เต่าตนุหมิ่นเหม่สูญพันธุ์ เพราะ....ความเชื่อผิดๆ ของมนุษย์

เป็นข่าวฮือฮาขึ้นหน้า 1 “ไทยรัฐ” กับเรื่องราวปาฏิหาริย์ของ “เต่ายักษ์” ที่ช่วยดัน เรือหางยาวของนายสมหวัง อาดัม ชาวประมงพื้นบ้าน

ซึ่งพำนักอยู่บ้านเลขที่ 15/5 หมู่ 4 ต.บางจาก อ.เมืองนครศรีธรรมราช
ให้รอดพ้นจากการถูก “กลืนหาย” ไปในท้องทะเลขณะออกเรือวางอวน
สมหวัง บอกว่า หลังเสร็จสิ้นภารกิจเตรียมตัวกลับ แต่เครื่องยนต์เกิดดับ! “ซ้ำร้าย” ยังถูกคลื่นลมแรงพัดออกทะเลเลย “อธิษฐานขอสิ่งศักดิ์สิทธิ์” ไม่นาน เรือเริ่มเคลื่อนตัวทวนทิศทางลมเข้าหาฝั่ง ระยะทางเกือบ 20 กม. เมื่อเท้าแตะพื้นดิน หันไปมองเห็น “เต่าขนาดใหญ่” ว่ายออกจากท้องเรือ เดินต้วมเตี้ยมขึ้นบนตลิ่ง เมื่อหาย “ตกตะลึง” จึงนำเรื่องดังกล่าวไปบอกให้หลายๆคนฟัง
 

...นายอุทร สิทธิศักดิ์ ประมงอำเภอปากพนัง บอกกับ “หลายชีวิต” ว่า เต่าตนุตัวนี้เป็นเพศเมีย มีขนาดใหญ่สุดเท่าที่เคยพบมาในภูมิภาค

วัดความยาวจากหัวถึงหาง 1.28 เมตร ความกว้างของกระดอง 1.12 เมตร น้ำหนัก 208 กก. คาดว่าอายุไม่ต่ำกว่า 100 ปี ตรวจสอบตามลำตัวไม่พบหลักฐานการทำเครื่องหมาย หรือฝังชิปใดๆ

สำหรับสาเหตุที่มันขึ้นมาชายฝั่ง คงเพราะออกหาอาหารเพลินกระทั่งเกิดหลงทาง ทั้งนี้เจ้าหน้าที่ศูนย์พัฒนาประมงพื้นที่ โครงการพัฒนาลุ่มน้ำปากพนัง อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จะนำไปพักฟื้นที่ศูนย์ฯ เมื่อแข็งแรงดีจึงปล่อยคืนสู่ธรรมชาติในท้องทะเลลึกต่อไป...
 

“ตนุ” (Green Turtle) เป็นเต่าทะเลขนาดค่อนข้างใหญ่ น้ำหนักมาก อาศัยอยู่ทั่วไปในแถบร้อนและเขตอบอุ่น ทั่วโลกมี 8 ชนิด

คือ เต่ากระ เต่าตนุ เต่าตนุหลังแบน เต่าหัวค้อน เต่าดำ เต่าหญ้า เต่าหญ้าแอตแลนติก และ เต่ามะเฟือง ลักษณะของเต่าตนุ หัว ป้อมสั้น มีรอยแตกคล้ายเกล็ดส่วนหลังแต่เล็กกว่าสีน้ำตาล สลับขาวเรียงต่อเป็นระเบียบ ปากสั้น ไม่เป็นจะงอย ลำคอ มีหนังสีขาว ด้านบนหนัง สีดำ
กระดองหลัง โค้งเล็กน้อยมี 13 เกล็ด บริเวณกลางหลังเป็นแนวนูนเกือบสัน รอบนอกกระดองมีเกล็ดเล็กๆต่อกันโดยรอบ 24 เกล็ด หากมองให้ละเอียด จะพบว่าแต่ละเกล็ดสีน้ำตาลแดงหรือน้ำตาลอมเขียว ขอบสีอ่อนเป็นรอยด่าง มีลายเส้นกระจายออกจากจุดสีแดงปนน้ำตาล คล้ายแสงของพระอาทิตย์ลอดออกจากเมฆ หลายคนจึงเรียกมันว่า “เต่าแสงอาทิตย์”


แต่...ชาวยุโรปบอกว่าคือ “เต่าเขียว” ด้วยเพราะกระดองหลังสีเหลืองปนเขียว และน้ำมันที่ได้จากไขมันก็มีสีเขียวด้วยเช่นกัน
 
ส่วนท้อง แบนราบมีเกล็ดขนาดใหญ่ เชื่อมต่อกัน ข้างละ 7 เกล็ด ขา ทั้ง 4 แบนเหมือนใบพาย ขาคู่หลังขนาดเล็กกว่าคู่หน้า ซึ่งมีเล็บแหลมข้างละชิ้น
ดังนั้นจึงดำและว่ายน้ำได้เร็ว 35 ไมล์/ชม. สำหรับอาณาบริเวณ ที่พวกมันชอบอยู่อาศัยคือ แนวปะการัง บริเวณชายเกาะที่ห่างไกลสิ่งรบกวน ออกหากินหลังตะวันตกดิน อาหารเป็นพวก ปลา หญ้าทะเล และ หวีวุ้น แมงกะพรุน คือ เมนูโปรด


โตเต็มที่ เมื่ออายุ 4-7 ปี เริ่มจับคู่ จากนั้นใน เดือนมิถุนา...จนถึงกันยายน จะคลานขึ้นมาวางไข่บนหาดทรายที่เงียบสงบ จำนวน 70-150 ฟอง

และ ทิ้งให้ ไข่ฟักตัวออกมาเอง โดย อาศัยความร้อนจากทราย ส่วน ตัวแม่จะกลับลงทะเล
ปัจจุบัน ประชากรเต่าตนุ เริ่มเข้าสู่ ภาวะเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ สาเหตุเพราะสภาพแวดล้อมที่เสื่อมโทรม หมูป่า ตะกวด ปูลม ที่ชอบขุดคุ้ยไข่กิน
 

และ...ร้ายสุดก็ “มนุษย์” ที่ชอบสั่งเมนู “ไข่ (เต่า) จาระเม็ด” เพื่อแสดงให้คนรอบข้างรับรู้ฐานะอันหรูเลิศ กับคนอีกกลุ่มซึ่งมีความเชื่อแบบหลงทางว่า เนื้อเต่าเป็นยาอายุวัฒนะ กินแล้ว “ปึ๋งปั๋ง” โดยไม่สนใจว่ามันจะสูญพันธุ์!!!


เครดิต :
ขอขอบคุณเนื้อหาข่าว คุณภาพดี โดยหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์