ไทยรัฐ
ฃน.ส.สายรุ้ง ทองปลอน ผู้จัดการสหพันธ์องค์กรผู้บริโภค (สอบ.) กล่าววานนี้ (7 มิ.ย.) ถึงกรณีประธานคณะอนุกรรมการพิจารณาค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ (เอฟที) ระบุว่าการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เตรียมขึ้นค่าไฟฟ้างวดใหม่เดือน มิ.ย.-ก.ย. 2549 อีก 9.60 สตางค์ต่อหน่วย ทำให้ค่าไฟฟ้าอยู่ที่หน่วยละ 3.10 บาท ว่า สอบ.ขอคัดค้านการขึ้นค่าไฟฟ้าในครั้งนี้ เนื่องจากการที่ กฟผ.อ้างถึงผลกระทบจากค่าเชื้อเพลิงที่สูงขึ้น ไม่ได้เป็นเหตุผลที่เพียงพอในการขึ้นค่าไฟฟ้า เพราะขณะนี้ กฟผ. ยังใช้การกำหนดค่าไฟฟ้าตามหลักเกณฑ์อัตราผลตอบแทนการลงทุนเป็นหลักเกณฑ์ในทางการเงิน (ROIC) ตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 30 ส.ค.2548 เพื่อเตรียมการแปรรูป กฟผ.ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เป็นหลักเกณฑ์ที่ถูกเปลี่ยนให้ประกันผลกำไรให้นักลงทุนเพื่อจูงใจการขายหุ้นใน ตลท. ถือเป็นหลักเกณฑ์ที่เอาเปรียบผู้บริโภค
ผู้จัดการ สอบ. กล่าวต่อว่า การที่คณะอนุกรรมการพิจารณาค่าไฟฟ้า เอฟที ระบุว่าการพิจารณาปรับเปลี่ยนโครงสร้างค่าไฟฟ้าแบบ ROIC จะดำเนินการในครั้งหน้า อาจจะทำให้ค่าไฟฟ้าฐานลดลง แต่ในครั้งนี้ทั้งๆ ที่ยังไม่ยกเลิกปรับเปลี่ยน ROIC แต่คณะอนุกรรมการเอฟทีและ กฟผ. กลับจะประกาศขึ้นค่าไฟฟ้าไปก่อนในวันที่ 8 มิ.ย. ถือเป็นการกระทำที่ไม่ถูกต้องเหมาะสม เป็นการซ้ำเติมผู้บริโภคอย่างไม่สมควรและไม่โปร่งใส
น.ส.สายรุ้ง กล่าวด้วยว่า สอบ.ขอเรียกร้องหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งคณะกรรมการกำกับดูแลกิจการไฟฟ้า (เรคกูเลเตอร์) คณะอนุกรรมการพิจารณาค่าไฟฟ้า เอฟที กฟผ. และกระทรวงพลังงาน ให้ระงับการประกาศขึ้นค่าไฟฟ้าในวันนี้ (8 มิ.ย.) ไว้ก่อนจนกว่าจะยกเลิกโครงสร้างค่าไฟฟ้าแบบ ROIC และพิจารณาใช้สูตรโครงสร้างค่าไฟฟ้าใหม่ที่โปร่งใส เหมาะสม และเป็นธรรมต่อผู้บริโภค ขอให้รื้อโครงสร้างราคาเชื้อเพลิงที่ไม่เป็นธรรม มีผลประโยชน์ทับซ้อน มีค่าหัวคิว เป็นต้นทุนสำคัญในการผลิตไฟฟ้า ยกเลิกมติ ครม.ที่เอื้อประโยชน์ให้ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) โดยเฉพาะกรณีที่ กฟผ. ต้องรับซื้อก๊าซ น้ำมันดีเซล น้ำมันเตาจาก บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เท่านั้น ทำให้ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ใช้กลไกการผูกขาดของ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) มาผลักภาระที่ไม่เป็นธรรมผ่านค่าไฟฟ้าสู่ผู้บริโภค และขอให้เร่งดำเนินการปฏิรูปกิจการไฟฟ้าในทุกด้าน เช่น การประกาศใช้ พ.ร.บ.ประกอบการกิจการไฟฟ้าและก๊าซธรรมชาติ และการมีองค์กรอิสระกำกับดูแลกิจการไฟฟ้าและก๊าซธรรมชาติตาม พ.ร.บ.ดังกล่าว เพื่อเป็นวาระแห่งชาติส่วนหนึ่งในการปฏิรูปการเมืองด้วย
"สอบ. จะยื่นหนังสือข้อเรียกร้องให้เรคกูเลเตอร์และคณะอนุกรรมการพิจารณาค่าไฟฟ้า เอฟทีที่จะประชุมร่วมกันในวันนี้ เพื่อขอให้ระงับการประกาศขึ้นค่าไฟฟ้าเอฟทีไว้ก่อน และพิจารณายกเลิกโครงสร้างค่าไฟฟ้า ROIC และต้นสัปดาห์หน้าจะยื่นหนังสือข้อเรียกร้องให้กระทรวงพลังงานและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามข้อเรียกร้องทั้ง 4 ประการข้างต้น" ผู้จัดการ สอบ. กล่าวฃ