แนวหน้า
เมื่อวันที่ 7มิถุนายน กลุ่มเครือข่ายภาคีคนฮักเจียงใหม่ องค์กรพันธมิตร และผู้ได้รับผลกระทบจากการก่อสร้างตามโครงการเชียงใหม่ไนท์ซาฟารี เข้ายื่นฟ้องคดีต่อศาลปกครอง จ.เชียงใหม่กรณีโครงการสวนสัตว์เชียงใหม่ไนท์ซาฟารีไม่ชอบด้วยกฎหมาย
โดย นายชัยพันธุ์ ประภาสะวัต ผอ.สถาบันสิทธิขุมชน พร้อมพวก 26 คน ร่วมยื่นฟ้อง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี,คณะกรรมการบริหารการพัฒนาพื้นที่เพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน,ผอ.องค์การพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน(อพท.)และนายปลอดประสพ สุรัสวดี เป็นจำเลยที่1-4 ตามลำดับ
นายชัยพันธุ์ กล่าวว่า ภาคประชาชนพยายามท้วงติงการดำเนินโครงการไนท์ซาฟารีมาตั้งแต่ต้นแล้วว่าเป็นสิ่งที่ไม่ควร เพราะเป็นการใช้พื้นที่ป่าอุทยานแห่งชาติที่เป็นสมบัติส่วนรวม และใช้งบประมาณจากภาษีประชาชนกว่า 1,700 ล้านบาท รวมทั้งได้มีความพยายามเคลื่อนไหวในหลายช่องทาง ตามกรอบรัฐธรรมนูญเท่าที่จะสามารถทำได้ แต่ไม่เป็นผล จนต้องมายื่นฟ้องต่อศาลปกครอง ในวันนี้ เพื่อต้องการห้กรณีนี้เป็นกรณีตัวอย่างและเป็นบรรทัดฐานของสังคมต่อไป เพราะปัจจุบันพบว่ามีโครงการที่พยายามดำเนินการในลักษณะเดียวกันนี้อีกเป็นจำนวนมาก ดังนั้น หากไม่สามารถหยุดยั้งเชียงใหม่ไนท์ซาฟารีได้ ในที่สุดจะเป็นการยากที่จะยับยั้งโครงการอื่นๆ ในลักษณะเดียวกันนี้ได้
ด้าน นายขวัญชัย โชติพันธุ์ ทนายความสิ่งแวดล้อม ที่ช่วยรับผิดชอบในการยื่นฟ้องคดี เปิดเผยว่า การยื่นฟ้องคดีนี้เพราะมีสิ่งขัดกฎหมายหลายประการ คือ
1.พระราชกฤษฎีกาจัดตั้งองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน(อพท.) 2546 ที่จัดตั้งโครงการเชียงใหม่ไนท์ซาฟารี ไม่อยู่ภายใต้ข้อกำหนดของ พรบ.องค์การมหาชน พ.ศ.2542 จึงเป็นโมฆะ
2.นายวิชิต พัฒนโกสัย รองอธิบดี ปฏิบัติราชการแทนอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ไม่มีอำนาจให้ใครหรือบุคคลใดเข้าไปใช้ประโยชน์ในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ
3.การก่อสร้างของโครงการเชียงใหม่ไนท์ซาฟารี ในเขตอุทยานแห่งชาติเป็นความผิดตาม พรบ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ.2504 มาตรา 16 และขัดต่อมาตรา 42 ตามพรบ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ.2535
4.การนำสัตว์เข้ามาอยู่ในโครงการเชียงใหม่ไนท์ซาฟารี เป็นการกระทำผิดต่อปฏิญญาสัตว์ป่าสากล CITESและพรบ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า รวมทั้งเป็นการกระทำทารุณต่อสัตว์
5.โครงการเชียงใหม่ไนท์ซาฟารีไม่มีการจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมหรือ EIA และประชาพิจารณ์
6.การเข้าดำรงตำแหน่งของประธานกรรมการบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษ เพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนของ ดร.ปลอดประสพ ไม่ชอบด้วยกฎหมายพรบ.องค์การมหาชน พ.ศ.2542 และพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน(องค์การมหาชน) พ.ศ.2546 เนื่องจากเป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองอยู่ในขณะนั้น
และ 7 ก่อนฟ้องคดีนี้ องค์กรเอกชนและกลุ่มบุคคล ได้คัดค้านโครงการมาตลอดแต่รัฐกลับเพิกเฉย
นอกจากนี้ ท้ายคำฟ้องโจทก์ขอให้ศาลปกครองเพิกถอนพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งองค์การบริหารพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน(องค์การมหาชน) พ.ศ.2546 ที่ประกาศใช้กับพื้นที่วนอุทยานแห่งชาติสุเทพ-ปุย เพื่อสร้างสวนสัตว์กลางคืนเชียงใหม่ไนท์ซาฟารี และให้คณะกรรมการบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษ เพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนคืนพื้นที่ก่อสร้างสวนสัตว์กลางคืนเชียงใหม่ไนท์ซาฟารีกลับไปอยู่ในความครอบครองของวนอุทยานแห่งชาติสุเทพ-ปุย รวมทั้งให้ศาลปกครอง มีคำสั่งเพิกถอนตำแหน่ง ประธานกรรมการบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนของนายปลอดประสพ โดยให้มีผลย้อนหลังไปถึงวันรับตำแหน่ง และให้คืนเงินเดือนและค่าใช้จ่ายประจำตำแหน่งที่ได้รับไป ขณะเดียวกันได้ยื่นฟ้องขอคุ้มครองชั่วคราว ไม่ให้มีการดำเนินโครงการส่วนต่อเนื่องเพิ่มเติมจากโครงการเชียงใหม่ไนท์ซาฟารีด้วย โดยเฉพาะโครงการก่อสร้างอุทยานช้างที่จะต้องใช้พื้นที่ป่าอีกประมาณ5,000ไร่