ไทยรัฐ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อค่ำวานนี้ (8 มิ.ย.) นายสุรนันทน์ เวชชาชีวะ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นประธานในงานเลี้ยงอาหารค่ำสื่อมวลชนต่างประเทศที่มาทำข่าวพระราชพิธีฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี ที่โรงแรมโฟร์ ซีซั่น โดยนายสุรนันทน์ กล่าวว่าขณะนี้สื่อมวลชนต่างประเทศเริ่มเดินทางเข้ามาและลงทะเบียนแล้ว 400 คน และยังจะมีสื่อมวลชนที่ตามเสด็จพระราชอาคันตุกะมาอีกจำนวนหนึ่ง
"งานเลี้ยงต้อนรับวันนี้ถือเป็นโอกาสดีที่จะได้ทำความเข้าใจและอธิบายให้เห็นถึงความสำคัญของพระราชพิธีและสิ่งที่ปฏิบัติได้หรือไม่ได้ อาทิ การถ่ายภาพ บางสถานที่ไม่อนุญาตให้สื่อมวลชนเข้าไปถ่ายภาพ ส่วนศูนย์สื่อมวลชนต่างประเทศได้จัดเตรียมไว้ที่ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (กทม.) ขณะนี้พร้อมรองรับการทำงานของสื่อมวลชนแล้ว มีการติดตั้งอุปกรณ์ที่ทันสมัยและรวดเร็วสำหรับการติดต่อสื่อสารไว้" รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าวและว่า รัฐบาลเตรียมจัดหาข้อมูล ทั้งภาพนิ่งและภาพเคลื่อนไหวในจุดที่ไม่อนุญาตให้สื่อมวลชนเข้าไปถ่ายภาพเพื่อส่งมาที่ศูนย์ให้สื่อมวลชนนำไปใช้ได้อย่างรวดเร็ว สื่อมวลชนต่างรู้สึกพึงพอใจ
ก่อนหน้านี้ นายสุรเกียรติ์ เสถียรไทย รองนายกรัฐมนตรี กล่าวภายหลังสื่อมวลชนจาก 25 ประเทศ ที่เดินทางมาทำข่าวพระราชพิธีฉลองสิริราชสมบัติ ครบ 60 ปี เข้าพบที่ทำเนียบรัฐบาล ว่า ขณะนี้มีสื่อมวลชนจากต่างประเทศ ที่ลงทะเบียนเข้าร่วมทำข่าวพระราชพิธีครั้งนี้ประมาณ 2,000 คน สื่อมวลชนที่เดินทางมาพบในวันนี้ ส่วนใหญ่เป็นผู้สื่อข่าวที่เขียนบทความในนิตยสารที่สำคัญๆ ในประเทศต่างๆ อาทิ ฝรั่งเศส สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และบางประเทศเป็นประเทศที่ไม่มีสถาบันพระมหากษัตริย์ยังเดินทางมาร่วมทำข่าวด้วย
"ผมได้เล่าให้สื่อมวลชนจากต่างประเทศฟังถึงความเป็นมาในการจัดงานดังกล่าว และเป็นความร่วมมือจากทุกภาคส่วนของประเทศ เพื่อแสดงถึงความกตัญญูกตเวทีและสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว วันนี้เวลาไปไหน จะเห็นคนใส่เสื้อเหลืองกันทั้งหมด ทั้งๆ ที่ไม่มีใครบังคับให้ใส่ แต่ทุกคนอยากใส่ เพื่อตอบแทนพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว" รองนายกรัฐมนตรี กล่าว
รองนายกรัฐมนตรีกล่าวต่อว่า รัฐบาลได้จัดให้สื่อมวลชนเหล่านี้ เข้าไปทำข่าวในพระที่นั่งอนันตสมาคม และพระราชพิธี ในวันที่ 12 -13 มิ.ย. และยังได้จัดให้สื่อมวลชนต่างประเทศไปเยี่ยมชมโครงการตามแนวพระราชดำริต่างๆ เช่น โครงการปลูกพืชทดแทนยาเสพติด ที่ จ.เชียงใหม่ บรรดาสื่อมวลชนจากต่างประเทศให้ความสนใจงานพระราชพิธีดังกล่าวมาก เนื่องจากสถาบันพระมหากษัตริย์เป็นสัญลักษณ์ของความมั่นคงของชาติ ซึ่งเป็นสิ่งที่ถูกต้อง ไม่ว่ารัฐบาลหรือสถานการณ์ทางการเมืองจะเปลี่ยนแปลงอย่างไร ความมั่นคงของชาติจะต้องมีอยู่เสมอ
"ความอบอุ่นในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่เป็นพระประมุข ทำให้สื่อมวลชนต่างประเทศให้ความสนใจ เนื่องจากไม่เคยเห็นอย่างนี้มาก่อน โดยเฉพาะความรักของประชาชนที่มีต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว" รองนายกรัฐมนตรี กล่าว