สำนักข่าวต่างประเทศรายงานความสามารถของมนุษย์เพื่อค้นคว้ากำเนิดของจักรวาลว่า เมื่อช่วงบ่ายวันพุธที่ 10 ก.ย. ตามเวลาประเทศไทย
องค์การวิจัยนิวเคลียร์แห่งยุโรป (เซิร์น) ในสวิตเซอร์แลนด์ ประสบความสำเร็จกับการทดลองครั้งแรกในประวัติศาสตร์ ด้วยการ เดินเครื่องเร่งความเร็วอนุภาคที่ใหญ่ที่สุดในโลก (Large Hadron Collider-LHC) เพื่อยิงอนุภาคโปรตอนให้ชนกันอย่างรุนแรง จนเกิดความเร็วเท่ากับความเร็วของแสง เพื่อค้นคว้าหาที่มาของปรากฏการณ์ “บิ๊กแบง” หรือการชนปะทะของอนุภาคเล็กๆอย่างรุนแรงตามทฤษฎี การก่อกำเนิดของจักรวาลเมื่อ 13,700 ล้านปีก่อน อันเป็นก้าวสำคัญของโลกวิทยาศาสตร์อีกขั้นหนึ่งที่ต้องการศึกษาไขปริศนาหลายอย่างของจักรวาล
ทั้งนี้ นายลิน อีวานส์ หัวหน้าโครงการกล่าวว่า กระบวนการเร่งความเร็วอนุภาคเกิดขึ้นภายในอุโมงค์ ขนาดยักษ์ ที่มีลักษณะเป็นท่อใต้ดินวนเป็นวงกลมยาว 27 กม.
โดยอุโมงค์นี้ฝังอยู่ใต้พื้นดินลึกลงไปประมาณ 100 เมตร หรือประมาณ 300 ฟุต มีอาณาเขตครอบคลุมพื้นที่บริเวณพรมแดนฝรั่งเศสกับสวิตเซอร์แลนด์ โดยขั้นตอนเริ่มด้วยการยิงลำแสงโปรตอนเข้าไปในอุโมงค์ดังกล่าว แล้วเร่งความเร็วของอนุภาคจนใกล้ระดับความเร็วแสงถึง 99.99 เปอร์เซ็นต์ หมุนวนด้วยความเร็ว 11,245 ครั้งต่อวินาที อยู่ภายในอุโมงค์ในรูปแบบตามเข็มนาฬิกาและทวนเข็มนาฬิกา จนก่อให้เกิดสนามแม่เหล็กพลังสูง ลักษณะเดียวกับทฤษฎีกำเนิดจักรวาล เพื่อปล่อยให้สองอนุภาคชนกัน เปรียบเทียบง่ายๆ คล้ายกับการยิงกระสุนปืนหลายๆนัด กระสุนบางนัดที่ทะลุทะลวงอากาศอาจพลาดเป้าหมาย แต่ก็จะมีหนึ่งนัดโดนเป้าหมายที่เล็งไว้ ซึ่งจะเกิดขึ้นเพียงช่วงเสี้ยววินาที และระหว่างดำเนินการก็จะเกิดความร้อน มีอุณหภูมิสูงกว่าแกนกลางของดวงอาทิตย์เกิน 100,000 เท่า กระนั้น ระบบหล่อเย็นรอบวงแหวนแอลเอชซี ประกอบด้วยสารเหลวซุปเปอร์ฮีเลียม จะคอยรักษาระดับอุณหภูมิของเครื่องแอลเอชซีไว้ที่ -271.3 องศาเซลเซียส คาดว่าการชนกันครั้งแรกจะเกิดขึ้นในอีกหลายสัปดาห์