นายชาญชัย รักษ์ธนานนท์ อุปนายกสมาคมโรงสีข้าวไทย กล่าวว่า
รัฐบาลควรประกาศรับจำนำข้าวนาปรังในราคาตันละ 15,000 บาท โดยทำควบคู่ไปกับการทำข้าวถุงธงฟ้ามหาชน เพราะจะทำให้ราคาข้าวในตลาดไม่ลดลง เนื่องจากวัตถุประสงค์ของรัฐบาลในการทำข้าวถุง คือ ต้องการให้ข้าวสารราคาถูกจากราคาตลาด 20% แต่ราคาข้าวเปลือกยังราคาสูงอยู่ ดังนั้นจึงต้องมีนโยบายที่เกี่ยวกับข้าวเปลือกมาถ่วงดุลไว้ไม่ให้ราคาตกต่ำตามข้าวสาร และเมื่อราคาข้าวเปลือกในตลาดไม่ตกจะทำให้ไม่มีข้าวเข้าโครงการรับจำนำ รัฐบาลก็ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย เพียงแต่การรับจำนำจะใช้เป็นเครื่องมือประกันราคาไว้ไม่ให้ข้าวเปลือกของเกษตรกรตกต่ำ
นายประสิทธิ์ บุญเฉย นายกสมาคมชาวนาไทย กล่าวว่า
ราคาข้าวเปลือกที่ตกต่ำในขณะนี้เป็นผลจากความไม่ชัดเจนของคำพูดของนายมิ่งขวัญ แสงสุวรรณ์ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พาณิชย์ ที่ประกาศจะนำข้าวในสต๊อกรัฐบาลมาทำข้าวถุงธงฟ้าในราคาต่ำกว่าท้องตลาด 20% ส่งผลให้ผู้ประกอบการข้าวไม่ว่าจะเป็นผู้ส่งออกและโรงสีต่างชะลอการซื้อข้าวเพื่อรอให้ข้าวราคาถูกออกมา ซึ่งจะกดราคาข้าวในตลาดให้ลดลงแล้วจึงไปซื้อตอนที่ราคาข้าวลดลง
ด้านนายธงทอง จันทรางศุ รองปลัดกระทรวงยุติธรรม ในฐานะประธานอนุกรรมการบริหารข้าวสารบรรจุถุง เปิดเผยว่า
ในวันที่ 12 พ.ค.นี้ จะมีการนำข้าวขาว 5% บรรจุถุงละ 5 กิโลกรัม ราคา 120 บาท ในนามข้าวถุงธงฟ้ามหาชน จำนวน 100,000 ถุง ออกจำหน่ายให้กับประชาชน โดยมีจำหน่ายใน 9 จังหวัด คือ เชียงใหม่ พิษณุโลก อุดรธานี นครราชสีมา สุราษฎร์ธานี สงขลา ลพบุรี ราชบุรี สมุทรปราการ จังหวัดละ 3,000 ถุง และจำหน่ายในกรุงเทพฯ 73,000 ถุง มีจำหน่ายที่กระทรวงพาณิชย์ คลังสินค้าราษฎร์บูรณะขององค์การคลังสินค้า (อคส.) กรมส่งเสริมการส่งออก และองค์การตลาดเพื่อเกษตรกร (อ.ต.ก.) “เบื้องต้น ข้าวถุงธงฟ้ามหาชนคงจะไม่เพียงพอต่อความต้องการ แต่กำลังจะเพิ่มการผลิตอีก 200,000 ถุง และคาดว่าในเดือน มิ.ย.น่าจะผลิตออกมาตอบสนองความต้องการของประชาชนได้”
ทั้งนี้ สำหรับราคาข้าวที่กำหนดไว้ถุงละ 120 บาทนั้น เป็นราคาที่ไม่ได้ทำให้กลไกการขายข้าวถุงของภาคเอกชนบิดเบือนมากนัก
โดยราคาข้าวขาว 5% ขณะนี้เฉลี่ยอยู่ที่ถุงละ 150-160 บาท ส่วนต้นทุนข้าวที่นำมาบรรจุถุงนั้น มีต้นทุนรวมอยู่ที่ถุงละ 83.34 บาท ซึ่งกำไรที่ได้จากการขายข้าวถุงในครั้งนี้ ไม่ได้นำเข้ามาเป็นประโยชน์กับทางราชการ แต่จะนำเงินที่ได้ไปซื้อข้าวจากเกษตรกรกลับคืนเข้ามาเก็บไว้ในสต๊อก ส่วนนายวิรุฬ เตชะไพบูลย์ รมช.พาณิชย์ เปิดเผยภายหลังการพบบริษัท คอร์ปอเรทีฟ โอเรียนทอล โฮลดิ้ง ยุโรป ผู้นำเข้าสินค้าอาหารจากไทยรายใหญ่ในประเทศเนเธอร์แลนด์ เมื่อวันที่ 6 พ.ค.ที่ผ่านมาว่า แม้ราคาข้าวไทยจะสูงขึ้นมาก แต่ผู้นำเข้าของเนเธอร์แลนด์ยังจะนำเข้าข้าวจากไทยอย่างต่อเนื่อง เพราะความต้องการของผู้บริโภคยังมีอยู่มาก ขณะที่นางลิซา พูน กรรมการผู้จัดการ บริษัท คอร์ปอเรทีฟ โอเรียนทอล โฮลดิ้ง ยุโรป กล่าวว่า กังวลกับแนวโน้มที่อาจจะเกิดความขาดแคลนข้าวไทยในเร็วๆนี้ จึงต้องการให้ผู้ส่งออกไทยส่งออกอย่างต่อเนื่อง “ตอนนี้ราคาข้าวหอมมะลิบรรจุถุง (20 กิโลกรัม) อยู่ที่ถุงละ 30 ยูโร (ประมาณ 1,500 บาท) แต่ผู้บริโภคก็ไม่บ่น มีแต่ซื้อเพิ่ม เพราะกังวลว่าจะไม่มีของให้ซื้อ”.