รายงานข่าวจากวงการอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย เปิดเผยว่า
ผู้ผลิตเอทานอลที่ใช้โมลาส หรือกากน้ำตาลเป็นวัตถุดิบได้รับความเดือดร้อนอย่างหนัก เนื่องจากราคาโมลาสปรับเพิ่มจาก 60-70 เหรียญสหรัฐต่อตันในช่วงต้นปี 51 เป็น 100 เหรียญ หรือเพิ่มขึ้น 30-40% และยังมีแนวโน้มที่สูงขึ้นตามราคาน้ำมัน เพราะความต้องการของผู้บริโภคเพิ่มขึ้นในภาวะที่ราคาน้ำมันแพง ซึ่งเสี่ยงต่อการผลิตที่ไม่คุ้มทุนได้ในช่วงไตรมาส 3 นี้ เนื่องจากราคาจำหน่ายเอทานอลอยู่ที่ 17 บาทต่อลิตรเท่านั้น ทั้งที่ความเป็นจริงราคาน่าจะสูงกว่านี้ เบื้องต้นผู้ประกอบการบางรายอาจพิจารณาหยุดการผลิตชั่วคราวเพื่อเลี่ยงการขาดทุน
“ราคาโมลาสช่วงที่ผ่านมาเป็นสต๊อกเก่าที่เมื่อคิดราคา 17 บาทต่อลิตรก็ยังพอทนรับภาระขาดทุนเล็กน้อย แต่ล่าสุดขึ้นไปมาก ทำให้ผู้ผลิตแสดงความกังวลกันว่าจะมีผลให้หยุดผลิตกันหรือไม่ เหมือนกรณีโรงงานไทยง้วนเอทานอลที่ใช้มันสำปะหลังเป็นวัตถุดิบปรากฏว่ามันสำปะหลังไปอยู่ที่ กก.ละ 2.50 บาท ทำให้ไม่คุ้มจนต้องปิดไปชั่วคราวและเพิ่งกลับมาเดินเครื่องใหม่เมื่อไม่นานนี้เอง”
เอทานอลปิดโรงงานหนีขาดทุน
ทั้งนี้ในปัจจุบันมีโรงงานเอทานอลที่เปิดดำเนินการแล้ว 11 แห่ง
กำลังการผลิตประมาณ 1.5 ล้านลิตรต่อวัน ขณะที่ความต้องการมีเพียง 6-7 แสนลิตรต่อวัน ทำให้มีการผลิตจริงไม่เต็มการผลิต ต้องหยุดเครื่องและเดินเครื่องสลับกันไป มีเพียงกลุ่มไทยเอกลักษณ์ที่ผลิตเพื่อส่งออกรายเดียว เพราะมีตลาดรองรับตั้งแต่การขออนุญาตเริ่มต้นอยู่แล้ว ส่วนพรวิไล อินเตอร์เนชั่น แนลก็หันไปผลิตกรดอะซิติกแทนทั้งหมด
รายงานข่าว จากกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า
นาย สุวิทย์ คุณกิตติ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว. อุตสาหกรรม เตรียมเสนอของบประมาณจากที่ ประชุม ครม. 700 ล้านบาท ในการพัฒนาอ้อย ตามแผนวาระอ้อยแห่งชาติระยะเวลา 3 ปี (52-54) เพื่อเพิ่มผลผลิตและลดต้นทุนของชาวไร่อ้อย เนื่องจากการปลูกอ้อยของไทยมีปัญหาผลผลิตต่อไร่ต่ำ โดยได้ผลผลิตอ้อยเพียงไร่ละ 9-10 ตัน ค่าความหวานเฉลี่ยอยู่ที่ 11-12 ซี.ซี.เอส. น้อยกว่าผู้ผลิตน้ำตาลรายใหญ่ของโลก เช่น บราซิล ออสเตรเลีย ที่มีผลผลิตไร่ละ 13-15 ตัน และมีค่าความหวานอยู่ที่ 13-15 ซี.ซี.เอส. เพราะว่าไทยยังขาดการวิจัยพัฒนาพันธุ์ รวมถึงวิธีการบริหารจัดการ และขาดเทคโนโลยีสมัยใหม่
ขณะเดียวกันเตรียมจะเสนอ ครม. หาแหล่งเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำให้ชาวไร่อ้อยปีละ 500 ล้านบาท โดยรัฐบาลอุดหนุนดอกเบี้ยเพื่อจัดทำโครงการพัฒนาเครื่องจักรการเพาะปลูก เพื่อให้ชาวไร่อ้อยใช้เครื่องจักรมากขึ้น
“การนำอ้อยและผลพลอยได้มาใช้ให้เกิดประโยชน์คุ้มค่า เช่น การผลิตเอทานอลเป็นพลังงานทดแทนนั้น แผนปฏิบัติการจะครอบคลุมการพัฒนาพันธุ์อ้อย บริหารจัดการน้ำ บริหารดินและปุ๋ย การพัฒนาเครื่องจักรกลการเกษตร พัฒนาโลจิสติกส์ การพัฒนาองค์ความรู้ด้านอ้อย การส่งเสริมพลังงานทดแทน รวมถึงสร้างมูลค่าเพิ่ม และการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำ ตาลทรายทั้งระบบ”.