มติชน
หมายเหตุ - ตัดตอนจากบทความ"ทศพิธราชธรรมกับพระมหากษัตริย์ไทย"ในหัวข้อทศพิธราชธรรม: ธรรมเนียมปฏิบัติทางรัฐธรรมนูญ (Convention of the Constitution) ในยุคประชาธิปไตยโลกาภิวัตน์ เขียนโดยศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.บวรศักดิ์ อุวรรณโร คณะนิติศาสตร์ จุฬาฯ ซึ่งสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี เป็นผู้จัดพิมพ์
นักทฤษฎีในวิชากฏหมายรัฐธรรมนูญชั้นบรมครูอย่าง A.V.Dicey, Sir Lvor Jennings หรือชาวฝรั่งเศสอย่าง Pierre Avril ไปจนถึงศาลฎีกาแคนาดาในความเห็นที่ให้เกี่ยวกับการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญแคนาดา เมื่อวันที่ 28 กันยายน ค.ศ. 1981 ต่างก็ยอมรับว่า ในระบบรัฐธรรมนูญประชาธิปไตยสมัยใหม่นั้น ไม่ได้มีแต่รัฐธรรมนูญที่เป็นลายลักษณ์อักษรเท่านั้น แต่ยังมีประเพณีการปกครองประเทศในระบบประชาธิปไตยที่มีชื่อเรียกเป็นภาษาวิชาการว่า "ธรรมเนียมปฏิบัติทางรัฐธรรมนูญ" หรือ Convention of the Constitution อยู่ด้วย
ธรรมเนียมปฏิบัติทางรัฐธรรมนูญเป็นทางปฏิบัติที่กระทำสืบต่อกันมา จนเป็นที่ยอมรับ (consensus) จนมีความรู้สึกว่าต้องปฏิบัติตาม (ภาษาละติน เรียกว่า opinio juris) หรือมีผลผูกพัน (binding) แต่ฟ้องร้องกันไม่ได้ในศาล
ดังนั้น โดยปกติธรรมเนียมปฏิบัติจะไม่มีบัญญัติไว้เป็นลายลักษณ์อักษร แต่ถ้าตกลงยอมรับกันว่าจะปฏิบัติตามนั้นอย่างชัดแจ้ง จะทำไว้เป็นลายลักษณ์อักษรก็ได้ เช่น Statute of Westminster (1931) ซึ่งอังกฤษยอมรับในเอกราชของอาณานิคมที่ใช้ภาษาอังกฤษ (Dominion) ไว้เป็นลายลักษณ์อักษร ลักษณะสำคัญอีกประการหนึ่งของธรรมเนียมปฏิบัติทางรัฐธรรมนูญก็คือ สภาพบังคับ (sanction) ของการฝ่าฝืนธรรมเนียมปฏิบัติทางรัฐธรรมนูญ ก็คือ สภาพบังคับทางการเมืองไม่ใช่สภาพบังคับทางกฎหมายที่ฟ้องร้องกันได้ในศาล
ตัวอย่างที่ยกกัน ก็เช่น พระมหากษัตริย์อังกฤษมีพระราชอำนาจที่จะไม่ทรงเห็นชอบในร่างพระราชบัญญัตที่รัฐสภาพิจารณามาแล้ว (royal prerogative of refusal to give royal assent) อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่ ค.ศ. 1708 ซึ่งพระบรมราชินีนาถแอนน์ (Queen Anne) ทรงปฏิเสธที่จะลงพระปรมาภิไธย ในร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยอาสาสมัครติดอาวุธของสกอตแลนด์ (The Scottish Militia Bill) อันเป็นปีที่ทรงใช้พระราชอำนาจยับยั้งร่างกฎหมายครั้งสุดท้ายในประวัติศาสตร์อังกฤษพระมหากษัตริย์อังกฤษก็ไม่เคยทรงยับยั้งร่างกฎหมายอีกเลย จนเกิดเป็นธรรมเนียมปฏิบัติที่ยอมรับกันในอังกฤษว่า พระมหากษัตริย์จะไม่ทรงยับยั้งร่างกฎหมายที่ผ่านสภามาแล้ว คำถามก็คือ ถ้าทรงฝืนธรรมเนียมปฏิบัติโดยทรงยับยั้งร่างกฎหมายในเวลานี้ ทรงกระทำได้ตามกฎหมายหรือไม่ คำตอบก็คือ ทรงกระทำได้โดยชอบด้วยกฎหมาย (legal) แต่การนั้นเป็นฝ่าฝืนธรรมเนียมปฏิบัติ (unconventional) จึงไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ (unconstitutional) แต่ไปฟ้องที่ศาลไหนศาลก็จะไม่รับฟ้อง คงมีแต่สภาพบังคับทางการเมืองที่อาจทรงถูกวิพากษ์วิจารณ์ทางการเมืองเท่านั้น
นี่เป็นตัวอย่างธรรมเนียมปฏิบัติของรัฐธรรมนูญของอังกฤษไม่ใช่ของไทย เพราะพระมหากษัตริย์ไทยทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจตามรัฐธรรมนูญ (มาตรา 94) ที่จะทรงยับยั้งร่างกฎหมายและทรงใช้พระราชอำนาจตามรัฐธรรมนูญนั้นโดยชอบด้วยรัฐธรรมนูญทุกประการ เมื่อพระราชทานร่างพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา และร่างพระราชบัญญัติเหรียญเฉลิมพระเกียรติฯ ที่มีความผิดพลาดคืนมา และรัฐสภาก็ประชุมร่วมกันมีมติไม่ยืนยันร่างพระราชบัญญัติทั้งสอง เป็นเหตุให้ร่างกฎหมายทั้งสองตกไป ดังจะกล่าวถึงต่อไปข้างหน้า
ดังนั้น จะถือว่าในประเทศไทยมีธรรมเนียมปฏิบัติของรัฐธรรมนูญว่า พระมหากษัตริย์จะทรงไม่ยับยั้งร่างกฎหมายทุกกรณีอย่างในอังกฤษไม่ได้ เพราะทางปฏิบัติ (practices) และการยอมรับ (consensus) ในเรื่องนี้ต่างกัน แต่อาจต้องถือในทางตรงกันข้ามว่า ถ้าทรงยับยั้งร่างกฎหมายที่ผิดพลาด รัฐสภาจะไม่ยืนยัง!
สำหรับหน้าที่ของธรรมเนียมปฏิบัติทางรัฐธรรมนูญนั้น Sir Ivor Jennings เปรียบเทียบไว้ว่า ถ้ารัฐธรรมนูญซึ่งเป็นตัวบทกฎหมายเปรียบเหมือนโครงกระดูก (skeleton) ธรรมเนียมปฏิบัติทางรัฐธรรมนูญก็เปรียบเหมือนเลือดและเนื้อ (chairs and blood) ที่ห่อหุ้มโครงกระดูกให้มีชีวิตชีวา ศาลฎีกาแคนาดาอธิบายเรื่องนี้ต่อไปว่า "จุดประสงค์ใหญ่ของธรรมเนียมปฏิบัติทางรัฐธรรมนูญทั้งหลายก็คือการทำให้กรอบกฎหมายของรัฐธรรมนูญ (ซึ่งอาจล้าสมัยไปแล้ว-ผู้เขียนเติมเอง) เดินไปตามหลักและระบบคุณค่าทางรัฐธรรมนุญของแต่ละยุค" พูดง่ายๆ ก็คือ ธรรมเนียมปฏิบัติทางรัฐธรรมนูญจะทำให้รัฐธรรมนูญมีชีวิตได้โดยไม่ตกยุค และโดยไม่ต้องแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญอย่างเป็นทางการ
สำหรับทศพิธราชธรรมนั้นเป็นที่แน่ชัดว่าจุดกำเนิดอยู่ตรงที่ต้องการเป็นเครื่องเหนี่ยวรั้งพระราชอำนาจอันล้นพ้นของพระมหากษัตริย์ในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ แต่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบันได้ทรงทำให้หลักนี้กลายเป็น "เลือดเนื้อที่ห่อหุ้มโครงกระดูก" ของรัฐธรรมนูญประชาธิปไตยได้อย่างเหมาะเจาะ
ความจริงถ้าพิจารณาบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญไทยในยุคประชาธิปไตยตั้งแต่ปี 2475 มาจนถึงปัจจุบัน ก็จะพบว่า "โครงกระดูก" ดังกล่าวมีลักษณะคล้ายกันคือ รัฐธรรมนูญยืนยันว่า อำนาจอธิปไตยมาจากปวงชนชาวไทย (แม้ว่าบางฉบับจะใช้คำว่า "เป็นของ" ก็ตาม) และรัฐธรรมนูญก็ถวายให้พระมหากษัตริย์ทรงใช้อำนาจนั้นแทนปวงชนผ่านองค์กรตามรัฐธรรมนูญ คือ รัฐสภา คณะรัฐมนตรี และศาล โดยต้องทรงใช้ตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด (ดูมาตรา 3 ของรัฐธรรมนูญปัจจุบัน)
เราจึงเรียกระบอบการปกครองแบบนี้ว่า "พระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ" (Constitutional Maonarchy) เช่นทรงลงพระปรมาภิไธยตราพระราชบัญญัติที่ผ่านการพิจารณาของสภามาแล้ว ทรงสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูต ทรงตราพระราชกฤษฎีกา หรือทรงแต่งตั้งข้าราชการระดับ 10 ขึ้นไปตามคำกราบบังคมทูลฯ แนะนำของคณะรัฐมนตรี เป็นต้น และต้องมีการลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ (countersign) โดยรัฐมนตรีหรือผู้ที่รัฐธรรมนูญกำหนด เช่น ในการแต่งตั้งองค์กรอิสระประธานวุฒิสภาก็ถวายคำแนะนำและลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ
เมื่อเป็นเช่นนี้ ก็ถือว่าพระมหากษัตริย์ไม่ได้มีพระราชดำริทางการเมืองแต่ประการใด ผู้กราบบังคมทูลฯ แนะนำและลงนามรับสนอง พระบรมราชโองการต่างหากที่มีเจตจำนงและความรับผิดทางการเมือง จึงกล่าวว่า "พระมหากษัติรย์จะไม่ทรงกระทำผิดเลย" (The King can do no wrong) ผู้กราบบังคมทูลฯ แนะนำและลงนามรับสนองพระบรมราชโองการต่างหากที่มีความรับผิดทางการเมืองกฎหมาย
ด้วยเหตุนี้ นาย Walter Bagehot นักรัฐศาสตร์อังกฤษผู้เลื่องชื่อ ผู้เขียนหนังสือเรื่อง The English Constitution ถือว่า สถาบันพระมหากษัตริย์เป็นเพียง "ส่วนอันทรงเกียรติยศ" ของรัฐธรรมนูญ (dignified part of the Constitution) ในขณะที่รัฐสภาและคณะรัฐมนตรีเป็น "ส่วนปฏิบัติการ" (efficint parts of the Constitution) แต่ Bagehot ก็ยังตั้งข้อสังเกตว่า แม้กระนั้นก็ตาม "พระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญอย่างของอังกฤษก็มีพระราชสิทธิที่จะทรงได้รับการปรึกษา, ทรงสนับสนุน และทรงตักเตือน" (The right to be consulted, the right to encourage, the right to warn-Bagehot, p.67) และเห็นว่าพระมหากษัตริย์ที่ทรงครองราชย์มานานทรงมีประสบการณ์มาก จะทรงใช้พระราชสิทธิธรรมนี้ได้อย่างเป็นประโยชน์แก่ประเทศชาติอย่างยิ่ง ยากที่สถาบันการเมืองอื่นจะทำได้
ถ้าพิเคราะห์ตามหลักการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามแบบอย่างของประเทศต้นฉบับนี้ ก็หมายความว่า องค์กรตามรัฐธรรมนูญทั้งหลายไม่ว่าจะเป็นรัฐสภา หรือคณะรัฐมนตรีที่เป็น "ส่วนปฏิบัติการ" ย่อมมีอำนาจตัดสินใจ (decision making power) ว่าจะทำหรือไม่ทำอะไร เมื่อใด และอย่างไร แต่พระมหากษัตริย์จะไม่ทรงตัดสินพระทัยในการบริหารราชการแผ่นดินเอง แต่ทรงไว้ซึ่งพระราชสิทธิที่จะทรงแนะนำหรือตักเตือน (advisory power)
หลักการข้อนี้ ถ้าสำรวจพระราชจรรยาตลอดรัชสมัย 60 ปี ก็จะพบว่า ทรงยึดมั่นอย่างดีเยี่ยม ไม่เคยเลยที่จะทรงล่วงล้ำออกจากหลักดังกล่าว ดังตัวอย่างต่างๆ ดังนี้
กรณีแรก คือ กรณีที่พระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้นายกรัฐมนตรีเข้าเฝ้ากราบบังคับทูลข้อราชการทุกครั้งที่ขอเฝ้าและสิ่งที่รับสั่งกับนายกรัฐมนตรีก็จะเป็นความลับหากนายกรัฐมนตรีรับพระราชกระแสแล้วนำมาปฏิบัติก็ต้องถือว่าเป็นความรับผิดชอบของนายกรัฐมนตรีเอง จะไปอ้างอิงพระราชกระแสมิได้
อย่างไรก็ตาม ในเรื่องนี้มีข้อยกเว้นที่เห็นชัดอยู่สองเรื่อง
เรื่องแรก เป็นกรณีที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชปรารภเรื่อง ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินต่อนายกรัฐมนตรี (พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร) และนายกรัฐมนตรีได้ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตเชิญพระราชปรารภดังกล่าวทำเป็นหนังสือถึงประธานกรรมการตรวจเงินแผ่นดินและต่อมาคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินก็ได้ขอให้คุณหญิงจารุวรรณ เมณฑกา กลับเข้าทำหน้าที่ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินตามพระราชปรารภนั้นเรื่องนี้ถ้าพิจารณาให้ดีจะเห็นได้ว่าการนำพระราชปรารภที่รับสั่งกับนายกรัฐมนตรีมากล่าวอ้างในหนังสือได้ ก็เพราะมีพระบรมราชานุญาตแล้ว
หากไม่มีพระบรมราชานุญาตดังกล่าวก็ต้องถือว่าผู้กระทำละเมิดธรรมเนียมปฏิบัติทางรัฐธรรมนูญ อย่างไรก็ตาม แม้มีพระบรมราชานุญาตให้อ้างได้แต่ความรับผิดชอบทางการเมือง และทางกฎหมายทั้งปวงก็ยังคงอยู่ที่องค์กรที่เป็น "ส่วนปฏิบัติการ" กล่าวคือ นายกรัฐมนตรี และคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินอยู่นั่นเอง เพราะ "พระราชปรารภ" ก็เป็นเพียงพระราชปรารภ
แต่เมื่อนายกรัฐมนตรีทำหนังสือเชิญพระราชปรารภไปแจ้งกับคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน ก็ต้องถือว่า นายกรัฐมนตรีได้ลงนามในหนังสือดังกล่าวรับสนองพระราชปรารภแล้วตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 231 ซึ่งบัญญัติว่า "บทกฎหมาย พระราชหัตถเลขา และพระบรมราชโองการอันเกี่ยวกับราชการแผ่นดิน ต้องมีรัฐมนตรีลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ เว้นแต่ที่บัญญัติไว้เป็นอย่างอื่นในรัฐธรรมนูญนี้" และเมื่อคณกรรมการตรวจเงินแผ่นดินขอให้คุณหญิงจารุวรรณฯ กลับเข้าปฏิบัติหน้าที่ ก็ต้องถือว่าเป็นการใช้อำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินที่คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินต้องรับผิดชอบเอง
กรณีที่สองก็คือ กรณีที่มีพระราชดำรัสต่อประธานศาลปกครองสูงสุด และประธานศาลฎีกา ซึ่งนำคณะตุลาการศาลปกครองสูงสุด และผู้พิพากษาเข้าเฝ้าฯ ถวายสัตย์ปฏิญาณตามรัฐธรรมนูญเมื่อวันที่ 25 เมษายน 2549 เองก็เช่นกัน พระราชดำรัสในกรณีนี้พระราชทานอย่างเปิดเผย ในเรื่องที่เกี่ยวกับการถวายสัตย์ปฏิญาณและสถานการณ์วิกฤตของบ้านเมือง ซึ่งปกติจะไม่ทรงกระทำนอกจากในภาวะไม่ปกติจริงๆ
กรณีเช่นนั้น หลักเรื่องความลับ และการห้ามอ้างอิงก็คงจะได้รับยกเว้น แต่หลักเรื่อง The King can do no wrong ยังคงต้องถือว่าคงอยู่ ดังนั้น การดำเนินการใดๆ ตามพระราชดำรัสก็ต้องเป็นไปตามอำนาจหน้าที่ และความรับผิดชอบขององค์กรและบุคคลผู้ดำรงตำแหน่งอันเป็น "ส่วนปฏิบัติการ" ของรัฐธรรมนูญนั้นเอง
เกี่ยวกับพระราชดำรัสองค์นี้นั้น มีนักวิชาการชาวต่างประเทศได้วิเคราะห์ไว้อย่างน่าสนใจว่า การที่ทุกฝ่ายตั้งความหวังให้พระมหากษัตริย์ทรงแทรกแซง (intervene) ไกล่เกลี่ยปัญหาทางการเมือง ดังมีพระราชดำรัสว่า "...จะมาขอให้พระมหากษัตริย์เป็นผู้ตัดสิน..." นั้นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวกลับทรงชี้ให้ผู้พิพากษาและตุลาการเห็นหัวใจของปัญหาว่า สิ่งที่ขาดอยู่ คือากรตรวจสอบจากฝ่ายศาล ซึ่งมีอำนาจหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญในการวินิจฉัยข้อพิพาท และผู้เขียน ก็สรุปไว้อย่างน่าฟังว่า "ผู้วิพากษ์วิจารณ์ทั้งหลายอาจอ้างว่า ในวังมีอำนาจสูงสุดแต่การที่ทรงชี้ไปที่ศาล ให้ศาลทำหน้าที่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงแสดงให้เห็นว่า ทรงสนับสนุนประชาธิหไตยในประเทศไทย และทรงสนับสนุนพหุนิยม (pluralism) (จากบทความนาย Michael Vatikiotis, International Herald Tribune, May 19, 2006,7)
บทวิเคราะห์นี้ แสดงให้เห็นว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงยึดมั่นอยู่ในบทบาทของพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ คือ ทรงแนะนำให้องค์กรตามรัฐธรรมนูญทำหน้าที่ของตนเอง ไม่ใช่ให้พระมหากษัตริย์มาทรงกระทำสิ่งที่ผิดหน้าที่ในรัฐธรรมนูญ
ความจริง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวไม่ได้ "ทรงแนะนำ ทรงสนับสนุน และทรงตักเตือน" เฉพาะองค์กรต่างๆ ตามรัฐธรรมนูญเท่านั้น แต่มีพระมหากรุณา "แนะนำ สนับสนุนและตักเตือน" บุคคลกลุ่มต่างๆ และประชาชนโดยทั่วไปโดยผ่านพระบรมราโชวาท พระราดำรัสในโอกาสต่างๆ ทั้งปี ดังจะเห็นได้จากการที่สำนักราชเลขาธิการได้จัดพิมพ์ประมวลพระบรมราโชวาทและพระราชดำรัสดังกล่าวทุกปี
หากพิเคราะห์ให้ดีจะเห็นได้ว่าพระบรมราโชวาทและพระราชดำรัสต่างๆ นั้น ได้ชี้แนะแนวทางที่ดีที่ควรปฏิบัติหรือละเว้นทั้งในการปฏิบัติหน้าที่ของแต่ละคน และในการประพฤติปฏิบัติในทางส่วนตัว ในฐานะพลเมืองที่ดี โดยเฉพาะทรงเน้นความซื่อสัตย์ สุจริต ความถูกต้อง ความมีศีลธรรม จริยธรรม
ดังนั้น บุคคลทั้งหลายจึงนิยมอ้างอิงพระบรมราโชวาท และพระราชดำรัสมาใช้เป็นแนวทางที่ปฏิบัติตลอดมาซึ่งนอกจากจะแสดงให้เห็นถึงการที่ทรงยึดมั่นในหลัก "อวิโรธนะ" อย่างเคร่งครัด และทรงเผยแพร่ให้ผู้อื่นยึดมั่นด้วยแล้ว ยังแสดงให้เห็นถึงความเป็น "ครู" ผู้ชี้ทางที่ถูกต้องให้ทุกฝ่าย ทั้งฝ่ายองค์กรตามรัฐธรรมนูญและฝ่ายประชาชน ส่วนผู้ที่รับพระบรมราโชวาทหรือพระราชดำรัสจะนำไปปฏิบัติหรือไม่ก็ไม่ก็ไม่มีกฎหมายบังคับ ผู้ปฏิบัติตามก็จะได้ผลกับตนเองเหมือนๆ กับผู้ไม่ปฏิบัติตามก็จะไม่ได้รับผล
พระราชจรรยาดังกล่าว นอกจากจะสอดคล้องกับทศพิธราชธรรมแล้ว ยังสอดคล้องกับหลักการของการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขแบบสมัยใหม่ทุกประการ โดยนัยนี้ พระมหากษัตริย์ไทยในระบอบประชาธิปไตยจึงทรงดำรงสถานะ "ศีลธรรมของสังคม" ด้วย
ด้วยเหตุที่พระบรมราโชวาทและพระราชดำรัสทุกองค์เป็นไปตามหลักแห่งความถูกต้องเที่ยงธรรม (อวิโรธนะ) ในทศพิธราชธรรมโดยสม่ำเสมอนี้เอง ที่ทำให้เมื่อบ้านเมืองเกิดภาวะวิกฤตขึ้นคราใด และองค์กรตามรัฐธรรมนูญซึ่งเป็น "ส่วนปฏิบัติการ" ไม่สามารถแก้ปัญหาได้ประชาชนชาวไทยทุกคนจึงรอคอยพระราชดำรัสชี้นำแนวทางที่ถูกต้องตามหลักอวิโรธนะ เมื่อได้รับพระราชดำรัสชี้นำแนวทางแล้ว ทุกฝ่ายก็พร้อมปฏิบัติตามนั้นโดยสนิทใจ ทำให้บ้านเมืองที่ร้อนรุ่มสงบเย็นลงได้อย่างมหัศจรรย์ ดังเช่นกรณีที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2516 และเหตุการณ์เดือนพฤษภาคม 2535 เรื่อยลงมาจนถึงพระราชดำรัสเมื่อวันที่ 25 เมษายน 2549
ข้อนี้ ทำให้พระราชสถานะทางสังคมของสถาบันพระมหากษัตริย์ไทยมีลักษณะเป็น "องค์กรรมการและผู้ประสาน (รอยร้าว) สูงสุดของชาติ" (Supreme Arbritrator and Conciliator of the Nation) ซึ่งประมุขของรัฐแบบประธานาธิบดียากนักที่จะเป็นได้ เพราะเป็นนักการเมืองและมีฝักฝ่ายในทางการเมือง ในขณะที่ประชาชนชาวไทยและองค์กรทางการเมืองไทยต่างยินดีปฏิบัติตามพระราชดำรัสแนะนำของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวโดยสนิทใจ เพราะว่าทรงไม่เป็นฝักฝ่ายทางการเมือง ทรงยึดประโยชน์ของบ้านเมืองและประชาชนเป็นหลัก และทรงแนะนำแต่สิ่งที่ถูกต้องตามครรลองรัฐธรรมนูญและกฎหมาย