อลังการขบวนเรือพระราชพิธี
การจัดขบวนเรือพระราชพิธีฉลองสิริราชสมบัติ ครบ 60 ปี ถือเป็นอีกหนึ่งไฮไลต์ ที่ประชาชนชาวไทยเฝ้ารอคอย เนื่องจากเป็นพระราชพิธีโบราณหาชมยาก การแสดงจริงจะมีขึ้นวันที่ 12 มิ.ย.นี้ เส้นทางระหว่างท่าวาสุกรี-สะพานพุทธยอดฟ้าฯ โดยออกเคลื่อนขบวนจากท่าวาสุกรี เวลา 16.30 น. จากนั้นไปหยุดพักบริเวณหน้าราชนาวิกสภา ในเวลา 17.30 น. เพื่อให้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พร้อมพระราชอาคันตุกะจาก 25 ประเทศ ได้ทอดพระเนตรความสวยงาม ก่อนจะเคลื่อนขบวนไปสิ้นสุดที่บริเวณสะพานพุทธยอดฟ้าฯ ในเวลา 19.30 น. โดยเลื่อนเวลาเร็วขึ้นกว่าเดิมและยกเลิกการแสดงแสงสีเสียงสื่อผสม เพราะกองทัพเรือต้องการอวดความงดงามและยิ่งใหญ่ของขบวนเรือก่อนอาทิตย์อัสดง
ก่อนถึงวันจริง จะมีการซ้อมใหญ่ในวันที่ 2, 6 และ 9 มิ.ย. แต่งกายเหมือนจริง และเคลื่อนขบวนตามเวลาจริง โดยประชาชนทั่วไปสามารถรอชมได้ที่บริเวณท่าเรือ, สถานที่สาธารณะ และร้านอาหาร ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ตั้งแต่ท่าวาสุกรี ถึงวัดอรุณฯ สำหรับแขกวีไอพี ทางการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยได้จัดสถานที่ชมการซ้อม ใหญ่ไว้ 2 จุดคือ บนเรือริเวอร์ไซด์ จอดหน้าหอประชุมกองทัพเรือ เห็นภาพขบวนเรือในมุมสูง บัตรราคา 3 พันบาท มีบริการอาหารว่างและเครื่องดื่ม ส่วนอีกจุดคือสนามหญ้าริมน้ำ ธนาคารแห่งประเทศไทย บัตรราคา 1 พันบาท เสิร์ฟอาหารว่างและเครื่องดื่มเช่นกัน
ขบวนเรือพระราชพิธีประกอบด้วยเรือพระราชพิธี 52 ลำ เป็นเรือพระที่นั่ง 4 ลำคือ เรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ สร้างขึ้นในสมัย ร.5 แล้วเสร็จสมัย ร.6 ลงรักปิดทองประดับกระจก พื้นเรือสีดำ น้ำหนัก 15.6 ตัน ใช้ฝีพาย 50 นาย นายท้าย 2 นาย และนายเรือ 2 นาย พายที่ใช้เป็นพายทอง พลพายจะพายในท่านกบิน, เรือพระที่นั่งอนันตนาคราช สร้างขึ้นในสมัย ร.3 และในสมัย ร.4 โปรดใช้เรือนี้เป็นเรือพระที่นั่งลำทรง หัวเรือเป็นรูปนาค 7 เศียร ขนาดยาว 42.95 เมตร กว้าง 2.95 เมตร ใช้ฝีพาย 54 นาย นายท้าย 2 นาย นายเรือ 2 นาย คนถือธงท้าย 1 นาย พลสัญญาณ 1 นาย และคนเห่ 1 นาย, เรือพระที่นั่งอเนกชาติภุชงค์ สร้างขึ้นในสมัยร.5 เป็นเรือพระที่นั่งศรีหัวเรือจำหลักปิดทอง เป็นรูปพญานาคเล็กๆ น้ำหนัก 7.7 ตัน มีฝีพาย 61 นาย นายเรือ 2 นาย และนายท้าย 2 นาย ใช้พายทองพายท่านกบิน ส่วนอีกหนึ่งลำคือ เรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณ รัชกาลที่ 9 เป็นเรือพระที่นั่งลำแรกที่สร้างขึ้นในรัชกาลปัจจุบัน เพื่อเฉลิมพระเกียรติ เนื่องในวโรกาสปี กาญจนาภิเษก มีน้ำหนัก 20 ตัน ใช้ฝีพาย 50 นาย และนายท้าย 2 นาย.