เดลินิวส์
เมื่อวันที่ 18 มิ.ย. ผู้สื่อข่าวเดลินิวส์รายงานผลการแข่งขันโรโบคัพ เวิลด์คัพ 2006 หรือการแข่งขันหุ่นยนต์ชิงแชมป์โลกระหว่าง วันที่ 13-18 มิ.ย. จากเมืองเบรเมน ประเทศเยอรมนี ว่า ในการแข่งขันประเภทหุ่นยนต์กู้ภัย (World RoboCup Rescue) จัดโดยสหพันธ์หุ่นยนต์ (The RoboCup Federation) ซึ่งเป็นการแข่งขันหุ่นยนต์กู้ภัยระดับโลก เพื่อทำหน้าที่ค้นหา และช่วยเหลือผู้ประสบภัยจากเหตุการณ์ต่าง ๆ มี 22 ทีมจาก 10 ประเทศเข้าแข่งขัน โดยประเทศไทย ได้ส่งเยาวชนจากสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ ประกอบด้วย นายพินิจ เขื่อนสุวงศ์ นายธงชัย พจน์เสถียร นายสุชาติ จันลี นายอดิศักดิ์ ดวงแก้ว และนายเนติ นามวงศ์ เป็นตัวแทนเข้าร่วมการแข่งขัน ในนามทีมอินดีเพนเด้นท์
หลังจากฝ่าฟันการแข่งขันจนถึงรอบชิงชนะเลิศที่เหลือเพียง 5 ประเทศ ได้แก่ สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น อิหร่านสองทีม เยอรมนี และไทย เข้ามาประชันฝีมือการควบคุมหุ่นยนต์ในวันที่ 17 มิ.ย. เวลา 19.00 น. (ตามเวลาท้องถิ่น) ผลปรากฏว่า ทีมอินดีเพนเด้นท์ตัวแทนจากไทย ทำคะแนนรวม 109 คะแนน ขึ้นเป็นอันดับหนึ่ง เบียดประเทศญี่ปุ่น แชมป์เก่าตกอันดับ ต้องไปชิงที่สอง และสามกับประเทศอิหร่านในวันถัดไป เนื่องจากสองทีมนี้มีคะแนนเท่ากัน
สำหรับหุ่นยนต์ของทีมอินดีเพนเด้นท์ ใช้หุ่นยนต์ในการแข่งขันกู้ภัย 2 ตัว คือ หุ่นยนต์อินดีเพนเด้นท์ (Independent) ขับเคลื่อน 10 ล้อ มีแขนกลด้านหน้า ช่วยในการปีนบันได และข้ามสิ่งกีดขวางได้ ส่วนหุ่นยนต์อีกตัวคือ หุ่นยนต์อินเพล้าส์ (Inpuse) ขับเคลื่อนด้วยระบบสายพาน ใช้กลไกยกและย่อตัว หุ่นยนต์ทั้งสองตัวมีเซ็นเซอร์สำหรับตรวจจับความเคลื่อนไหว กล้องหมุนรอบทิศ และโปรแกรมที่สามารถระบุพิกัด ความลาดเอียงของพื้นผิว และข้อมูลเหยื่อ ทั้งนี้ กติกาการแข่งขันแต่ละทีมต้องบังคับหุ่นยนต์เพื่อค้นหาเหยื่อในสภาพภูมิประเทศจำลอง เช่น แผ่นดินไหว และตึกถล่ม หุ่นยนต์ต้องค้นหาเหยื่อ และรายงานสภาพของเหยื่อพร้อมจัดทำแผนที่
นายพินิจ เขื่อนสุวงศ์ หัวหน้าทีมอินดีเพนเด้นท์ ให้สัมภาษณ์ว่า ภูมิใจและดีใจที่ทำสำเร็จ มั่นใจว่าจุดเด่นของทีมคือ ความละเอียดในการทำแผนที่ และรายละเอียดของเหยื่อ ทำให้ได้คะแนนสูงสุด ส่วน ผศ.ดร.จักรกฤษณ์ ศุทธากรณ์ อุปนายกสมาคมวิชาการหุ่นยนต์ไทย กล่าวว่า ทีมอินดีเพนเด้นท์ มีความตั้งใจจริง นักศึกษาขยันฝึกซ้อมและทำได้ดีมาก ได้แชมป์ครั้งนี้เป็นการประกาศให้รู้ว่าไทยไม่ได้ล้าหลังด้านวิทยาการ และเทคโนโลยีเลย
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตลอดการแข่งขัน ทั้ง 5 วัน ทีมของนักศึกษาไทยได้รับเสียงปรบมือจากผู้ชมตลอดเวลา และต่างชื่นชมในความสามารถของทีมไทย ส่วนทีมจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ซึ่งเข้าร่วมการแข่งขันหุ่นยนต์ ประเภทหุ่นยนต์ขนาดกลางเตะฟุตบอล และหุ่นยนต์เลียนแบบมนุษย์เตะฟุตบอล ยังอยู่ระหว่างการแข่งขัน
ที่เมืองทองธานี จ.นนทบุรี สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ร่วมกับ บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) และสมาคมส่งเสริมเทคโนโลยี (ไทย-ญี่ปุ่น) จัดให้มีการแข่งขันหุ่นยนต์เอบียู (ABU) ชิงแชมป์ประเทศไทย โดยมี ดร.ประวิช รัตนเพียร รมว.วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นประธาน ซึ่งทีมชนะเลิศจะได้เป็นตัวแทนประเทศไทยไปแข่งขันหุ่นยนต์เอบียู เอเชีย-แปซิฟิก โรบอท คอนเทสต์ 2006 (ABU Asia - Pacific Robot - Contest 2006) ที่กรุง กัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย ในวันที่ 10 ก.ย.นี้ ผลปรากฏว่าทีมหอยหลอด จากวิทยาลัยเทคนิคสมุทรสงคราม เฉือนชนะคู่แข่งทีมศรีอยุธยา จากวิทยาลัยเทคนิคพระนครศรีอยุธยา ด้วยคะแนน 2 ต่อ 0 คว้ารางวัลชนะเลิศมาครอง พร้อมเงินรางวัล 1 แสนบาท และเป็นตัวแทนประเทศไทย ไปแข่งขันที่มาเลเซีย โดย อ.สมชาย สูญสิ้นภัย และ อ.ปิติกร ขำอ่อน อาจารย์ที่ปรึกษาทีมหอยหลอด กล่าวว่า จุดเด่นของหุ่นยนต์ของเรา อยู่ที่หุ่นยนต์ออโต้ มีความแม่นยำสูง เพราะใช้เซ็นเตอร์ฐานแบบใยแก้ว ทำให้มีความแน่นอนร้อยเปอร์เซ็นต์ รวมทั้งมีเทคนิคต่าง ๆ อีกมากมาย จากนี้จะต้องปรับปรุงจุดด้อยต่าง ๆ เพื่อเตรียมไปแข่งขันที่มาเลเซีย ส่วนทีมคู่แข่งที่น่ากลัวคือทีมจากประเทศญี่ปุ่น และเวียดนาม
สำหรับการแข่งขันหุ่นยนต์เอบียู เป็นการแข่งขันสร้างสะพานเชื่อมตึกแฝด ปิโตนาส สัญลักษณ์ของประเทศมาเลเซีย โดยแต่ละทีมต้องประชันกันในเรื่องความเร็ว และความเที่ยงตรงในการสร้างสะพานเชื่อม 2 ตึก ผ่านทางความสามารถของหุ่นยนต์ ทั้งเรื่องความแม่นยำในการเขียนโปรแกรมของหุ่นยนต์อัตโนมัติ และหุ่นยนต์แมนนวล ที่ควบคุมด้วยมือ ใช้เวลาแข่งขัน 3 นาที ทีมใดทำคะแนนได้สูงสุด และใช้เวลาน้อยที่สุดจะเป็นผู้ชนะ.