สถิติเด็กไทยเบื่อร.ร. ติดมือถือสิ่งเร้าใจ!

ภาพประกอบจากอินเตอร์เน็ต

น่าห่วงปัญหาเด็กไทย โครงการไชลด์ วอตช์ เปิดผลสำรวจ 76 จังหวัด หลังศึกษาวิจัยนาน 4 ปี

พบแนวโน้มเด็กไทยเหมือนกันหมด เบื่อโรงเรียนขาดแรงจูงใจ หมดความมุ่งหวังที่จะเรียนรู้ น.ร.ประ ถม 50% มัธยม 80% มีมือถือ แต่ใช้เล่นเกม และดึงดูดความสนใจไปทางอื่น น่าห่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา มีเด็กเยาวชนถูกส่งสถานพินิจเพิ่มขึ้น จากปีละ 3 หมื่น เป็น 4-5 หมื่น ระบุต้นทางของปัญหาคือครอบครัวอ่อนแอ สังคมเจริญแต่ไม่มีกฎกติกาการแก้ปัญหารองรับ แฉร้านเน็ตในกทม. จดทะเบียนเพียง 5 พันร้าน ไม่จดกว่า 1.5 หมื่นร้าน ร้านหน้ารามฯ แย่หนักรับเฉพาะลูกค้าเกย์ โชว์ของลับออกจอแคมฟร็อกถ่ายทอดสด จี้กระทรวงศธ. พม. และวธ. หันมาสนใจปัญหาและแก้ไขด่วน

เมื่อวันที่ 23 ก.ย. ที่โรงแรมเจ้าพระยาปาร์ค กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์(พม.) จัดประชุมเชิงปฏิบัติการ การเฝ้าระวังทางสังคมและการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การพัฒนาเด็กและเยาวชน

โดยนายอมรวิชช์ นาครทรรพ ผอ.สถา บันรามจิตติ กล่าวบรรยายเรื่อง "ยุทธศาสตร์และ แนวทางการทำงานด้านเด็ก เยาวชนและสังคมในระดับท้องถิ่น :ประสบการณ์โครงการ ไชลด์ วอตช์" ว่า จากโครงการติดตามสถานการณ์เด็กและเยาวชนรายจังหวัด (ไชลด์ วอตช์) ซึ่งเริ่มดำเนินการตั้งแต่ปี 2547 เห็นปัญหาเด็กเยาวชนที่น่าห่วง โดยเฉพาะช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา พบว่าเด็กและเยาวชนถูกส่งเข้าสถานพินิจจากเดิม 3 หมื่นคน เพิ่มเป็น 4-5 หมื่นคน เฉลี่ยเพิ่มปีละ 1 หมื่นคน ที่น่าตกใจ คือ มีเด็กมัธยมศึกษาตอนต้นถึงร้อยละ 30 ไม่ได้อยู่กับพ่อแม่ เช่น ที่จ.ชัยภูมิ ช่วง 1 เดือน มีเด็กอายุ 3-4 ขวบ ต้องเสียชีวิตถึง 5 ราย เพราะอยู่กับปู่ ย่า ตา ยาย ไม่ได้อยู่กับพ่อแม่

ผอ.สถาบันรามจิตติ กล่าวอีกว่า ต้นทางของปัญหาเหล่านี้ คือ สภาพครอบครัวที่อ่อนแอ ซึ่งไม่ได้ส่งผลทำให้เด็กเสียชีวิตเท่านั้น ยังมีปัญหาทะเลาะวิวาท ล่วงละเมิดทางเพศ ยาเสพติด

ยิ่งพื้นที่เจริญปัญหาสังคมยิ่งเกิดเป็นเงาตามตัว มีมหาวิทยาลัยจำนวนมากที่ไหนก็มีปัญหามากที่นั่น ทั้งหอพัก ร้านเหล้า โต๊ะสนุ้ก เป็นแพ็กเกจที่ไม่มีกติกาการแก้ปัญหารองรับ นอกจากนี้เด็กเยาวชนเสพสื่อติดเกมอินเตอร์เน็ตมากขึ้น แค่กทม.มีร้านอินเตอร์เน็ตจดทะเบียนเป็นทางการ 5,000 ร้าน แต่ไม่จดมีถึง 15,000 ร้าน นอกจากนั้นยังพบว่าแถวหน้ามหาวิทยาลัยรามคำแหง มีร้านอินเตอร์เน็ตที่ให้บริการสำหรับกลุ่มเกย์โดยเฉพาะ มีการเปิดแคมฟร็อกปล่อยของหน้าจอ กลายเป็นปัจเจกนิยมสุดขั้ว แต่กฎหมายไม่ได้เข้าไปจัดการอะไร

ด้านนายสมพงษ์ จิตระดับ ผอ.ศูนย์วิจัยและนวัต กรรมเด็กที่มีความต้องการพิเศษ คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า จากรายงานความก้าวหน้าโครงการ ไชลด์ วอตช์ ที่มีคณะวิจัย 8 ทีมศึกษาในพื้นที่ 76 จังหวัด

พบข้อมูลของทุกจังหวัดที่สะท้อนตรงกันว่าเด็กเกิดอาการไม่อยากไปโรงเรียน เกิดโรคเบื่อโรงเรียน หมดความมุ่งหวัง ขาดแรงจูงใจที่จะเรียนรู้ สาเหตุส่วนหนึ่งมาจากความสัมพันธ์ที่ห่างเหินระหว่างครูและเด็ก ครูมุ่งแต่ทำผลงานเป็นอาจารย์ระดับ 2, 3 นายสมพงษ์ กล่าวต่อว่า ขณะเดียวกันสื่อเข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องดึงความสนใจเด็ก เด็กประถมร้อยละ 50 มีมือถือ เด็กมัธยมร้อยละ 80 มีมือถือ และส่วนใหญ่สนใจกับการเล่นอินเตอร์เน็ต เกม พ่อแม่ก็นำลูกไปอยู่ที่ร้านเกม ห้างสรรพสินค้า ไม่มีเวลาเลี้ยง นอกจากนี้ตนมองว่าส่วนหนึ่งเป็นเพราะหลักสูตรการเรียนรู้ที่ล้าสมัย ไม่เป็นปัจจุบันทำให้เด็กเบื่อ จึงอยากฝากกระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ และกระทรวงวัฒนธรรมหันมาสนใจปัญหาและเร่งแก้ไขโดยด่วน

เครดิต :
เครดิต : เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์ข่าวสด


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์