น.ส.นวรัตน์ เติมธนาสมบัติ หรือ "น้องแหวน" ในฐานะหัวหน้าทีม เปิดเผยถึงชัยชนะในครั้งนี้ว่า
ตอนแรกค่อนข้างกดดันมาก เนื่องจากประเทศไทยเป็นแชมป์ถึง 2 สมัยซ้อน และเป็นปีแรกของทีมพลาสมา อาร์เอ็กซ์ ที่เข้าร่วมการแข่งขัน จะต้องเข้ามารักษาแชมป์ เมื่อชนะก็รู้สึกภูมิใจที่ทำสำเร็จตามที่ต้องการ เพราะชัยชนะครั้งนี้ เกิดจากความร่วมมือของทีมที่ได้ร่วมกันพัฒนาหุ่นยนต์ให้มีศักยภาพสูงสุด ทั้งด้านการสร้างโปรแกรมแผนที่จำลอง และการสร้างหุ่นอัตโนมัติ ในอนาคตอยากให้มีการนำหุ่นยนต์กู้ภัยไปใช้ได้จริง และหวังว่าการแข่งขันครั้งนี้จะกระตุ้นให้เด็กไทยได้พัฒนาความสามารถในด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีต่างๆ ไม่เฉพาะด้านหุ่นยนต์กู้ภัยเท่านั้น แต่รวมถึงทุกๆ วงการ ให้ผู้ใหญ่ในหน่วยงานต่างๆ หันมาให้การสนับสนุนเยาวชนไทยที่มีความสามารถไม่แพ้เยาวชนจากชาติอื่นๆ
ผศ.ดร.มานพ วงศ์สายสุวรรณ อาจารย์ภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในฐานะที่ปรึกษาทีม กล่าวว่า
ผลการแข่งขันที่ออกมาทำให้นานาประเทศได้รับรู้แล้วว่า เยาวชนไทยทั้งเก่งและมีความสามารถไม่น้อยไปกว่าชาติใดในโลก อย่างไรก็ตาม ความสำเร็จครั้งนี้เยาวชนไทยยังได้เรียนรู้ถึงความรับผิดชอบการทำงานเป็นทีม และไทยเชื่อมั่นในศักยภาพของตัวเอง ถือเป็นความสำเร็จอย่างยิ่งของประเทศไทย
ผศ.ดร.จักรกฤษณ์ ศุทธากรณ์ นายกสมาคมวิชาการหุ่นยนต์ไทย ในฐานะผู้สนับสนุนร่วมกับครือซิเมนต์ไทย (SCG) กล่าวว่า
การแข่งขันรอบชิงชนะเลิศแสดงถึงศักยภาพของไทยว่า เราคือแชมป์ตัวจริง เพราะแชมป์สองสมัยที่ผ่านมาแสดงให้เห็นถึงว่าไทยมีความสามารถแล้ว และเป็นสมัยที่ 3 ติดต่อกัน ยิ่งเป็นการประกาศศักดาให้นานาชาติให้ยอมรับและเริ่มจับตามองความสามารถของเด็กไทยมากขึ้น
"ปีที่ผ่านๆ มา เวลาเราไปพูดคุยกับทีมเก่งๆ มักจะไม่ได้รับการตอบสนอง แต่วันนี้ทีมในหลายๆ ประเทศชื่นชมและมาขอเรียนรู้จากเรามากขึ้น เข้ามาถามเทคนิคการบังคับหุ่นระยะไกล ที่มีความแม่นยำ การออกแบบแผนที่ และการออกแบบหุ่นยนต์" ผศ.ดร.จักรกฤษณ์กล่าว
ด้านนางมัทนา เหลืองนาคทองดี ผู้อำนวยการสำนักงานสื่อสารองค์กร เครือซิเมนต์ไทย (SCG) กล่าวว่า
ในฐานะผู้สนับสนุนมีความดีใจและชื่นชมในความสามารถของเด็กไทยอย่างยิ่ง ความสำเร็จในครั้งนี้ทำให้ต่างชาติทึ่ง และยอมรับในความสามารถของเยาวชนไทยมากขึ้น การที่เยาวชนไทยคว้าแชมป์โลกได้ถึง 3 สมัย ทำให้ SCG มองเห็นแล้วว่าโครงการนี้ดำเนินมาถูกแนวทาง และ SCG ตั้งใจที่จะจัดเวทีแข่งขัน Thailand Rescue Robot ในระดับนานาชาติ โดยจะเชิญประเทศต่างๆ ที่เข้าร่วมการแข่งขัน RoboCup Rescue 2008 มาร่วมแข่งขันในประเทศไทย คาดว่าการแข่งขันดังกล่าวจะจัดขึ้นในเดือนธันวาคมนี้ โดยเน้นแนวคิด Show & Share เพื่อเปิดโอกาสให้เยาวชนไทย ได้เรียนรู้และแลกเปลี่ยนประสบการณ์จากนานาประเทศ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า
นอกจากนี้เยาวชนไทยจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในนามทีมพลาสมา ซี (PLASMA-Z) ยังสามารถคว้าแชมป์การแข่งขันประเภทหุ่นยนต์เตะบอล เป็นครั้งแรก หลังจากที่ได้รองแชมป์ปีที่แล้ว โดยทำประตูชนะแชมป์เก่า 2 สมัยอย่างทีมซีเอ็มดราก้อน จากสหรัฐ ด้วยประตู 4 ต่อ 2 ขณะที่ทีมสกูบา จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ก็คว้าชัยชนะอันดับ 3 ทำประตูชนะทีมซีเจียง ยู จากสาธารณรัฐประชาชนจีน 3 ต่อ 1 ซึ่งทั้งสองทีมถือเป็นครั้งแรกที่ได้แชมป์ที่หนึ่งและที่สาม
ขณะที่การแข่งขันชีววิทยาโอลิมปิคระหว่างประเทศ ระหว่างวันที่ 13-20 กรกฎาคม ที่เมืองมุมไบ ประเทศอินเดีย เยาวชนไทยก็สามารถพิชิต 3 เหรียญทอง 1 เหรียญเงิน และได้คะแนนเป็นอันดับที่ 9 ของโลก