เด็กนับล้าน เครียดหนัก ถึงขั้นวิกฤติ เข้าคิวแน่น พบจิตแพทย์
เมื่อวันที่ 1 มี.ค. พ.ญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์ ผู้อำนวยการศูนย์สุขภาพจิตที่ 13 กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยถึงภาวะความเครียดของเด็กไทยในปัจจุบันว่า เด็ก มีความเครียดตั้งแต่เล็ก แต่ไม่สามารถบอกใครได้ เนื่องจากสาเหตุเล็กๆน้อยๆที่พ่อแม่ทำโดยไม่รู้ตัว เช่น การที่เด็กได้ ยินพ่อแม่พูดคุยเรื่องปัญหาครอบครัว เศรษฐกิจ การเมืองหรือความเจ็บป่วย โดยเด็กสามารถซึมซับเอาความเครียดจากพ่อแม่ จนทำให้เด็กเครียดตามไปด้วย หรือการที่เด็กไม่ได้ทำกิจกรรมที่ผ่อนคลาย เช่น เล่นกีฬา หรือการทำกิจกรรมนันทนาการสนุกๆกับเพื่อนในวัยเดียวกัน เพราะมัวแต่เรียนพิเศษ ไปจนถึงสาเหตุใหญ่ที่น่าเป็นห่วงเป็นอย่างยิ่ง คือความคาดหวังของพ่อแม่ ที่มีต่อเด็กในทุกเรื่อง โดยเฉพาะเรื่องการเรียน ดังนั้น ขณะนี้พบว่ามีเด็กไทยกว่าล้านคน หรือประมาณ 20% ของเด็กทั่วประเทศที่อยู่ในฤดูสอบ ต้องเผชิญกับภาวะความเครียดขั้นรุนแรง
พ.ญ.อัมพรกล่าวว่า นอกจากนี้ภาวะความเครียดใน เด็กไทยยังมีแนวโน้มสูงขึ้นกว่าปัจจุบัน เพราะเด็กต้องเผชิญความกดดันมากมาย จากสังคมที่มีการแข่งขันสูง และส่วนหนึ่งเกิดจากการที่พ่อแม่พยายามเคี่ยวเข็ญให้ลูกต้องเก่งครบทุกด้าน เลยกดดันให้เด็กต้องเรียนพิเศษตั้งแต่ อนุบาลถึงมหาวิทยาลัย อีกทั้งต้องเรียนพิเศษเพิ่มเติม เพื่อมีความสามารถพิเศษเป็นหน้าเป็นตาให้พ่อแม่ ทำให้เด็กเกิดความเครียดขั้นรุนแรง ซึ่งได้พบปฏิกิริยาจากเด็กหลายกรณีคือ ทำร้ายตัวเอง ต่อต้านพ่อแม่ ก้าวร้าว ไม่มีสมาธิในการเรียน เข้ากับเพื่อนไม่ได้ เห็นเพื่อนเป็นศัตรู ย้ำคิดย้ำทำ และบางรายมีพัฒนาการถดถอย ทั้งนี้ ปัจจุบันพบมากในเด็กชั้นประถม 3 ถึงประถม 6 หรือมัธยมศึกษาปีที่ 1 โดยเฉพาะในฤดูสอบ และหากพ่อแม่ปล่อยปละละเลยเรื่องความเครียด ของลูก อาจนำไปสู่ผลลัพธ์ที่เลวร้ายยิ่งกว่าเดิม โดยอาจเกิดภาวะซึมเศร้า หรือแม้กระทั่งการฆ่าตัวตาย
พ.ญ.อัมพรกล่าวด้วยว่า จากข้อมูลของกรมสุขภาพจิตนั้น พบว่าปัจจุบันเด็กที่เกิดภาวะความเครียด และมีการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม จนต้องไปพบจิตแพทย์เป็นจำนวนมาก จนจิตแพทย์ในโรงพยาบาลของรัฐไม่พอ ต้องรอคิวนานกว่า 3 เดือน จึงนับว่าภาวะความเครียดของเด็กในปัจจุบัน เข้าขั้นวิกฤติ จึงวิงวอนให้พ่อแม่หันมาดูแลเด็กอย่างใกล้ชิดมากขึ้น เพื่อสังเกตความเปลี่ยนแปลง เข้าใจลูกมากขึ้น พ่อแม่ควรเข้าใจว่าการเรียนรู้ไม่ใช่จากการเรียนหนังสือเท่านั้น แต่การเรียนรู้ที่ดีที่สุดสำหรับเด็กคือการได้เล่น ดังนั้น ไม่ควรกดดันหรือสร้างความหวังในตัวลูกจนมากเกินไป