กรมอุทยานฯ ระบุควาย มุดหัวกินหญ้าใต้น้ำไม่แปลกเป็นพฤติกรรมหากินพื่อความอยู่รอด ใน 1 ปี น้ำจำท่วมญ้าประมาณ 5 เดือน
กรณีนายนริศ ขำนุรักษ์ อดีตหัวหน้าเขตห้ามล่าสัตว์ป่าทะเลน้อย อ.ควนขนุน จ.พัทลุง ในฐานะสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) พัทลุง พรรคประชาธิปัตย์ เสนอให้ จ.พัทลุง และกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รับซื้อฝูงควายน้ำ จำนวน 4,000 ตัว จากชาวบ้าน เพื่อเป็นสมบัติของชาติ โดยให้อยู่อาศัยในเขตห้ามล่า และให้บรรจุเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง นั้น
เมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม นายสามารถ สุมโนจิตราภรณ์ ผู้อำนวยการสำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช กล่าวว่า เรื่องนี้นายเพิ่มศักดิ์ คงแก้ว หัวหน้าเขตห้ามล่า รายงานให้ทราบเป็นระยะแล้ว
และตามกฎหมายชาวบ้านจะเอาสัตว์เลี้ยงเข้าไปเลี้ยงในเขตห้ามล่าสัตว์ป่าไม่ได้ แต่สำหรับเขตห้ามล่าทะเลน้อยนั้น เป็นพื้นที่ผ่อนผันที่สามารถเลี้ยงสัตว์ได้ แต่ต้องมีการควบคุมบริเวณให้ชัดเจน ส่วนเรื่องที่ ส.ส.พัทลุง เสนอให้ซื้อควายทั้งฝูงเป็นสมบัติถาวรของเขตห้ามล่าฯ นั้น ขณะนี้กรมอุทยานฯ ไม่มีงบประมาณ
นายเพิ่มศักดิ์ กล่าวว่า เขตห้ามล่าสัตว์ป่าทะเลน้อย มีพื้นที่ 285,625 ไร่
อยู่ในบางส่วนของ อ.ควนขนุน จ.พัทลุง บางส่วนของ อ.ระโนด จ.สงขลา บางส่วนของ อ.หัวไทร และ อ.ชะอวด จ.นครศรีธรรมราช เป็นพื้นที่ทะเลน้อยประมาณ 17,500 ไร่
' วัว ควายทั่วไป ว่ายน้ำได้ตามธรรมชาติอยู่แล้ว แต่เมื่อจะกินอาหารต้องหากินบนบก สำหรับการมุดหัวลงไปในน้ำเพื่อกินหญ้านั้น เป็นพฤติกรรมคล้ายพฤติกรรมเฉพาะของควายในพื้นที่นี้ เพราะการอาศัยอยู่ในที่ราบลุ่มในเวลา 1 ปี จะมีประมาณ 5 เดือน ที่อาหาร คือหญ้าจะถูกน้ำท่วม จึงต้องมุดหัวดำน้ำลงไปกิน จะเรียกว่าเปลี่ยนพฤติกรรมคงไม่ใช่ แต่เป็นการปรับตัวเพื่อความอยู่รอดมากกว่า ผมอยู่ที่นี่มา 5 ปีแล้ว เห็นควายฝูงนี้ดำน้ำกินหญ้ามาตลอด ' นายเพิ่มศักดิ์ กล่าว
ผู้สื่อข่าวถามว่า เหตุใดชาวบ้านในพื้นที่จึงนำควายฝูงนี้มาเลี้ยงในพื้นที่เขตห้ามล่า นายเพิ่มศักดิ์ กล่าวว่า เป็นข้อยกเว้น
เพราะเขตห้ามล่าเพิ่งประกาศเมื่อปี 2517 แต่ชาวบ้านเอาฝูงควายมาเลี้ยงในพื้นที่นี้เป็นเวลา 200-300 ปีแล้ว การเอาสัตว์มาเลี้ยงในเขตห้ามล่าอาจจะขัดกับหลักการอนุรักษ์ แต่ต้องยอมรับว่าวิถีชาวบ้านทำแบบนี้มานานมากแล้ว ที่เขตทำคือ พยายามทำโซนนิ่งให้อยู่เฉพาะที่