดงออกถึงการปกป้องคนอเมริกันและทรัพย์สินของสหรัฐอเมริกา

เอพีระบุว่า หลังจากรัฐบัญญัติดังกล่าวนี้ผ่านสภาแล้ว ขั้นตอนต่อไปก็จะเป็นหน้าที่ของกระทรวงการคลังที่จะกำหนดรายละเอียดของการดำเนินการซื้อหนี้สินของธนาคารและสถาบันการเงินต่างๆ นายพอลสัน รัฐมนตรีคลังเปิดเผยว่า กระทรวงดำเนินการล่วงหน้าไปแล้วโดยทาบทามที่ปรึกษาภายนอกจำนวนหนึ่งเข้ามาร่วมกับเจ้าหน้าที่กระทรวงเพื่อกำหนดรายละเอียดของแผนดังกล่าวนี้ แม้จะยังไม่สามารถเปิดเผยถึงวิธีการและระดับราคาของหนี้ที่รัฐบาลจะซื้อได้   

อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่รายหนึ่งเผยว่ารัฐบาลอาจใช้วิธีการประมูลผกผัน (รีเวิร์ส ออคชั่น) ด้วยการเปิดประมูลซื้อหนี้จากธนาคารต่างๆ โดยผู้ที่จะชนะการประมูลคือผู้ที่จะขายหนี้ให้กับรัฐบาลในราคาต่ำที่สุด ตรงกันข้ามกับการประมูลทั่วไปที่ผู้ประมูลได้จะให้ราคาสูงสุด อย่างไรก็ตาม รัฐบาลจำเป็นต้องประเมินมูลค่าของหนี้สินทั้งหมด โดยเฉพาะในส่วนที่มีหลักประกันเป็นอสังหาริมทรัพย์เพื่อพิจารณาว่าจะต้องซื้อในระดับราคาใด ดังนั้นอาจต้องว่าจ้างบริษัทด้านบริหารจัดการสินทรัพย์ของเอกชน 5-10 บริษัท รวมทั้งว่าจ้างเจ้าหน้าที่พิเศษ เช่น นักบัญชี, ผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดการสินทรัพย์, ที่ปรึกษาด้านการเงิน, นักการธนาคารและทนายความ เพื่อดำเนินการตามโครงการของแผนกู้วิกฤตหนนี้

อย่างไรก็ตาม ตลาดหลักทรัพย์วอลล์สตรีตกลับไม่ได้ตอบสนองที่ดีต่อการลงมติครั้งนี้ เพราะแม้จะกระเตื้องขึ้นเล็กน้อยก่อนหน้าการลงมติ แต่หลังจากนั้นดัชนีดาวโจนส์กลับอ่อนตัวลงมาอยู่ในแดนลบและปิดตลาดติดลบอีก 157.47 จุด หรือ 1.50% มาปิดที่ 10,325.38 จุด โดยที่ดัชนี เอสแอนด์พี ติดลบมากที่สุดถึง 6.95% ลดลงต่ำสุดในรอบ 8 ปี ทั้งนี้ เนื่องจากกระทรวงแรงงานสหรัฐอเมริกาประกาศตัวเลขว่างงานในเดือนกันยายนออกมาสูงกว่าที่คาดหมายไว้ คือมีคนว่างงานเพิ่มขึ้นถึง 159,000 คน เป็นการตอกย้ำว่า สภาวะเศรษฐกิจของสหรัฐโดยรวมกำลังตกสู่ภาวะถดถอยอย่างไม่เป็นทางการ และวิกฤตหนนี้ไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะในตลาดเงินตลาดทุนแต่เพียงอย่างเดียวแล้ว

รายงานข่าวระบุว่า นักลงทุนวิตกกับตัวเลขดังกล่าวนี้มาก เนื่องจากเป็นการเก็บตัวเลขถึงวันที่ 8 กันยายน ก่อนหน้าที่วิกฤตหนนี้จะลุกลามเต็มที่เมื่อวันที่ 17 กันยายน แสดงให้เห็นสถานการณ์แท้จริงอาจแย่กว่าตัวเลขดังกล่าว นอกจากนั้นตัวเลขดังกล่าวสะท้อนให้เห็นภาวะเพียงส่วนหนึ่งของตลาดเท่านั้นเพราะตัวเลขของทางการสหรัฐเป็นการเก็บตัวเลขจากผู้ที่ยื่นความจำนงสมัครงานและขอรับสวัสดิการ แต่เชื่อว่ามีแรงงานอีกเป็นจำนวนมากที่ยังไม่ได้ยื่นความจำนงดังกล่าว ขณะที่ผลการสำรวจอย่างไม่เป็นทางการชี้ให้เห็นว่ามีคนอเมริกันว่างงานในเดือนที่แล้วมากถึง 375,000 คน นายโจชัว ชาปิโร นักเศรษฐศาสตร์ของบริษัทวิจัยเอ็มเอฟอาร์ในนิวยอร์กระบุว่า ไม่ว่ารัฐบาลจะเข้าอุ้มตลาดเงินหรือไม่ก็ตาม ภาวะเศรษฐกิจถดถอยกำลังจะเกิดขึ้นและน่าจะรุนแรงอย่างมากอีกด้วย

นักเศรษฐศาสตร์บางคนให้ความเห็นว่า ความเคลื่อนไหวของรัฐบาลสหรัฐดูเหมือนจะช้าเกินไป นางแอนนา ไพเร็ตติ นักเศรษฐศาสตร์ของธนาคาร บีเอ็นพี พาริบาส์ ในนิวยอร์ก ระบุว่า แผนกู้วิกฤตผ่านออกมาล่าช้าไปอยู่บ้าง ถ้าหากแผนนี้นำมาใช้ก่อนหน้านี้อาจส่งผลได้ดีมากกว่านี้และฟื้นฟูความเชื่อมั่นได้มากขึ้น ขณะที่นายเดวิด เคลลี หัวหน้าแผนกยุทธศาสตร์การตลาดฝ่ายบริหารจัดการทรัพย์สินของบริษัท เจพี มอร์แกน ชี้ว่า แม้แผนจะบังคับใช้แล้วก็ยังมีคำถามอีกมากที่ยังไม่มีคำตอบ ทำให้หลายคนไม่แน่ใจว่าแผนกู้วิกฤตครั้งนี้จะได้ผลอย่างที่รัฐบาลโฆษณาเอาไว้หรือไม่ เพราะไม่แน่นักว่าธนาคารต่างๆ จะร่วมมือตามแผนหรือไม่ และธนาคารเหล่านั้นจะเต็มใจปล่อยกู้อีกแค่ไหนหลังจากที่ขายหนี้เสียให้กับรัฐบาลแล้ว
ด้านนายสก็อต เชน ศาสตราจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์ของมหาวิทยาลัยเคส เวสเทิร์น รีเสิร์ฟ ระบุว่า แผนกู้วิกฤตหนนี้เพียงแค่กวาดเอาหนี้เสียในระบบไปรวมกันไว้เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุสถาบันการเงินหรือธนาคารล้มเหมือนเช่นที่ผ่านมาอีก แต่ไม่ทำให้สถานการณ์ย่ำแย่ที่เป็นอยู่ในเวลานี้ดีขึ้นแต่อย่างใด นักวิเคราะห์หลายคนเชื่อว่าราคาอสังหาริมทรัพย์ในสหรัฐอเมริกามีโอกาสลดลงอย่างต่อเนื่อง กว่าจะถึงจุดต่ำสุดก็คงจะใช้เวลาอีกนานเป็นปีหรือกว่านั้น

ขณะที่บรรดาผู้นำประเทศต่างๆ แสดงปฏิกิริยาในทางที่ดี นายเควิน รัดด์ นายกรัฐมนตรีออสเตรเลีย กล่าวว่า จะช่วยฟื้นฟูเสถียรภาพให้ระบบการเงินการธนาคารของโลก ถือเป็นก้าวย่างในทางที่ดี แต่ยังคงมีอีกหลายอย่างที่ต้องทำหลังจากนี้ โดยเฉพาะสิ่งที่ท้าทายต่อทั้งโลกว่า ทำอย่างไรถึงจะมีกฎเกณฑ์บังคับให้ระบบการเงินโปร่งใส, มาตรฐานและบรรษัทภิบาลที่เหมาะสมควรจะเป็นอย่างไร

ส่วนที่ปักกิ่ง ธนาคารประชาชนจีน (ธนาคารกลาง) แถลงว่า เชื่อว่าแผนของสหรัฐจะช่วยสร้างเสถียรภาพให้เกิดขึ้นกับตลาดเงินโลกได้ พร้อมกับฟื้นฟูความเชื่อมั่นนักลงทุนให้กลับคืนมา และจีนพร้อมจะร่วมมือกับสหรัฐและประเทศอื่นๆ เพื่อสร้างเสถียรภาพให้เกิดขึ้นทั่วโลก ขณะที่นายโชเซ่ มานูเอล บาร์โรโซ ประธานกรรมาธิการแห่งสหภาพยุโรป (อียู) แสดงความยินดีเช่นเดียวกัน โดยถือว่าการลงมติครั้งนี้เป็นการแสดงออกถึงความรับผิดชอบที่พึงมี เหมือนกับที่อียูแสดงความรับผิดชอบในส่วนของตนตลอดภาวะปั่นป่วนครั้งนี้และจะทำต่อไป

ทั้งนี้ ผู้นำ 4 ชาติมหาอำนาจในยุโรปคือ อังกฤษ, ฝรั่งเศส, เยอรมนี และอิตาลี กำหนดจะเปิดประชุมสุดยอดขึ้นที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ในวันที่ 4 ตุลาคมนี้ โดยคาดหวังว่าที่ประชุมจะกำหนดมาตรการรับมือกับวิกฤตการเงินครั้งนี้ร่วมกันอย่างเป็นรูปธรรมได้ แม้ว่าจะยังมีความเห็นแตกต่างกันอยู่มากก็ตามที ทั้งนี้ ฝรั่งเศสและอิตาลี เสนอให้จัดทำแผนกู้วิกฤตตามแนวทางของสหรัฐโดยแต่ละประเทศลงเงินมารวมกัน ขณะที่อังกฤษและเยอรมนีไม่เห็นด้วย และให้มีการแทรกแซงเป็นรายกรณีมากกว่า มาตรการใดก็ตามที่เป็นผลจากการหารือครั้งนี้จะถูกนำเสนอเข้าสู่ที่ประชุมกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำ 8 ประเทศ หรือจี 8 ในเดือนพฤศจิกายนนี้ ซึ่งมีจีน, อินเดียและบราซิล ได้รับเชิญให้เข้าร่วมด้วย

เอพีระบุว่า นอกจากจะพิจารณาแผนกู้วิกฤตแล้ว สภาผู้แทนราษฎรสหรัฐยังเตรียมดำเนินการสอบสวนหาข้อเท็จจริงในวิกฤตที่เกิดขึ้นอีกอย่างน้อย 5 กรณี ซึ่งเชื่อกันว่าจะส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ที่สุดในรอบเกือบศตวรรษในแง่ของความสัมพันธ์ระหว่างภาครัฐกับบริษัทการเงินทั้งหลายในสหรัฐ อาทิ การเปิดการรับฟังข้อเท็จจริงเพื่อไต่สวนกรณีเลห์แมน บราเธอร์ส ในวันที่ 6 ตุลาคม, การเข้าอุ้มเอไอจีมูลค่า 85,000 ล้านดอลลาร์ ในวันที่ 7 ตุลาคม, พฤติกรรมของเฮดจ์ฟันด์ในวันที่ 16 ตุลาคม, พฤติกรรมของบริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือในวันที่ 17 ตุลาคม และพฤติกรรมของหน่วยงานกำกับดูแลตลาดเงินของรัฐในวันที่ 23 ตุลาคม เป็นต้น

เครดิต :
เครดิต :เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์มติชน


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์