ที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เมื่อวันที่ 11 ส.ค. นายศักดิ์สิทธิ์ ตรีเดช ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
แถลงถึงการเตรียมความพร้อมรับมืออุทกภัยว่า ขณะนี้กรมทรัพยากรน้ำได้ติดตามตรวจสอบสถานการณ์น้ำท่วมอย่างใกล้ชิด เนื่องจากในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะภาคเหนือ ใน จ.น่านและอุตรดิตถ์ ประสบกับปัญหาน้ำท่วมและน้ำป่าไหลหลาก ประกอบกับตั้งแต่เดือน ส.ค. ถึง พ.ย.นี้ จะมีฝนตกชุก เนื่องจากอิทธิพลร่องความกดอากาศต่ำค่อนข้างแรงพาดผ่านประเทศไทย ประกอบกับลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามันของประเทศไทยและอ่าวไทยมีกำลังแรงขึ้น ทำให้ประเทศไทยมีฝนตกชุกหนาแน่นและมีฝนตกหนักบางพื้นที่ ขอเตือนให้ประชาชนระวังน้ำท่วมที่อาจเกิดขึ้น
นายศักดิ์สิทธิ์กล่าวอีกว่า นอกจากพื้นที่น้ำท่วมที่ถูกน้ำท่วมหนักอยู่แล้ว ยังมีอีกหลายจังหวัดที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัย
จากการวิเคราะห์โดยใช้ภาพถ่ายดาวเทียม ภาพถ่ายทางอากาศและข้อมูลภาคสนามพบว่ามีพื้นที่เสี่ยงภัยน้ำท่วมดังนี้ ภาคเหนือ 9 จังหวัด ได้แก่ แม่ฮ่องสอน อุตรดิตถ์ น่าน เชียงราย เชียงใหม่ พะเยา ลำปาง แพร่ และลำพูน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 6 จังหวัด ได้แก่ อุบลราชธานี เลย หนองคาย อุบลราชธานี ศรีสะเกษ และอุดรธานี ภาคใต้ตอนบน 3 จังหวัด ได้แก่ ประจวบคีรีขันธ์ เพชรบุรี และราชบุรี ภาคตะวันออก 5 จังหวัด ได้แก่ จันทบุรี ตราด ระยอง สระแก้ว และชลบุรี ภาคตะวันตก ได้แก่ กาญจนบุรี กินพื้นที่ 27.2 ล้านไร่ นอกจากนี้ยังมีภาคกลางได้แก่ นครสวรรค์ ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยารวมอยู่ด้วย
ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวต่อว่า ส่วนสถานการณ์ดินถล่มในปีนี้ค่อนข้างที่จะปกติ ไม่น่าหนักใจเท่ากับปีที่ผ่านมา
แต่เพื่อความไม่ประมาท กระทรวงทรัพยากรฯ จะประสานกับกระทรวงมหาดไทยเพื่อรายงานข้อมูลสถานการณ์น้ำ ผ่านกรมป้องกันบรรเทาสาธารณภัย หามาตรการเฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลันและจะแจ้งให้จังหวัดเสี่ยงทราบ นอกจากนี้ ได้สั่งการให้ กรมทรัพยากรน้ำกับกรมทรัพยากรธรณี และกรมทรัพยากรน้ำบาดาล ช่วยกันดูแลและหามาตรการป้องกันและเตือนภัยเกี่ยวกับน้ำท่วมดินถล่ม ให้เฝ้าติดตามสถานการณ์น้ำและนำมาวิเคราะห์ ติดตามข้อมูลน้ำฝน น้ำท่า พายุหมุน ลมมรสุมและปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำ
ด้านนายธเนศ ดาวาสุวรรณ รองอธิบดีกรมทรัพยากรน้ำ กล่าวว่า สำหรับพายุโซนร้อนคัมมุริ ขณะนี้ได้อ่อนกำลังลงแล้ว
แต่ยังส่งให้ฝนตกหนักในหลายพื้นที่ ทั้ง จ.เชียงใหม่ และแถว จ.ชุมพร รวมทั้ง กทม. ด้วย อย่างไรก็ตามถ้าเทียบปริมาณฝนตกสะสมตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.-7 ส.ค. มีฝนสะสมรวมทั้งสิ้น 837.77 มม. และมีค่าน้อยกว่าปีที่ผ่านมา 25.45 มม. โดยภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีฝนสะสมมากกว่าภาคอื่นๆ สูงถึง 676.88 มม. เทียบกับปี 50 ถึง 87.26 มม. รองลงมาภาคกลาง ฝนสะสม 767.77 มม. มากกว่าปี 50 ถึง 14.78 มม. ขณะที่ระดับแม่น้ำหลายสายที่มีน้ำมากได้แก่ แม่น้ำโขง และลำปลายมาศ แม่น้ำแม่กลอง จ.กาญจนบุรี สอดคล้องกับปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ที่มีมาก คือเขื่อนศรีนครินทร์ 81% เขื่อนประแสร์ จ.ระยอง 83%