ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้แถลงข่าวเรื่อง 'รับน้องโหด ทำไมยังอยู่กับสังคมไทย'
และเปิดเผยผลการสำรวจความคิดเห็น นิสิตนักศึกษา 15 สถาบันในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ชั้นปีที่ 1 จำนวน 1,158 คน ชั้นปีที่ 2-4 จำนวน 1,288 คน เรื่อง 'การรับน้องใหม่ปี 2551: กรณีศึกษานิสิต นักศึกษาระดับอุดมศึกษาในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล' พบว่า ร้อยละ 74.7 เคยเข้าร่วมกิจกรรมรับน้อง เพราะเป็นกิจกรรมบังคับ เป็นประเพณี อยากรู้จักเพื่อนใหม่ ขณะที่ร้อยละ 25.3 ไม่เคยร่วม เพราะยังไม่ถึงกำหนด ไม่ชอบ ไม่มีเวลา ผู้ปกครองไม่อนุญาต ทั้งนี้ ร้อยละ 54.8 นึกถึงกิจกรรมสนุกสนาน สมานฉันท์ สามัคคี ระหว่างรุ่นพี่และรุ่นน้อง ร้อยละ 12.1 นึกถึงการรู้จักเพื่อนและพี่ใหม่ ร้อยละ 10 นึกถึงการทำความรู้จักรุ่นพี่รุ่นน้อง ร้อยละ 9 นึกถึงความรุนแรง/อันตรายจากรับน้อง และร้อยละ 5.5 นึกถึงการโดนว้าก
ผลสำรวจระบุว่า กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 60 เห็นว่า การรับน้องใหม่ต้องมีเกมตื่นเต้นเชิงชู้สาว
รองลงไปเห็นด้วยกับการดุด่าด้วยถ้อยคำมึงกูไอ้อี เป็นเรื่องธรรมดา การแสดงสีหน้าไม่พอใจ ดุดัน เป็นเรื่องจำเป็นต้องมี ขณะที่บางส่วนเกินร้อยละ 30 เห็นว่าผู้ชายต้องถูกถอดเสื้อ ผู้หญิงต้องแสดงท่ายั่วยวน มีการฝึกความอดทนด้วยการชกต่อยตบตี และกิจกรรมเสี่ยงอันตรายบางอย่างก็มีความจำเป็น
เมื่อถามถึงการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในกิจกรรมรับน้อง ส่วนใหญ่ปี 1 ร้อยละ 80.5 และปี 2-4 ร้อยละ 63.9 ไม่พบว่า มีรุ่นพี่ดื่มก่อนมารับน้อง
ส่วนที่เหลือพบว่ามี และมีประมาณร้อยละ 40 เคยเห็นการดื่มเหล้าในการซ้อมเชียร์และแข่งกีฬา สำหรับคณะที่พบการดื่มแอลกอฮอล์มากที่สุด คือ คณะวิศวกรรมศาสตร์ ถึงประมาณร้อยละ 50 รองลงไปคือ คณะบริหารธุรกิจ นิเทศศาสตร์ ศิลปศาสตร์ วิทยาศาสตร์ อย่างไรก็ตาม แม้ร้อยละ 83.5 เห็นว่าการดื่มเหล้าเป็นเรื่องธรรมดา แต่ร้อยละ 96 เห็นด้วยกับโครงการรับน้องปลอดเหล้า
นพ.บัณฑิต ศรไพศาล ผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ กล่าวว่า ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในการรับน้องใหม่ มักเป็นเพราะขาดการยั้งคิดของวัยรุ่น
โดยเฉพาะที่มีต้นเหตุมาจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งทำให้มึนเมาสามารถกระทำสิ่งที่ผิดได้โดยไม่รู้สึกผิด ทั้งนี้ สังคมควรต้องร่วมมือกันป้องกันไม่ให้วัยรุ่นเข้ามาดื่มเหล้าเพิ่มขึ้น สาเหตุหลักมาจากครอบครัวที่ดื่มเหล้าเป็นตัวอย่าง รองลงไปคือโฆษณา โดยเฉพาะโฆษณาแฝงกับข้อความให้ดื่มอย่างรับผิดชอบ ทั้งที่ความจริงคือทำให้วัยรุ่นรู้จักเครื่องดื่มนั้น และการสร้างทัศนคติให้ดื่มแต่พอดีนั้นเป็นเพียงทฤษฎีเท่านั้น ในความเป็นจริงเมื่อดื่มแล้วจะไม่สามารถยั้งคิดได้ ดังนั้น ถ้ามหาวิทยาลัยยังปล่อยธุรกิจสุราเข้าสถาบัน จะนำมาซึ่งความรุนแรงมากขึ้น อนาคตจะมีการตีกันทะเลาะกัน การทำอนาจารกันมากขึ้นในสถาบันการศึกษา และอาชญากรรมในสังคม รวมทั้งปัญหาโรคเอดส์ในกลุ่มวัยรุ่น