เมื่อเวลา 14.00 น.ที่คณะแพทย์ศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผศ.นพ.ถนอม บรรณประเสริฐ ภาควิชา โสต ศอ นาสิกวิทยา คณะแพทย์ศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
รพ.จุฬาฯ และ รพ.ศิริราช ได้ร่วมกันค้นคว้า วิจัย “โครงการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ผิวหนังสังเคราะห์ต้นแบบ ” ( The Development of Artificial Skin Prototype Research Project ) หรือ “ Pore skin® Artificial Dermis ” โดยใช้ เทคโนโลยีวิศวกรรมเนื้อเยื่อ ( Tissue Engineering Technology ) ประสบความสำเร็จเป็นครั้งแรกของประเทศไทย และ ภูมิภาคเอเชียอาคเนย์ โดยผิวหนังสังเคราะห์ ( Artificial Dermis ) ที่พัฒนาได้ในครั้งนี้ ใช้ชื่อทางการค้าว่า Pore skin® Artificial Dermis โดยขณะนี้ได้ยื่นจดลิขสิทธิ์ทางปัญญาแล้ว ซึ่งได้ทำการทดลองมาตั้งแต่ปี 2548 – ปัจจุบัน ใช้งบประมาณ 14 ล้านบาท โดยสภาวิจัยแห่งชาติเป็นผู้สนับสนุนทุนวิจัย
ผศ.นพ.ถนอม กล่าวว่า ผิวหนังสังเคราะห์ ทำมาจาก คอลลาเจน ที่สกัดจาก ผิวหนังมนุษย์ โดยนำมาจากร่างของผู้บริจาคร่างกายแก่สภากาชาด
มีลักษณะเป็นแผ่นฟิลล์บางๆ ชั้นล่างเป็นใยสังเคราะห์มีรูพรุน เพื่อให้เซลล์แทรกซึมเข้ามาสร้างเป็นเนื้อเยื่อใหม่ ขณะที่ด้านบนเป็นซิลิโคน ป้องกันการติดเชื้อ ซึ่งส่วนใหญ่จะเหมาะกับผู้ป่วยที่มีแผลไฟไหม้ขนาดใหญ่ แผลลึก ระดับ 2-3 แผลหดรั้งที่เกิดจากไฟไหม้ หรือ แผลขนาดใหญ่ ที่ทะลุถึงชั้นผิวหนัง แต่ไม่ถึงกล้ามเนื้อ ช่วยป้องกันไม่ให้เกิดความพิการถาวรได้ แต่ไม่สามารถใช้กับผู้ป่วยแผลเรื้อรัง เช่น เบาหวาน เพราะผิวหนังไม่มีเซลล์เนื้อเยื่อ แผลติดเชื้อ แผลสกปรก แผลขาดเลือด จากสาเหตุต่างๆ เช่น แผลที่ถูกการฉายรังสี เป็นต้น
ผิวหนังสังเคราะห์ที่ทีมวิจัยพัฒนาขึ้นแตกต่างจากผิวหนังสังเคราะห์ที่ประเทศอื่นๆ
ที่ใช้วิธีสังเคราะห์คอลลลาเจนจากวัว ซึ่งมีโอกาสเกิดการแพ้ได้ และมีราคาแพง เช่น สหรัฐอเมริกา ขนาด 10x10 เซ็นติเมตร ราคา 50,000 บาท ส่วนประเทศญี่ปุ่น อยู่ที่ 23,000 บาท ขณะที่ของไทย มีราคาถูกกว่า 10 เท่าคือ 2,000 บาท