ย่างเข้าสู่สัปดาห์ที่สองสำหรับภัยพิบัติ ธรรมชาติ พายุไซ โคลนนาร์กีส ที่พัดถล่มบริเวณสามเหลี่ยมปากแม่น้ำอิรวดี และกรุงย่างกุ้ง ประเทศพม่า ซึ่งฤทธิ์แรงลมพายุครั้งนี้เรียกได้ว่าไม่ใช่ภัยธรรมชาติธรรมดา
หากแต่เป็นมหาภัย ด้วยเพราะว่าสร้างความเสียหายมหาศาลให้กับชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน
ยิ่งในจำนวนผู้เสียชีวิตนั้นได้มีการคาดการณ์ว่าน่าจะขยับสู่หลักแสน อีกทั้งยังมีผู้สูญหายไร้ที่อยู่อาศัยผู้ประสบภัยอีกนับล้านคนที่รอคอยความช่วยเหลือ ในความเสียหายอันเนื่องจากพิบัติภัยที่เกิดขึ้นไม่เพียงสร้างความเศร้าสูญเสีย อีกด้านหนึ่งยังก่อเกิดความตื่นตัวในเรื่องพิษภัยลมพายุที่นับวันจะถี่และมีความรุนแรงเพิ่มขึ้นโดยสาเหตุหนึ่งที่มีการวิเคราะห์อาจมาจากภาวะโลกร้อนซึ่งส่งผลให้อุณหภูมิในทะเลสูงขึ้นและจากที่ตั้งของประเทศไทยซึ่งตั้งอยู่ สองฝั่งมหาสมุทรทั้งมหาสมุทรแปซิฟิกและมหาสมุทรอินเดียจึงมีโอกาสเสี่ยงที่จะเจอกับฤทธิ์พายุทั้ง ไต้ฝุ่นและไซโคลน
การติดตามข่าวพยากรณ์อากาศและประกาศแจ้งเตือนภัยของกรมอุตุนิยมวิทยาจึงเป็นสิ่งสำคัญไม่ควรละเลย
ยิ่งช่วงเวลานี้ที่สภาพอากาศแปรปรวน เปลี่ยนฤดูจากฤดูร้อนเข้าสู่ฤดูฝน หลายพื้นที่มีฝนฟ้าคะนอง ฝนตกหนัก ลมกระโชกแรง อาจเกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลากได้ในพื้นที่เสี่ยงภัย ประชาชนที่อาศัยในพื้นที่เสี่ยงภัยของจังหวัดต่าง ๆ ที่กรมอุตุนิยมวิทยาแจ้งเตือนภัยควรเพิ่มความระมัดระวังและเตรียมการป้องกันภัยธรรมชาติ
แม้ไซโคลนนาร์กีสที่พัดถล่มพม่าจะผ่านพ้นไป แต่ในช่วงเวลานี้ตามที่มีข่าวความเคลื่อนไหวการพยากรณ์อากาศ
กรมอุตุนิยมวิทยาแจ้งให้เตรียมพร้อมรับมือกับร่องความกดอากาศต่ำที่อาจพัดผ่านตอนกลางของประเทศ ซึ่ง จากอิทธิพล ดังกล่าวอาจทำให้หลายพื้นที่มีฝนฟ้าคะนอง ฝนตกหนักและลมกระโชกแรง นอกจากนี้มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามันภาคใต้และอ่าวไทยอาจมีกำลังแรงขึ้น โดยเฉพาะบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นลมจะสูง ประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัยโดยเฉพาะตะวันตกของประเทศบริเวณ จ.แม่ฮ่องสอน ตาก กาญจนบุรี อุทัยธานี ระนอง พังงาและภูเก็ตควรเพิ่มความระมัดระวัง รวมทั้งชาวเรือในอ่าวไทย และอันดามันควรระวังอันตรายการเดินเรือระยะดังกล่าว
จับตาพายุถล่มไทย!?! เฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงภัย
ขณะที่มีการคาดการณ์ ถึงความรุนแรงของภัยธรรมชาติเพิ่มมากขึ้น จรูญ เลาหเลิศชัย นักอุตุนิยมวิทยา กรมอุตุนิยมวิทยา ให้ความรู้เกี่ยวกับภัยธรรม ชาติว่า
ภัยธรรมชาติที่เกิดขึ้น กับหลายประเทศทั่วโลกนั้นมีหลายประเภทได้แก่ ภัยแล้ง วาตภัย คลื่นพายุซัดฝั่ง พายุฝนฟ้าคะนอง แผ่นดินถล่ม แผ่นดินไหว คลื่นขนาดใหญ่ในทะเล ไฟป่า ภูเขาไฟระเบิด คลื่นความร้อนและพายุหิมะ แต่ภัยธรรม ชาติที่มีโอกาสเกิดสูงสุดคือ ภัยน้ำท่วมและวาตภัย (พายุ ลมแรง) จากสภาพธรรมชาติสิ่ง แวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไปมาก และสภาวะโลกร้อน ส่งผลต่ออุณหภูมิน้ำทะเลสูงขึ้น มีโอกาสเกิดพายุสูงขึ้น และมีระดับความรุนแรงเพิ่มมากขึ้นกว่าที่ผ่านมา การเรียกชื่อของพายุจะมีชื่อแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับแหล่งที่เกิดของพายุ อาทิ ถ้าเกิดในอ่าวเบงกอล ทะเลอันดามัน และมหาสมุทรอินเดียเรียก ไซโคลน เกิดในมหาสมุทรแปซิฟิก เรียก ไต้ฝุ่น ในมหาสมุทรแอตแลนติก เรียก เฮอริเคน แถบนิวซี แลนด์ ออสเตรเลีย เรียก วิลลี วิลลี เป็นต้น
“พายุหมุนเขตร้อนเป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติที่สามารถสร้างความเสียหายที่รุนแรง ฉับพลันและเป็นบริเวณกว้างได้ พายุชนิดนี้ก่อตัวจากหย่อมความกดอากาศต่ำที่อยู่เหนือบริเวณ ผิวหน้าน้ำทะเล และมหาสมุทรซึ่งเมื่อหย่อมความกดอากาศต่ำอยู่ในสภาวะที่เอื้ออำนวยต่อการพัฒนาก็จะพัฒนาแรงขึ้นเป็น พายุโดยบริเวณนั้นจะมีฝนตกอย่างรุนแรง มีคลื่นลมแรงและมีปริมาณฝนมากกว่าปกติ”
สำหรับระดับความรุนแรงของพายุหมุนเขตร้อนได้มีการจัดแบ่งตามความรุนแรงลมใกล้จุดศูนย์กลาง
พายุดีเปรสชัน จะมีความเร็วลมใกล้ศูนย์กลางไม่เกิน 63 กิโลเมตรต่อชั่วโมง พายุโซนร้อน ความเร็วลมใกล้ศูนย์กลาง 63-117 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ส่วน ไต้ฝุ่นและเฮอริเคน ความ เร็วลมใกล้ศูนย์กลางตั้งแต่ 118 กิโลเมตรต่อชั่วโมงขึ้นไป
“ฤดูกาลของพายุหมุนเขตร้อนในประเทศไทยแบ่งออกเป็น 3 ช่วง ช่วงต้นฤดูฝนโดยจะมีขึ้นปลายเดือนเมษายน-พฤษภาคม ส่วนมากมักก่อตัว ในอ่าวเบงกอล ทะเลอันดามันและมหาสมุทรอินเดีย ช่วงกลางฤดูฝนและปลายฤดูฝนในเดือนมิถุนายน-กลางตุลาคมโดยมากมักก่อตัวในมหาสมุทรแปซิฟิก พายุนี้จะเคลื่อนเข้าขึ้นปะทะฝั่งประเทศเวียดนาม ทำให้ลดความรุนแรงก่อนจะเข้าถึงประเทศไทยและช่วงต้นฤดูหนาว กลางเดือนตุลาคมถึงธันวาคม พายุมักเคลื่อนเข้าสู่อ่าวไทยและเคลื่อนเข้าปะทะทางภาคใต้ของประเทศไทย อย่างเช่นพายุไต้ฝุ่นเกย์ ที่เคลื่อนขึ้นฝั่งที่จังหวัดชุมพร ทำให้เกิดความเสียหาย”
จากสถิติพายุหมุนเขตร้อนเคลื่อนเข้าสู่ประเทศไทยเฉลี่ยประมาณ 2-4 ลูกต่อปี
ส่วนฤทธิ์แรงลมพายุที่สร้างความเสียหายเคลื่อนเข้าสู่ประเทศไทยที่ผ่านมามี พายุโซนร้อนแฮเรียต ที่แหลมตะลุมพุก อ.ปากพนัง จ.นครศรีธรรมราช ปี พ.ศ. 2505 พายุโซนร้อนเกย์ จ.ชุมพร ปี พ.ศ. 2532 และพายุโซนร้อน ลินดา ปี พ.ศ. 2540 ขณะที่เกิดพายุฝนฟ้าคะนองฝนตกต่อเนื่อง อีกสิ่งที่ต้องเฝ้าระวังและประมาทไม่ได้คือ การพังถล่มของดิน ดร. อดิชาติ สุรินทร์คำ ผู้อำนวยการกองธรณีวิทยาสิ่งแวดล้อมกรมทรัพยากรธรณี ให้ความรู้ ว่า ปัจจัยการเกิดดินถล่มมีด้วยกันหลายสาเหตุ เกี่ยวเนื่องทั้งปริมาณน้ำฝน การอุ้มน้ำของดินแต่ละชนิด โดยเฉพาะดินที่ไม่มีรากไม้ยึดเหนี่ยวมีโอกาสที่ดินจะถล่มลงและจากการสำรวจ พื้นที่ที่มีความเสี่ยงต่อภาวะ ดินถล่มของกรมทรัพยากรธรณีที่ผ่านมามีพื้นที่เสี่ยงภัย 51 จังหวัด โดยเฉพาะหมู่บ้านที่อยู่บริเวณที่ลาดเชิงเขาและที่ลุ่มใกล้ภูเขา
“พื้นที่เสี่ยงภัยพิจารณาจากสภาพธรณีวิทยา ภูมิประเทศ พื้นที่มีความอันตรายซึ่งสภาพธรณีวิทยาจะเป็นตัวกำหนดว่าสภาพดินเป็นอย่างไร สภาพภูมิประเทศสูงชันแค่ไหน การเรียงตัวของชั้นหิน การผุพังทำลายของชั้นหินบางประเภท ก็มีผล อย่างภูมิประเทศเป็นภูเขาและหน้าผามีความลาดชันกว่า 30 องศา พื้นที่ต้นน้ำลำธาร ป่าไม้ถูกทำลาย ฝนตกหนักตลอดทั้งวัน ทั้งคืนมากกว่า 100 มิลลิ เมตรต่อวัน การตัดไหล่เขาสร้างบ้านทำถนน ฯลฯ เหล่านี้เป็นปัจจัยการเกิดดินถล่มทั้งสิ้น”
จากการสำรวจพื้นที่ที่ มีความเสี่ยงที่ผ่านมาพบหลายพื้นที่ทั้งที่เป็นพื้นที่รับน้ำ มีความสูงชันของภูเขาชนิดดินเป็นดิน ที่ผุพังง่าย ฯลฯ
ที่ผ่านมาไม่เพียงการประกาศเตือนเฝ้าระวังภัย แต่ได้มีการสร้างเครือข่าย เฝ้าระวังแจ้งเหตุธรณีพิบัติเตือนภัยดินถล่มโดยเกิดขึ้นแล้วใน 22 จังหวัด ได้แก่ แม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ พะเยา น่าน แพร่ ลำปาง อุตรดิตถ์ สุโขทัย ตาก เพชรบูรณ์ จันทบุรี พังงา สุราษฎร์ธานี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร กระบี่ นครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลาและสตูล อีกทั้งในปีนี้ได้ขยายการดำเนินการไปยังจังหวัดเลย ลำพูน ราชบุรี เพชรบุรี ฯลฯ เพื่อป้องกันเฝ้า ระวังการเกิดดินถล่มอีกพิบัติภัย ที่นำมาซึ่งความสูญเสีย
จากสภาพอากาศที่มีความเปลี่ยนแปลงและก่อนฤทธิ์แรงลมพายุไม่ว่าจะเป็นลูกใดจะพัดมาเยี่ยมเยือน การ เตรียมพร้อมเฝ้าระวังที่ดีไม่เพียงช่วยลดความเสียหาย แต่ยังมีความหมายต่อความปลอดภัยห่างไกลจากพิษภัยพายุอีกด้วย.