วันนี้ (4 ส.ค.) ที่โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ ศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ (ศจย.) จัดประชุม “บุหรี่กับสุขภาพแห่งชาติ” ครั้งที่ 7
เรื่อง “เยาวชนรุ่นใหม่ ร่วมใจ ต้านภัยบุหรี่” โดย ผศ.ดร.ลักขณา เติมศิริกุลชัย ผู้อำนวยการศจย. กล่าวว่า สถานการณ์การสูบบุหรี่ของคนไทยในช่วง 10 ปี ที่ผ่านมา มีแนมโน้มลดลงในทุกกลุ่มอายุ ยกเว้นกลุ่มเยาวชน ปี 2550 มีเยาวชนถึง 1.6 ล้านคน ที่สูบบุหรี่ เพิ่มขึ้นจากปี 2549 ประมาณ 1 แสนคน โดยกลุ่มอายุ 15-18 ปี เพิ่มขึ้น 2.6 หมื่นคน กลุ่มอายุ 19 -24 ปี เพิ่มขึ้น 1 หมื่นคน ส่วนหนึ่งเกิดจากกลยุทธ์ของบริษัทบุหรี่ ที่พยายามผลิตบุหรี่แบบแปลกๆ ใหม่ๆ เช่น บุหรี่ชูรส ปรุงกลิ่น เพื่อหลอกล่อเยาวชน
“เยาวชนใช้เงินซื้อบุหรี่เฉลี่ยวันละ 10 บาทต่อคน คิดเป็นวันละ 20 ล้านบาท โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติสำรวจปี 2550 พบว่าเยาวชนอายุต่ำกว่า 18 ปี 93.6% ไม่เคยถูกผู้ขายตรวจบัตรประชาชน และ 58.8% ไม่เคยถูกปฏิเสธที่จะขายบุหรี่ด้วยวาจา ทั้งนี้ 68.25% ซื้อบุหรี่แบบแบ่งขาย แสดงให้เห็นว่าการเข้าถึงบุหรี่ของเยาวชน ด้วยการละเมิดกฎหมายยังมีอยู่ซึ่งรัฐจำเป็นต้องควบคุมและบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง”ผศ.ดร.ลักขณา กล่าว
ผศ.ดร.ลักขณา กล่าวอีกว่า จากกวิจัย “ความคิดเห็นของวัยรุ่นต่อภาพคำเตือนบนซองบุหรี่ และพฤติกรรมการสูบบุหรี่” วันที่ 9-29 ก.พ. 2551
ในกลุ่มตัวอย่างอายุ 13-18 ปี เขตกทม.ปริมณฑล และเขตเทศบาลของ เชียงใหม่ ขอนแก่น สงขลา พบ 30.6% สูบบุหรี่เป็นประจำตอนอายุ 15 ปี และ 15.8% สูบเป็นประจำตอนอายุ 14 ปี โดย 75.7% มีเพื่อนสนิทเป็นคนที่สูบบุหรี่ด้วย กว่า 20% สูบเฉลี่ยวันละ 10 มวนขึ้นไป สถานที่สูบเป็นประจำคือ บ้านพักตนเอง บ้านเพื่อน และ โรงเรียน
ผศ.ดร.ลักขณา กล่าวด้วยว่า เมื่อสำรวจถึงความรู้สึกตำหนิพฤติกรรมการสูบบุหรี่ พบว่า 90% ระบุว่า ครู เป็นคนที่น่าตำหนิที่สุดหากสูบบุหรี่ในสถานศึกษา
รองลงมาคือ เพื่อนสนิทเพศหญิง จะถูกตำหนิมากกว่าเพื่อนผู้ชาย และแฟน การแสดงออกต่อผู้สูบบุหรี่ หากเป็นคนใกล้ชิดกลุ่มตัวอย่างจะแสดงอาการไม่พอใจ ต่อว่า เตือน หากเป็นกลุ่มบุคคลที่ไกลตัวและไม่รู้จักจะแสดงออกโดยหลีกเลี่ยง เดินออกจากบริเวณนั้น ส่วนเยาวชนที่สูบบุหรี่ 38.4% บอกว่ารู้สึกได้รับแรงกดดันจากครอบครัวและคนรอบข้างให้เลิกสูบ ขณะที่ 50% ระบุว่าได้รับแรงกดดันมาก ถึงค่อนข้างกดดัน จากกฎหมายเขตปลอดบุหรี่ในพื้นที่สาธารณะ